รู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน

อาวุธปืนคือสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถมี หรือหาซื้อมาพกพาติดตัวไว้ง่ายๆเหมือนซื้อตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ ฯลฯ แต่เป็นสิ่งของที่ผู้จะพกพา หรือหาซื้อต้องมีความจำเป็นหรือเหตุอันควรเท่านั้น หลายๆคนอาจไม่ทราบว่าการได้มาซึ่งอาวุธปืนอย่างไม่ถูกต้องนั้น จะส่งผลให้ติดคุกติดตารางกันได้ง่าย ๆ เลยทีเดียวเรานี้เราจึงขอนำเสนอกฏหมายที่ควรรู้เกี่ยวกับปืนเพื่อให้ได้ทราบกัน...

ความหมายของอาวุธปืน
     “อาวุธปืน” หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ยิง ไปทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้  ปืนที่ไม่อาจทำอันตรายร่างกายถึงสาหัสได้โดยสภาพ เช่น ปืนเด็กเล่น ไม่ใช่อาวุธปืนตามความหมายของกฎหมาย ตามกฎหมายเรียกว่า “สิ่งเทียมอาวุธปืน”
     ปืนที่ใช้ยิงไม่ได้ เช่น ชำรุด ถือเป็น “สิ่งหนึ่งของอาวุธปืน”
        ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืนตามกฎหมายให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย เช่น
          1. ลำกล้อง
          2. เครื่องลูกเลื่อน หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลูกเลื่อน
          3. เครื่องลั่นไก  หรือส่วนประกอบสำคัญของเครื่องลั่นไก
          4. เครื่องส่งกระสุน ซองกระสุน หรือส่วนประกอบสำคัญของสิ่งเหล่านี้ แต่พานท้ายปืน สายสะพายไม้ประดับด้ามปืน ไม่ใช่อาวุธปืน

กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน

การขออนุญาต
      ประชาชนจะมีและใช้อาวุธปืนต้องขออนุญาตต่อนายทะเบียน สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯยื่นคำร้องขอที่กองทะเบียนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องขอต่อนายอำเภอท้องที่การขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืนต้องขอเพื่อ
                - ป้องกันตัวหรือทรัพย์สินของตน
                - สำหรับใช้ในการกีฬาหรือล่าสัตว์

ความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน
       การกระทำผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนเหล่านี้ ได้แก่
                1. ทำ โดยมิได้รับอนุญาต
                2. ซื้อ โดยมิได้รับอนุญาต
                3. มี โดยมิได้รับอนุญาต
                4.ใช้ โดยมิได้รับอนุญาต
                5. สั่ง เข้ามาจากนอกราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาต
                6. นำ เข้ามาจากนอกราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาต
     ความผิดทั้ง  6 ประการ ถ้าเป็นเพียงเกี่ยวกับ “ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน” หรือ “มีกระสุนปืน” ก็ถือว่ามีความผิดเช่นเดียวกัน ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แต่ครอบครองอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายก็มีความผิดเช่นกัน ซึ่งการรับฝากปืนจากผู้อื่นในระยะเวลาอันสั้น หรือการเอาปืนของผู้อื่นมาถือไว้ชั่วขณะ ไม่ถือว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง แต่อย่างไรก็ดีก็มีเรื่องต้องทราบเกี่ยวการเอาปืนของผู้อื่นมามาถือไว้ชั่วขณะเช่นกัน โดยการครอบครองปืนของผู้อื่นที่ไม่ผิดกฎหมายมี 3 กรณี คือ
                1. ผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้อื่น เท่าที่จำเป็นเพื่อรักษาอาวุธนั้นมิให้สูญหาย และผู้ครอบครองนั้นจะต้องมีคุณสมบัติที่จะมี และใช้อาวุธได้ เช่น
                - บิดานายดำ เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมาบิดานายดำตาย นายดำจึงครอบครองอาวุธปืนนั้น เพื่อรอการแจ้งตายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ทราบการตาย และขอรับมรดกของบิดา ดังนี้นายดำไม่มีความผิด
                - นาย ก เป็นผู้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ต่อมานาย ก วิกลจริต นาง ข ภริยา ของนาย ก จึงครอบครองอาวุธปืนของนาย ก เพื่อรอส่งมอบอาวุธปืนและใบอนุญาตแก่นายทะเบียน นาง ข ไม่มีความผิด
            - เก็บอาวุธปืนไมมีทะเบียนได้ ตั้งใจว่าจะนำไปมอบให้นายทะเบียน ก็ถูกจับก่อน ดังนี้ไม่มีความผิด แต่ถ้าผู้เก็บอายุแค่ 15 ปี (ยังมีอาวุธปืนไม่ได้) หรือปืนที่เก็บได้เป็นปืนเถื่อน ดังนี้ ถ้าผู้เก็บได้นำมาใช้ก็มีความผิดด้วย
               2. ครอบครองอาวุธปืนของราชการทหาร และตำรวจ และของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
               3.ครอบครองอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนประจำเรือเดินทะเล รถไฟ และอากาศยานตามปกติ ซึ่งได้แสดงและให้พนักงานศุลกากรตรวจสอบตามกฎหมายแล้ว

