ปิดตำนาน 191 สู่สากลกับเลขหมาย 911

วันที่ 14 ก.ค. 58 "เสธไก่อู" พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงหลังการประชุม ครม.ว่า  ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) เสนอให้มีการปรับเปลี่ยนหมายเลขกลางตามสากล โดยใช้หมายเลข 911 แทนของเดิม 191 ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่า คณะกรรมการบริหารหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยนายกฯ เป็นประธาน ทำการบริหารจัดการเชื่อมโยงเครือข่ายหมายเลขที่จำเป็นในการติดต่อฉุกเฉินของประชาชนเข้าสู่หมายเลขหลัก 911 เมื่อประชาชนติดต่อมาจะเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานที่ต้องการติดต่อโดยไม่คิดค่าบริการ
       
สำหรับ สาระสำคัญของ ร่างพระราชบัญญัติหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีดังนี้
       
     1. กำหนดบทนิยามศัพท์ต่าง ๆ เพื่อความชัดเจนในการใช้บังคับกฎหมาย
       
     2. กำหนดให้หมายเลข 911 เป็นหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติสำหรับใช้เพื่อการแจ้งเหตุฉุกเฉิน
       
     3. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและเลขานุการ
       
     4. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้หน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมจัดให้มีระบบโครงข่ายเชื่อมโยงในการให้บริการ ส่งเสริม และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการระงับและบรรเทาเหตุฉุกเฉิน เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรค เปลี่ยนแปลงการกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ แต่งตั้งอนุกรรมการ รวมทั้ง ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการ
       
     5. กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ และกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับงานของคณะกรรมการ
       
     6. กำหนดห้ามผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าตอบแทน หรือค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติจากผู้แจ้งเหตุฉุกเฉิน
       
     7. กำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้แจ้งเหตุฉุกเฉินโดยไม่เป็นความจริง
       
     8. กำหนดให้ผู้รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้รับการคุ้มครองและไม่เป็นความผิดกฎหมายสำหรับการเข้าถึงและแจ้งข้อมูลส่วนบุคคล ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

     ถ้ามีผลบังคับใช้เมื่อไหร่  ก็จะถือเป็นการสิ้นสุดของตำนานหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 191 ที่ใช้กันมายาวนานหลายสิบปี  และเปลี่ยนไปใช้หมายเลข 911 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี และมีใช้ในประเทศ อเมริกา แคนาดา 

     หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินในที่นี้จะรวมเอาการแจ้งเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ อาทิ
  • เหตุด่วน-เหตุร้าย อาชญากรรมต่าง ๆ
  • เหตุฉุกเฉินทางการแพทย์
  • เหตุเพลิงไหม้
  • สาธารณะภัยต่าง ๆ
  • เรื่องฉุกเฉินอื่น ๆ

     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการปรับปรุงระบบการแจ้งเหตุ 191 ในทุกจังหวัดมาแล้ว  โดยมีการวางระบบคู่สายโทรศัพท์ และเพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อการใช้งานจริง(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)(แน่นอนว่าบุคลากรในภาพรวม ตร. ไม่ได้เพิ่มขึ้น นั่นคือการลดกำลังพลในด้านอื่น เพื่อมาเข้าเวรศูนย์รับแจ้งเหตุ)  เชื่อว่าสามารถรองรับการปฏิบัติการในเลขหมาย 911 ได้เป็นอย่างดี  ทั้งนี้อาจต้องมีการอบรมในเรื่องทางการแพทย์ หรือจัดให้มีบุคลากรจาก 1669 มาร่วมเข้าเวรด้วนกัน





     สำหรับปัญหาโทรก่อกวน ซึ่งทำให้กระทบถึงการใช้คู่สาย ผู้ที่มีเหตุฉุกเฉินจริง ๆ จะไม่สามารถโทรมาได้  ก็ต้องขอร้องกันล่ะครับ  หาอะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมทำเถอะ ไปเก็บขยะ ปลูกต้นไม้ ไหว้พระ อะไรก็ทำไป   ต่อไปทางเจ้าหน้าที่คงต้องเข้มงวดเอาผิดดำเนินคดีกันจริงจัง  ไม่งั้นไม่หมด ไม่หลาบจำ จัดแถลงข่าวกันไปเลย    ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างเบอร์โทรฉุกเฉินในประเทศไทย มันเยอะจนจำไม่ไหว นี่ยังไม่นับพิซซ่า ไก่ทอด อีกนะครับ สมควรแล้ว ที่ออก พ.ร.บ. นี้มา 55


เรื่องที่เกี่ยวข้อง


ความคิดเห็น