ความในใจพนักงานสอบสวน กับกระแสปฏิรูปตำรวจ

ช่วงนี้เป็นช่วงกระแสการปฏิรูปตำรวจกำลังมาแรง ผมขออนุญาตมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปตำรวจด้วยคนนะครับ  ในฐานะที่เป็นตำรวจ เพราะที่ผ่านมามีผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในการปฏิรูปตำรวจกันมากมาย  ส่วนมากคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นจะไม่ได้เป็นตำรวจ  ส่วนมากจะอยู่ตรงข้ามกับตำรวจ   บางคนก็อาจจะเป็นโจร  ญาติพี่น้องของโจร   ผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือโจร   และผู้หาผลประโยชน์จากโจร
     แต่ก็มีบางท่านมีความปรารถนาดีต่อตำรวจด้วยความจริงใจ อยากเห็นตำรวจมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ก็ต้องขอบคุณท่านเหล่านี้ด้วยนะครับ   แต่ถึงอย่างไรก็ตามท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้รู้ปัญหาที่แท้จริงๆ เพราะท่านไม่ได้เป็นตำรวจ     
     สำหรับผมเป็นตำรวจในตำแหน่งพนักงานสอบสวน ในสถานีตำรวจแห่งหนึ่ง  ผมขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานสอบสวนและเฉพาะเรื่องงบประมาณในการทำงานเกี่ยวกับงานสอบสวนเท่านั้น  เพื่อแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีคดีเกิดขึ้นแล้ว   ในการสอบสวนคดีดังกล่าว  ต้องมีค่าใช้ค่าจ่ายในการดำเนินการ แต่ละคดี  ประมาณเท่าใด
     ซึ่งงานสอบสวนในสถานีตำรวจที่ผมประจำอยู่นั้นได้รับงบประมาณจากทางราชการในการทำงาน มีเพียงค่าน้ำมันเท่านั้น  เดือนละ  ๗,๐๐๐  บาท   จะคิดคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายคดีที่เกิดขึ้นแล้วมีการลงสถิติเป็นตัวเลขเท่านั้น  โดยประมาณ ๑  เดือน สถานีตำรวจของผม  มีคดีที่เกิดขึ้นประมาณ  ๙๐  คดี เอาเฉพาะคดีที่มีตัวผู้ต้องหาเท่านั้นเอง
     ก็จะแยกให้เห็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นคดีต่างๆ  ดังนี้  
        ๑.คดีที่ฟ้องต่อศาลแขวง  จำนวน   ๒๐   คดี
        ๒.คดียาเสพติด  ๖๐ คดี   แบ่งเป็น   -เสพฟื้นฟู – เสพขับฯ  -ครอบครอง  -ครอบครองเพื่อจำหน่าย
        ๓.คดีเกี่ยวกับทรัพย์  ๓  คดี
        ๔.คดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย  ๒ คดี
        ๕.คดีเกี่ยวกับเพศ  ๑  คดี
        ๖.คดีที่ผู้เสียหาย  พยาน ผู้ต้องหา เป็นเด็กหรือเยาวชน  จำนวน  ๒  คดี
        ๗.คดีจราจร  จำนวน  ๒  คดี

     -สถานีตำรวจที่ผมประจำอยู่ห่างจากศาลฯ  สำนักงานอัยการ  สำนักงานคุมประพฤตฯ  และสำนักงานตรวจพิสูจน์ของกลาง  และอื่นๆ   ประมาณ  ๘๐  กิโลเมตร
     -ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสถานที่เหล่านั้น  เฉพาะค่าน้ำมัน  ครั้งละ  ๕๐๐  บาท  ผมจะแยกให้เห็นว่าแต่ละคดีมีค่าใช้จ่ายเฉพาะในการเดินทาง  คดีละเท่าใด  
        ๑.คดีศาลแขวง ต้องนำตัวผู้ต้องหาไป ศาล  ๑  ครั้ง  จำนวน  ๒๐  คดี    คดีละ  ๕๐๐ บาท  รวม ๑๐,๐๐๐  บาท

        ๒. คดียาเสพติด  ๖๐  คดี  แยกเป็น
-เสพฟื้นฟู  จำนวน  ๓๐  คดี  การดำเนินการ  ๑.ภายใน  ๔๘  ชม.  นำตัวไปศาลฯ  และส่งปัสสาวะไปตรวจ  / ๒.นำสำนวนไปส่งอัยการ   เดินทาง  ๒  ครั้ง  ค่าใช้จ่ายครั้งละ ๕๐๐  บาท   คดีละ  ๑,๐๐๐  บาท   ๓๐  คดี  รวม  ๓๐,๐๐๐  บาท   
          -คดีเสพขับฯ  จำนวน  ๑๐  คดี  การดำเนินการ  ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวไปฝากขังต่อศาลฯ  ครั้งที่  ๑ และส่งปัสสาวะไปตรวจ /  ๒. ภายใน  ๑๒  วันไปฝากขังครั้งที่  ๒ /  ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓  / ๔.ฝากขังครั้งที่  ๔  /   ๕.นำสำนวนไปส่งอัยการ   สรุปคดีเสพขับฯ   เดินทาง  ๕  ครั้ง  ครั้งละ ๕๐๐ บาท   ๑  คดีค่าใช้จ่าย  ๒,๕๐๐ บาท   ๑๐   คดี   รวม ๒๕,๐๐๐  บาท 
          -ครอบครองฯ    ๒๐  คดี    ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังต่อศาลฯ   ครั้งที่ ๑  และส่งของกลางตรวจพิสูจน์ / ๒. ฝากขังครั้งที่ ๒  / ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓ / ๔.ฝากขังครั้งที่  ๔ / ๕.ฝากขังครั้งที่ ๕   /  ๖.นำสำนวนส่งอัยการ   สรุป  คดีครอบครองฯ  เดินทาง  ๕-๖   ครั้ง   ครั้งละ ๕๐๐ บาท   คดีละ ๒,๕๐๐-๓,๐๐๐ บาท   ๒๐ คดี  ๒๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ บาท 