หมายเหตุ  ควรสังเกตว่า กฎหมายยกเว้นให้แต่อาวุธปืนของทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มิได้ยกเว้นแก่ตัวราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ




การพกพาอาวุธปืน
                กฎหมายห้ามมิให้บุคคลพกพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เช่น ถือปืนติดตามคนร้าย หรือไฟไหม้บ้านต้องขนของและปีนหนีออกจากบ้าน หรือต้องพกปืนเพื่อป้องกันตัว เพราะนำเงินจำนวนมากติดตัวไปต่างจังหวัด เป็นต้น
                แต่มีข้อสังเกตว่า ไม่ว่ากรณีใดกฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้พกพาอาวุธปืนไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้น เพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพหรือการอื่นใด หมายความว่า ถึงแม้จะมีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวก็ตาม ก็ไม่สามารถพกพาอาวุธปืนโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่จัดให้มีขึ้น เพื่อการดังกล่าว แต่กฎหมายไม่ห้ามสำหรับเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทหารและตำรวจซึ่งอยู่ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หรือประชาชนผู้ได้รับมอบหมายให้มีหรือใช้อาวุธปืน ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการ และมีเหตุจำเป็นต้องมีและใช้อาวุธปืนในการนั้น สำหรับผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตให้พกพาในกรุงเทพฯ คือ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในต่างจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด

การมีอาวุธปืนเพื่อเก็บ
                ผู้ใดประสงค์จะมีอาวุธปืนเพื่อเก็บก็ต้องขออนุญาตด้วย การเก็บในที่นี้ หมายถึงการมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น
                “การเก็บ” ในที่นี้หมายถึง การมีไว้โดยไม่ใช้อาวุธปืนนั้น เช่น การเก็บไว้เป็นที่ระลึก เป็นต้น ซึ่งผู้ใดที่ต้องการจะมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บก็จำเป็นจะต้องขออนุญาตจากทางราชการด้วย โดยผุ้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ไปขออนุญาตมีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ ณ กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนคนที่ภูมิลำเนาอยู่ในในต่างจังหวัดให้ยื่นขอใบอนุญาตต่อนายทะเบียนท้องที่ใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ จะออกให้แก่อาวุธปืนดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
                1. อาวุธปืนที่นายทะเบียนเห็นว่า ชำรุดจนใช้ยิงไม่ได้
                2. อาวุธปืนแบบพ้นสมัย เช่น ปืนที่ใช้ในสมัยโบราณ,ปืนที่เป็นของเก่าแก่
                3. อาวุธปืนที่เป็นรางวัลจากการแข่งขันยิงปืนในทางราชการ
                เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอาวุธปืนประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีไว้เพื่อเก็บ นอกจากนี้แล้วกฎหมายจึงมีข้อห้ามเกี่ยวกับอาวุธปืนที่มีไว้เพื่อเก็บอีกด้วย คือ
                1. ห้ามมิให้ยิงอาวุธปืนนั้น
                2. ห้ามมิให้มีเครื่องกระสุนที่จะใช้สำหรับอาวุธปืนที่จะมีไว้เพื่อเก็บ

