นสพ.ตำรวจพลเมือง ทำฌาปนกิจผิดกฎหมายหรือไม่ ?

จากที่มีข่าวว่า นสพ.ตำรวจพลเมือง  เข้าไปตามภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรับสมัครสมาชิก ฌาปนกิจ  โดยมีการเก็บเงินค่าสมัครกับชาวบ้าน  และมีจำนวนสมาชิกที่เพิ่มมากขึ้น  จนเกิดความกังวลว่า นี่จะเป็นการหลวงลวงอีกรูปแบบหนึ่งของ กองทุนฌาปนกิจชาวบ้าน ที่เคยทำกันมาหรือไม่  วันนี้เรามาตั้งข้อสังเกตุกันครับ

ข้อสังเกตุแรกจากทีมข่าวไทยรัฐ

ทีมข่าวไทยรัฐทีวี ตรวจสอบทั้งจากเว็บไซส์และข้อมูลในการรับสมาชิกโครงการ 1 ชีวิต 1 ล้าน ของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง พบว่า สมาชิกที่จะเข้าร่วมฌาปนกิจ ต้องจ่ายเงิน 1500 บาท โดยถูกหักเป็นค่าบริหารจัดการสมาชิก 850 บาท ที่เหลือ 650 บาทจะส่งไปยังสมาคมฌาปนกิจฯ แยกเป็น ค่าแรกเข้าสมาคมฯ 100 บาท  เงินบำรุงรายปี 50 บาท ส่วนอีก 500 บาทเป็นเงินค่าทำศพล่วงหน้า

ซึ่งสมาชิกจะได้รับใบเสร็จ ตามที่จ่ายเงินกับสมาคมฌาปนกิจ 650 บาท เท่านั้น ส่วนอีก 850 บาท หนังสือพิม์ตำรวจพลเมืองอ้างเป็นค่าบริหารจัดการ ที่ไม่มีการออกใบเสร็จให้ โดย วันสุดท้ายก่อนยุติโครงการ 1 ชีวิต 1ล้าน มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 7 หมื่นคน นั่นหมายความว่า มีเม็ดเงินเข้าสู่หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมืองเกือบ 60 ล้านบาท รวมทั้งการเปิดสาขาในต่างจังหวัด ก็มีลักษณะแชร์ลูกโซ่ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

เหล่านี้ ล้วนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับการหาสมาชิกของหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง

เมื่อยุติโครงการ1 ชีวิต 1 ล้าน หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ได้ตั้งโครงการใหม่ ภายใต้ชื่อโครงการสวัสดิการเพื่อสมาชิกหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ลักษณะคล้ายฌาปนกิจ แต่ไม่ได้จดทะเบียนฌาปนกิจกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นการบริหารจัดการกันเองในรูปแบบสวัสดิการช่วยเหลือเยียวยา โดยเก็บเงินค่าสมัคร 1,500 บาท เช่นเดิม แต่เเบ่งเงินหักเข้าองค์กร 950 บาท ที่เหลือ 550 บาท เข้าเป็นเงินสงเคราะห์สมาชิก

โดยจะได้สิทธิ์คุ้มครองเมื่ออายุสมาชิกครบ 180 วัน หากเสียชีวิตก่อนจะได้รับเงินคืนเพียง 500 บาท และเมื่อสมาชิกเสียชีวิตหนังสื่อพิมพ์ยังต้องหักเงินสงเคราะห์เข้าองค์กรอีกร้อยละ 15 ซึ่งปัจจุบันโครงการใหม่นี้ มีสมาชิกกว่า4หมื่น คน

คำถามที่สังคม ตั้งข้อสงสัยในการรับสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมือง ก็คือ จำนวนเงินที่หักเข้าบริหารองค์กร ซึ่งมากกว่าเงินหักจ่ายสงเคราะห์ค่าทำศพ ไม่มีการออกใบเสร็จรับเงิน แม้หนังสือพิมพ์ตำรวจพลเมืองจะยืนยันว่า ทุกอย่างสามารถตรวจสอบได้



ข้อสังเกตุที่สอง ไม่ได้รับการอนุญาต ?