        ๓.คดีเกี่ยวกับทรัพย์   ๓  คดี
          - ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวไปฝากขังต่อศาลฯ  ครั้งที่  ๑ /  ๒.  ภายใน ๑๒  วันไปฝากขังครั้งที่  ๒   / ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓  / ๔.ฝากขังครั้งที่  ๔ /  ๕.นำสำนวนไปส่งอัยการ  สรุป  เดินทาง  ๕  ครั้ง  ครั้งละ ๕๐๐ บาท   ๑  คดีค่าใช้จ่าย  ๒,๕๐๐ บาท   ๓   คดี รวม  ๗,๕๐๐  บาท 

        ๔.คดีเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ๒  คดี
          - ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวไปฝากขังต่อศาลฯ  ครั้งที่ ๑ /  ๒.  ภายใน ๑๒  วันไปฝากขังครั้งที่  ๒   / ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓ /  ๔.ฝากขังครั้งที่  ๔ / ๕.นำสำนวนไปส่งอัยการ  สรุป  เดินทาง  ๕  ครั้ง  ครั้งละ ๕๐๐ บาท   ๑  คดีค่าใช้จ่าย  ๒,๕๐๐ บาท   ๒   คดี รวม  ๕,๐๐๐  บาท 

        ๕.คดีเกี่ยวกับเพศ  ๑  คดี
          - ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวไปฝากขังต่อศาลฯ  ครั้งที่ ๑ / ๒.  ภายใน ๑๒  วันไปฝากขังครั้งที่  ๒   / ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓  / ๔.ฝากขังครั้งที่  ๔ / ๕.นำสำนวนไปส่งอัยการ  สรุป  เดินทาง  ๕  ครั้ง  ครั้งละ ๕๐๐ บาท   ๑  คดีค่าใช้จ่าย  ๒,๕๐๐ บาท   ๑   คดี รวม  ๒,๕๐๐  บาท 

        ๖.คดีที่ผู้เสียหาย  พยาน ผู้ต้องหา เป็นเด็กหรือเยาวชน  ตาม ป.วิ.อ. ๑๓๓ ทวิ   จำนวน  ๒  คดี
          -๑.ภายใน  ๒๔  ชม. นำตัวไปตรวจจับที่ศาลเยาวฯ  ๒.  ภายใน ๓๐ วันไปผัดฟ้องครั้งที่  ๒   ๓.ผัดฟ้องครั้งที่ ๓   ๔.ผัดฟ้องครั้งที่  ๔     ๕.นำผู้เสียหาย  พยานไปสอบปากคำร่วมกับอัยการ  นักจิตฯ ๖.นำผู้ต้องหาไปสอบปากคำร่วมกับอัยการ  นักจิตฯ  ที่ปรึกษากฎหมาย ๗.ส่งสำนวนอัยการ   เดินทาง  ๗  ครั้ง  ครั้งละ  ๕๐๐ บาท  คดีละ  ๓,๕๐๐  บาท  ๒  คดี  รวม ๗,๐๐๐  บาท    และจ่ายให้ที่ปรึกษากฎหมาย  ครั้ง  ๕๐๐  บาท

        ๗.คดีจราจร เฉพาะที่  ฟ้องผู้ต้องหา  จำนวน   ๒  คดี  ไม่รวมคดีที่เกิดขึ้นออกไปตรวจที่เกิดเหตุประมาณ  ๑๐๐  ครั้ง ต่อเดือน   เฉลี่ยรถชนกันวันละ  ๓-๔  ครั้ง
          ๑.ภายใน  ๔๘  ชม. นำตัวไปฝากขังต่อศาลฯ  ครั้งที่๑ / ๒.ภายใน ๑๒  วันไปฝากขังครั้งที่  ๒ / ๓.ฝากขังครั้งที่ ๓ /  ๔.ฝากขังครั้งที่ ๔ / ๕.นำสำนวนไปส่งอัยการ   สรุป  เดินทาง  ๕  ครั้ง  ครั้งละ ๕๐๐ บาท   ๑  คดี ค่าใช้จ่าย  ๒,๕๐๐ บาท   ๒   คดี  รวม  ๒,๕๐๐  บาท 