หมายเหตุ  ผู้ใดที่มีอาวุธปืนไว้เพื่อเก็บ โดยมิได้รับอนุญาต ถือว่ามีความผิดต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

การขออนุญาต
                การที่ประชาชนจะมีหรือใช้อาวุธปืนได้โดยถูกกฎหมายนั้น จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากทางราชการก่อน ซึ่งเมื่อทางราชการอนุญาตแล้ว ก็จะได้ออกใบอนุญาตให้ไป ใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอาวุธปืนที่สำคัญ ได้แก่
                1. ใบอนุญาตการซื้อขายอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๓)
                2. ใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.๔) มี 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
                                2.1 ใบอนุญาตแบบชั่วคราว มีอายุ 6 เดือน นับแต่วันที่ออกใบอนุญาตนั้น
                                2.2 ใบอนุญาตแบบถาวร ใช้ได้ตลอดเวลาที่ผู้ได้รับอนุญาตยังเป็นเจ้าของอาวุธปืนนั้นอยู่
          - สถานที่ในการขออนุญาต  สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นขออนุญาตต่อนายทะเบียน ณ กองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่เมื่อได้ยื่นคำร้องขอใบอนุญาตต่อทางราชการแล้ว นายทะเบียนก็จะพิจารณาว่า  ควรจะออกใบอนุญาตให้ผู้ขอหรือไม่ ซึ่งมีข้อสังเกตที่สำคัญๆดังนี้
                1. ในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น จะออกให้ได้ใน 3 กรณีเท่านั้น คือ
                                1.1 เพื่อใช้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน
                                1.2 เพื่อใช้ในการเล่นกีฬา
                                1.3 เพื่อใช้ในการยิงล่าสัตว์
ถ้าไม่เข้ากรณีใดกรณีหนึ่งในสามกรณีนี้ ทางราชการมักจะไม่ออกใบอนุญาตให้
                2. ใบอนุญาตหนึ่งใบจะออกให้สำหรับอาวุธปืนหนึ่งกระบอกเท่านั้น
                3.  ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้ ให้แก่อาวุธที่เป็นอาวุธสงคราม
                4. ผู้ที่จะขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย อาทิเช่น บุคคลผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์) บุคคลที่เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (คนวิกลจริต,คนจิตฟั่นเฟือน) บุคคลที่ไม่มีอาชีพและรายได้ คนจรจัด บุคคลผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง นอกจากนี้ทางราชการจะไม่ออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่บุคคลนั้น ขออนุญาตน้อยกว่าหกเดือน
                -ขั้นตอนในการออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน ในขั้นแรกนายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธ (แบบ ป.๓) และใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนแบบชั่วคราว (แบบ ป.๔ ชั่วคราว) ให้ก่อน ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ให้ผู้ขออนุญาตไปจัดการหาซื้ออาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนมาให้พร้อมเสียก่อนโดยไม่ผิดกฎหมาย จากนั้นให้ผู้ขออนุญาตนำอาวุธปืนดังกล่าวไปให้นายทะเบียนตรวจสอบว่าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่จะหามานั้น มีชนิดและขนาดตรงตามที่ระบุไว้ในแบบ ป.๓ และ ป.๔ ชั่วคราวหรือไม่ ถ้าตรง นายทะเบียนก็จะออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนอย่างถาวร (แบบ ป.๔ ถาวร) ต่อไป  แต่ทั้งนี้จะต้องนำอาวุธปืนไปให้นายทะเบียนตรวจสอบภายในกำหนด ๖ เดือน นับแต่วันที่ได้ออกใบอนุญาตชั่วคราวให้ ถ้าเกินกำหนด 6 เดือนดังกล่าวไปถือว่า ผู้ขออนุญาตนั้นมีอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต

หมายเหตุ   กรณีที่ซื้ออาวุธปืนจากเจ้าของที่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ซื้อจะต้องใบขอรับใบอนุญาตให้ซื้ออาวุธปืนนั้นจากนายทะเบียนก่อน จากนั้นให้ผู้ขอซิ้อนำใบอนุญาตให้ซื้อไปขอรับปืนจากผู้ขายได้เลย หรือจะไปหานายทะเบียนพร้อมกันทั้งผู้ซื้อและเจ้าของปืน ซึ่งนายทะเบียนก็จะทำการออกแบบ ป.๔ ให้ผู้ซื้อต่อไป

การโอนอาวุธปืน
                กฎหมายห้ามมิให้โอนอาวุธปืนให้แก่บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน แม้ผู้โอนจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนได้ แต่ถ้าโอนอาวุธปืนให้แก่ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตผู้โอนจะมีความผิด “การโอน” หมายถึง การโอนกรรมสิทธิ์อาวุธปืนของตนให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของ

การรับโอนอาวุธปืนทางมรดก
                ในกรณีที่เจ้าของอาวุธปืนซึ่งมีใบอยู่แล้วถึงแก่ความตายกฎหมายกำหนดให้ทายาทของผู้ตายหรือบุคคลอื่นๆ ซึ่งมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือใบอนุญาตให้มี หรือใช้อาวุธปืนของผู้ตาย ไปแจ้งการตายของเจ้าของปืนให้นายทะเบียนทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รู้ถึงการตายของผู้ตาย ถ้าไม่มาแจ้งถือว่ามีความผิดต้องโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับนายทะเบียนที่จะไปแจ้งการตายดังกล่าวได้ ได้แก่
                1. นายทะเบียนท้องที่ที่ออกใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืนนั้น
                2. นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาอยู่
                3. นายทะเบียนท้องที่ที่ผู้แจ้งการตายมีภูมิลำเนาอยู่

                เมื่อได้แจ้งการตายต่อนายทะเบียนแล้ว ให้ทายาทผู้ได้รับอาวุธซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายไปติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่ภายใน ๖ เดือนนับแต่วันที่ตาย (เจ้าของปืน) ถึงแก่ความตายเพื่อขอรับใบอนุญาตใหม่ ทั้งนี้ เพราะถึงแม้ว่าทายาทจะได้กรรมสิทธิ์ในอาวุธปืนนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็นการมีอาวุธในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตซึ่งผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจึงต้องยื่นคำร้องต่อนายทะเบียนท้องที่ เพื่อขอใบอนุญาตให้มีหรือใช้อาวุธปืน (แบบ ป.๔) ซึ่ง ทางราชการก็จะพิจารณาว่า ทายาทหรือผู้ขออนุญาตมีคุณสมบัติที่ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่มีก็จะได้จัดออกใบอนุญาตให้ต่อไป

กรณีต้องแจ้งนายทะเบียน
     1. อาวุธปืนหายหรือถูกทำลายต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน
     2. ใบอนุญาตสูญหายหรือถูกทำลาย ต้องขอใบอนุญาตแทนภายใน 30 วัน นับแต่ทราบเหตุการณ์สูญหายหรือถูกทำลาย
     3. ถ้าผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตาย ทายาทต้องแจ้งนายทะเบียนภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบวันตายของผู้ได้รับใบอนุญาต มิฉะนั้นมีความผิด
     4. ผู้ได้รับใบอนุญาตย้ายที่อยู่ ต้องแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับแต่วันย้าย โดยต้องแจ้ง 2 ที่ คือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่ย้ายออกภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายออก และแจ้งต่อนายทะเบียนที่ย้ายเข้าภายใน 15 วัน นับแต่วันย้ายเข้า ใครไม่แจ้งมีความผิด
     5. ผู้ได้รับใบอนุญาต หากกลายเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับใบอนุญาตในภายหลัง เช่น กลายเป็นคนวิกลจริต หรือคนไร้ความสามารถ ต้องคืนอาวุธปืนและใบอนุญาตต่อนายทะเบียนโดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมีความผิด
     6. ผู้ใดนำอาวุธปืนมาจากต่างประเทศ ต้องส่งมอบอาวุธปืนแก่พนักงานศุลกากร หรือแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่โดยมิชักช้า มิฉะนั้นจะมีความผิด