     การทำฌาปนกิจ ต้องมีการจดทะเบียนกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้ถูกต้อง  ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ใช้เงิน มากมาย จดง่าย ๆ ที่เขต  แล้วทำไมไม่จดทะเบียนให้ถูกต้อง ? หรือหาผู้ก่อตั้งได้ไม่ครบ 7 คนตามกฎหมาย ?
     อีกประการคือการใช้สัญลักษณ์ของตำรวจเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  มีการใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของตำรวจในเครื่องหมายของตำรวจพลเมือง มากมาย ดังนี้
  • คำว่าตำรวจ  แน่นอนอยู่แล้ว ไม่ได้หมายถึงใครแน่ ๆ ในประเทศนี้มีหน่วยงานเดียว
  • โล่เขน  ตรา ที่หน่วยงานตำรวจได้รับพระราชทาน อ่านประวัติและความเป็นมาของโล่เขน(คลิ๊ก)
  • ดาว 8 แฉก  นี่ก็สัญลักษณ์ตำรวจสัญญาบัตร
  • โล่อาร์ม ที่รองพื้นนั้น ก็มาจากตราของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และอีกหลายหน่วยงานของตำรวจ
  • สีแดงเข้ม หรือสีเลือดหมู  ก็เป็นสีของตำรวจ














     ดูแล้วก็เรียกว่าลอกมาจากตราโรงเรียนนายร้อยตำรวจทั้งหมด ปรับตำแหน่งสัญลักษณ์ต่าง ๆ และตัวหนังสือเท่านั้น  การกระทำลักษณะนี้คือการทำให้ประชาชนเข้าใจว่า หน่วยงานตำรวจเกี่ยวข้องกับ ตำรวจพลเมือง  และอาจทำให้การสมัครสมาชิกได้ง่ายขึ้น  เพราะนำองค์กรตำรวจมาเกี่ยวข้อง  หรืออาจเข้าใจเลยเถิดไปว่า นี่เป็นโครงการฌาปนกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ !!
     ซึ่งแน่นอนว่าการใช้ตรา , คำ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ นั้น  ไม่เคยได้รับอนุญาต หรือมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานตำรวจ  ก็ต้องเป็นหน้าที่ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ดำเนินคดีกับ นสพ.ตำรวจพลเมือง  ที่ได้แอบอ้างให้เกิดความเสียหายดังกล่าว  ถ้านิ่งเฉยอาจถูกอนุมานไปว่ามีส่วนรับผลประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องได้นะครับ จ้าวนาย






ข้อสังเกตุเรื่องความน่าเชื่อถือ

     นสพ.ตำรวจพลเมือง อ้างในเว็บไซต์ตัวเองว่า ก้าวสู่ปีที่ 3  แสดงว่าเพิ่งเริ่มกิจการ นสพ. มาเพียง 2 ปีเศษ  ส่วนตัวบรรณาธิการ นั้นบ่องตง ผมไม่รู้จัก  แต่โครงการที่ผ่านมาคือ 1 ชีวิต 1 ล้าน  ยุติโครงการไปแล้ว  น่าเชื่อถือมั๊ยล่ะ ?  (อย่าลืมดูคลิปท้ายบทความ)
     ส่วนในหน้าเว็บไซต์มีลิงค์คณะที่ปรึกษา  ก็นึกว่าจะมีนายตำรวจหญ่าย มารับเป็นที่ปรึกษาเป็นแผง แต่กดเข้าไปแล้ว  ว่างเปล่า  ไม่มีมนุษย์เป็นที่ปรึกษาสักคน !!(เข้าไปตรวจสอบวันที่ 24 เม.ย. 58)

     ผมก็ไม่ได้กล่าวหาว่าเขาลวงโลก หรือจะมาหลอกลวงใครนะครับ  เงินของท่าน ท่านจะใช้อย่างไรก็เป็นสิทธิของท่านเอง  แต่จากประสบการณ์ที่อยู่กับชาวบ้านมา  ปัญหาฌาปนกิจชุมชน ที่มาแจ้งความ ก็เคยมีมาก่อน  บางคนก็อาจไม่แจ้งความเพราะเห็นว่าเสียเกินไปไม่มาก  ขี้เกียจเสียเวลา หรือตัวแทนที่เก็บเงินก็คนในหมู่บ้านรู้จักกันเลยไม่อยากแจ้ง ฯลฯ  แล้วการทำฌาปนกิจ เขาให้จดทะเบียน เพราะจะได้ตรวจสอบได้ว่ามีสมาชิกเท่าไหร่ เก็บเงินมาแล้วเท่าไหร่ มีคนตายจริง ๆ เท่าไหร่  เรียกว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ว่างั้น  ถ้าอยากจะทำฌาปนกิจจริง ๆ บริษัทประกันชีวิตดีกว่าครับ  อย่างน้อยมีปัญหาก็ยังฟ้องร้องกันได้ บริษัทไม่หนีไปไหน  เตือนกันไว้ด้วยความเป็นห่วง  เอานิทานสอนใจไปอ่านกันดู แล้วพิจารณาเปรียบเทียบดูนะครับ