     รวมค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเฉพาะค่าน้ำมันเดินทางไปศาลฯ อัยการฯ   คุมประพฤติฯ  สำนักงานตรวจพิสูจน์ของกลาง  คิดคำนวณตามคดี  ตกเดือนละประมาณ ๑๑๙,๕๐๐  บาท   รับงบประมาณจากราชการเพืยง    เดือนละ  ๗,๐๐๐  บาท 
     ยังไม่รวมค่ากระดาษ  หมึก  ปากกา ดินสอ แต่ละเดือน โต้ะ เก้าอี้คอมพิวเตอร์ ซื้อเอง 
     เห็นไหมครับนี้เพียงคิดคำนวณเอาจากตัวเลขสถิติคดีจริงๆ เฉพาะจับตัวผู้ต้องหาได้นะครับ   ค่าใช้จ่ายสถานีตำรวจที่ผมประจำอยู่โดยประมาณเท่านี้ครับ   สถานีตำรวจที่ผมอยู่มีพนักงานสอบสวน อยู่   จำนวน   ๖  เทพ  ก็ต้องช่วยแบกรับภาระส่วนนี้เพื่อให้งานเดินไปได้เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับพี่น้องประชาชน  เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุขเรียบร้อย   
     นี้เป็นเพียงเฉพาะงานสอบสวนนะครับ  เพราะงานสอบสวนเรามีหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา  เพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน  ไม่ว่าประชาชน จะอยู่ในฐานผู้เสียหาย พยาน ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็ตาม  ในการรวบรวมพยานหลักฐาน   เราไม่ได้นั่งอยู่ที่เก้าอี้ที่สถานีตำรวจเพียงอย่างเดียวเหมือนกับหน่วยงานอื่นที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราต้องออกไปแสวงหาและ รวบรวมพยานหลักฐานให้เพียงพอ   ก็อยากให้พี่น้องประชาชน  นักวิชาเกินทั้งหลายได้รับรู้  เข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของตำรวจมีอย่างไรบ้าง  นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเล็กๆ   ของงานสอบสวนเท่านั้นนะครับ
     ประกอบเงินเดือนค่าตอบแทน   ของพนักงานสอบสวน  ทำงานมา  ๓๐  ปี รับประมาณ  ๔๐,๐๐๐-๔๕,๐๐๐ บาท   ส่วนอัยการ  ศาล  ทำงานมาประมาณ ๑๔-๑๕ ปี  เงินเดือนและค่าตอบแทน  ๑๐๐,๐๐๐  กว่าบาท 

     ท่านทั้งหลายที่จะปฏิรูปตำรวจเคยรู้เรื่องนี้ไหมครับ   เมื่อรู้แล้วก็หวังว่าท่านจะปฏิรูปลงไปถึงรายละเอียดนี้ด้วยนะครับ  ไม่ใช่คิดปฏิรูป  คิดได้แค่เพียงเปลี่ยนแปลงหน่วยงานการกำกับดูแล  การรวมอำนาจ   เปลี่ยนเป็นการกระจายอำนาจให้นักเลงท้องถิ่นเข้ามาคุมตำรวจเท่านั้นเพื่อความสะใจเท่านั้นเอง  และผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ให้ความสำคัญของนักเลงท้องถิ่นมากนัก   รัฐบาลชุดนี้ต้องการให้ข้าราชการยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี  ไม่ต้องพึ่งนักลากตั้งโดยเฉพาะนักเลงท้องถิ่น  
     ก็ขอแสดงความคิดเห็นเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ  ส่วนท่านใดจะแสดงความคิดเห็นต่อยอดต่อไปอีกก็เชิญได้ตามสบายครับ  เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตำรวจ  และเพื่อให้ประเทศชาติ  บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า   สังคม  ประชาชนสงบสุขเรียบร้อยต่อไป
*******************




     ข้างต้นนี้เป็นความเห็นของพนักงานสอบสวนท่านหนึ่ง ที่อัดอั้นกับกระแสปฏิรูปตำรวจ และได้รับส่งต่อ ๆ กันมาทาง ไลน์ บ้าง เฟสบุ๊ค บ้าง ก็นำมาถ่ายถอดกันอีกครั้ง เผื่อท่านนักปฏิรูปทั้งหลายได้มาอ่าน  จะได้เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันมากขึ้น
     นี่แค่งานสอบสวนงานเดียวนะครับ งานด้านอื่น ๆ ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทั้ง งานป้องกันปราบปราม , งานสืบสวน , งานจราจร , งานอำนวยการ  ล้วนแต่ขาดแคลนงบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งสิ้น   ยังไงก่อนคิดจะปฏิรูป น่าจะเชิญพวกช่างคิด ช่างติ ลองมาเป็นตำรวจกันดูสักเดือน สองเดือน  น่าจะดีนะครับ ....

ปล. ค่าใช้จ่ายข้างต้นเป็นการประมาณการที่อาจจะสูงเกินจริงไปบ้าง เพราะในบางครั้ง การฝากขัง หรือส่งสำนวน อาจไปพร้อมกันหลาย ๆ คดีได้ครับ
ปล.2 รูปจากกูเกิ้ล

ความคิดเห็น