การเพิกถอนใบอนุญาต
          นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ ถ้าออกให้โดยหลงผิดหรือผู้ได้รับอนุญาตเป็นคนเคยต้องโทษมาก่อน เป็นต้น เมื่อเพิกถอนแล้วผู้รับอนุญาตต้องมอบปืนและใบอนุญาตคืนแก่นายทะเบียนโดยไม่ชักช้า อนึ่ง การให้ผู้อื่นใช้ใบอนุญาตหรือการใช้ใบอนุญาตของผู้อื่น มีโทษจำคุก

กฏหมายเกียวกับสิ่งเทียม (สิ่งที่เหมือนอาวุธปืน)
            กองพิสูจน์หลักฐานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำ การพิสูจน์ และวินิจฉัยแล้วว่า ปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืน แต่เป็น "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 โดยกฎหมายดังกล่าว ได้ให้ความหมายของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" หมายความถึง สิ่งซี่งมีรูปและลักษณะอ้นน่าจะทำให้หลงเชื่อว่า เป็นอาวุธปืน จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า สิ่งใดก็ตามที่มีรูปและลักษณะ อันทำให้หลงเชื่อว่า เป็นอาวุธปืน จะเป็นเพียง "สิ่งเทียมอาวุธปืน" ไม่ใช่ "อาวุธปืน" และจากคำนิยามดังกล่าว ลำพังชิ้นส่วนของปืน BB ก็ไม่ใช่อาวุธปืน เพราะชิ้นส่วนของปืน BB ไม่อาจทำให้ผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นอาวุธปืน ซึ่งคำนิยามของคำว่า "สิ่งเทียมอาวุธปืน" จะแตกต่างจากนิยามของคำว่า "อาวุธปืน" ที่กฎหมายให้ความหมายรวมถึงว่า เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธปืน ก็ให้ถือเป็นอาวุธปืนด้วย

     เมื่อปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืน แต่เป็นเพียง "สิ่งเทียมอาวุธปืน" การมีปืน BB ไว้ในครอบครอง จะมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่?
     - การมีปืน BB ซึ่งเป็นเพียงสิ่งเทียมอาวุธปืนไว้ในครอบครองนั้น ไม่มีความผิด และ ไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แต่อย่างใด เนื่องจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่มีสิ่งเทียมอาวุธปืนไว้ในความครอบครอง ได้ ต้องมีใบอนุญาต ให้มีสิ่งเทียมอาวุธปืน ไว้ในความครอบครองก่อน ซึ่งแตกต่างจาก เรื่องอาวุธปืน ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ที่มีอาวุธปืน ไว้ในครอบครอง จะต้องได้รับใบอนุญาตก่อน