     " กาลครั้งหนี่ง ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยฝูงลิง ชายคนหนึ่งได้เดินทางมาถึงและได้ประกาศแก่ชาวบ้านว่า เขายินดีซื้อลิงตัวละ 10 เหรียญ ชาวบ้านเห็นว่ามีลิงอยู่เต็ม รอบหมู่บ้าน จึงออกไปจับลิงมาขายให้ชายคนนั้น ซึ่งได้ซื้อลิงไปได้หลายพันตัว จำนวนลิงรอบหมู่บ้านจึงลดน้อยลงยากที่จะจับมาขายได้อีก ชาวบ้านเลยเลิกจับลิงมาขาย
     ชายคนเดิมจึงประกาศ ขึ้นราคาลิงเป็นตัวละ 20 เหรียญ ซึ่งทำให้ชาวบ้านหันกลับมาจับลิงอีก ไม่ช้าจำนวนลิงก็ลดลง ทำให้จับยากขึ้นไปอีก ชาวบ้านจึงหันกลับไปทำไร่ และลืมเรื่องจับลิงไป
     ชายคนนั้นได้ประกาศ เพิ่มราคาให้เป็น 25 เหรียญ/ตัว แต่ว่าจำนวนลิงหายากมากขึ้น และยากลำบากมาก ที่จะจับได้สักตัว
     ชายคนดังกล่าวจึงได้ประกาศ ว่าเขาจะซื้อลิง ตัวละ 50 เหรียญ ถ้าชาวบ้านเอามาขายให้ได้แต่ว่าเขาจะต้องไปทำธุรกิจ ที่เมืองอื่น จึงได้มอบหมาย ให้ผู้ช่วยของเขาทำหน้าที่รับซื้อลิงแทนเขา
     เมื่อชายคนนั้นเดินทาง จากหมู่บ้านไป ผู้ช่วยของเขาได้บอกกับ ชาวบ้านว่า “ดูนี่สิ ในกรงมีลิงซึ่งเจ้านายข้า ซื้อมาเต็มไปหมด เอาอย่างนี้มั้ย ข้าจะขายลิงให้ท่าน ตัวละ 35 เหรียญเมื่อเจ้านายข้ากลับมา จากต่างเมือง พวกท่านก็เอาลิง ที่ซื้อไปจากข้า เอาไปขายให้เจ้านายข้า ตัวละ 50 เหรียญ กำไรเหนาะๆ”
     ชาวบ้านเห็นช่องทางรวย จึงรวบรวมเงินออมที่มี ไปซื้อลิงทั้งหมดออกมา เพื่อเตรียมขายให้ชายคนนั้น
     แต่ท้ายที่สุดชาวบ้านทั้งหลาย ไม่เคยได้เห็นชายคนนั้น และผู้ช่วยของเขา กลับมายังหมู่บ้านอีกเลยและตั้งแต่บัดนั้น หมู่บ้านนั้นก็เต็มไปด้วย ฝูงลิงเหมือนอย่างในอดีต "
.
.
คนในหมู่บ้านร้องไห้หนักมาก ... และนี่ก็คือกลไกพื้นฐานของการทำกำไรบนฟองสบู่. และช่วงนี้แชร์ลูกโซ่ก็กำลังระบาดหนักด้วย "




     ตอนนี้อาจจะยังไม่ผิดในเรื่องฉ้อโกงประชาชน  เพราะยังไม่มีผู้เสียหาย  แต่พอเริ่มมีผู้เสียหาย เหมือน ยูฟัน  ตัวผู้ประกอบการก็บินหนีไปแล้ว

ความคิดเห็น