     การพกพาปืน BB ติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ มีความผิดตามกฎหมายหรือไม่?
     - การพกพาปืน BB ติดต้วไปในสถานที่ดังกล่าวข้างต้น ก็ไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ เช่นกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ไม่ได้บัญญัติกำหนดว่า ผู้ที่พกพาสิ่งเทียมอาวุธปืน ไปในสถานที่ดังกล่าวข้างต้น จะต้องมีใบอนุญาตให้พกพาสิ่งเทียมอาวุธปืนนั้น ๆ ก่อน ซึ่งแตกต่าง จากการพกพาอาวุธปืน ติดตัวไปในที่สาธารณะ ซึ่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กำหนดให้ผู้ที่พกพาอาวุธปืนติดตัวไปนั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนกระบอกนั้น ๆ ไปในที่สาธารณะได้ แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าการพกพาปืน BB ติดตัวไปในที่สาธารณะโดยเปิดเผย จะไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งมีโทษร้ายแรงถึงจำคุก แต่ก็มิใช่ว่าผู้เล่นปืน BB จะสามารถเดินถือปืน BB ไปในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยได้ เนื่องจากปืน BB นั้น มีลักษณะที่เรียกได้ว่า แทบจะไม่แตกต่างไปจากอาวุธปืนของจริงเลยทีเดียว ผู้ที่พบเห็นย่อมเข้าใจผิด คิดว่าปืน BB เป็นอาวุธปืนได้ นอกจากนี้ ด้วยคุณลักษณะของปืน BB แม้จะไม่ใช่อาวุธปืน แต่ปืน BB ก็ยังอาจจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธได้ ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 จึงกำหนดไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดก็ตาม พาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยเปิดเผย หรือไม่มีเหตุอันควร ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น

     ควรปฏิบัติอย่างไรในการขนย้าย ปืน BB และอุปกรณ์ในการเล่น BB Gun
     เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น ผู้มีปืน BB ไว้ในครอบครอง จึงควรใช้ ความระมัดระวัง และปฏิบัติต่อปืน BB ในการพกพา และขนย้าย เฉกเช่นเดียวกับ ที่พึงปฏิบัติต่ออาวุธปืน กล่าวคือ ไม่พกพาปืน BB อย่างเปิดเผย (พกพาในลักษณะที่ ผู้อื่นสามารถ เห็นได้ ไม่ว่าโดยง่ายหรือต้องสังเกต) ไปในที่ สาธารณะ และเมื่อทำการขนย้าย ก็ควรเก็บปืน BB และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้เล่น BB Gun ไว้ในที่เก็บสิ่งของ ท้ายรถยนต์ โดยควรมีกระเป๋าใส่ปืน BB แยกต่างหากจากกระเป๋าใส่ที่บรรจุกระสุน (แม็กกาซีนปืน) และอุปกรณ์อื่น ๆ

สรุปหลักการ และข้อกฎหมายอ้างอิง
       มาตรา 4 "อาวุธปืน" หมายความรวมตลอดถึงอาวุธทุกชนิด ซึ่งใช้ส่งเครื่องกระสุนปืนโดยวิธีระเบิด หรือกำลังดันของแก๊ส หรืออัดลม หรือเครื่องกลไกอย่างใด ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของพลังงาน และ ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาวุธนั้น ๆ ซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าสำคัญ และได้ระบุไว้ ในกฎกระทรวง (กฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2490)
     - ปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืนตาม มาตรา 4(1) แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (โดยความเห็น จากการพิสูจน์ โดยกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 4(1) ระบุไว้ อย่างชัดเจน ดังนี้

     มาตรา 7 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้า ซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่
     - เนื่องจากปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืน การซื้อ (ไม่รวมถึงการนำเข้า) มี และใช้ปืน BB ไม่ต้อง ขออนุญาต ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ
     มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัว เมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่ากรณีใด ห้ามมิให้พาอาวุธไปโดยเปิดเผย หรือพาไปในชุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริง การมหรสพ หรือการอื่นใด
     - เนื่องจากปืน BB ไม่ใช่อาวุธปืน การพกพา และขนย้ายปืน BB โดยมิดชิด และ ไม่เปิดเผยไปในยานพาหนะ หรือ กับตัวผู้ขนย้าย ไม่เป็น ความผิด ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ

กฎหมายพกพาอาวุธในต่างประเทศ
     ทำไมหลายประเทศในโลก ไม่ให้พกปืนเข้าเมือง (ไม่ผ่าน ตม.)?
     สาเหตุที่ไม่ให้พกอาวุธขณะเดินทางข้ามประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางโดยเครื่องบินนั้น ก็เพราะว่า เป็นมาตรการป้องกันการก่อการร้าย รวมถึงป้องกันการเกิดเหตุร้ายแรงต่างๆ เช่น การจี้ตัวประกัน การสร้างสถานการณ์ความวุ่นวาย การทำร้ายผู้อื่นในที่สาธารณะ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก

     แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุผลจำเป็นในบางกรณีก็สามารถผ่อนผันได้ เช่น กรณีพกปืนไปเพื่อทำการ 'แข่งขันกีฬา' ซึ่งก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนขึ้นเครื่องทุกครั้งและทำตามพิธีการของด่านตรวจในสนามบิน หรืออีกกรณีคือ 'บอดี้การ์ด' ของผู้นำประเทศหรือบุคคลทางการทูต เวลาต้องเดินทางไปประชุมเรื่องสำคัญในต่างประเทศ บุคคลเหล่านี้ก็มักจะต้องมีบอดี้การ์ดคอยติดตามอารักขา ส่วนใหญ่ต้องเป็นระดับผู้นำประเทศเท่านั้น

     สำหรับสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ระบุไว้ว่า หากมีการนำอาวุธปืนเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการรักษาความปลอดภัยของบุคคลทางการทูต โดยนำติดตัวเข้าประเทศ มีระเบียบปฏิบัติดังนี้

     - กรมการปกครอง (นายทะเบียนอาวุธปืน) ต้องมีหนังสือถึงกรมศุลกากร
     - เจ้าหน้าที่สถานทูตนำเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พร้อมใบอนุญาตให้นำเข้าซึ่งอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร
     - เจ้าหน้าที่ศุลกากร ตรวจปล่อย การนำออก
     - เจ้าหน้าที่สถานทูตนำ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พร้อมอาวุธมาให้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจ
     - เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจปล่อยและตัดบัญชี
     - เจ้าหน้าที่ บจม.ท่าอากาศยานไทย คุมส่งขึ้นเครื่อง
หมายเหตุ : กรณีมิได้นำเข้าราชอาณาจักร สามารถฝากที่ Customs bond ได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบ

พกได้ในกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐ
     กรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จำเป็นต้องพกพาปืนเดินทางไกลโดยเครื่องบิน ต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ในสนามบินเสมอ มีขั้นตอน ดังนี้
     - ติดต่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์ว่าได้นำพาอาวุธปืนมาด้วย เจ้าหน้าที่จะติดสติกเกอร์ให้ ไม่ต้องโหลดลงใต้เครื่อง (ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่จะให้ไปที่เคาน์เตอร์ Y1)
     - ตรงมาที่เคาน์เตอร์ Y1 แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะนำพาอาวุธปืนขึ้นเครื่อง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำปืนไปผ่านเครื่องสแกน
     - กรอกเอกสารว่านำปืน มากี่กระบอก จำนวนกระสุนเท่าไร และแนบสำเนาใบอนุญาตให้มีและการใช้อาวุธปืน (ป.4) 
     - แสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรข้าราชการพลเรือน กรณีที่ไปปฏิบัติราชการให้แสดงบัตรประจำตัวราชการพร้อมคำสั่ง ของผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปปฏิบัติงาน

พกพาอาวุธเดินทางโดยไม่มีเหตุอันควร ตรวจพบมีโทษร้ายแรง
     กรณีที่แอบซุกซ่อนพกพาอาวุธปืนเดินทางไปต่างประเทศโดยที่ไม่สำแดงต่อเจ้าหน้าที่ ตม. หากตรวจพบจะถูกจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายทันที สำหรับในประเทศไทย อาวุธปืน ถือเป็นของต้องกำกัด (Restrict Goods) หมายถึง ของบางชนิดที่กฎหมายควบคุมการนำเข้ามา และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การนำเข้าและการส่งออกของต้องกำกัด ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาแสดงในเวลาปฏิบัติพิธีการศุลกากรด้วย หากไม่นำมาแสดงจะถูกปรับ หรือ ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และสิ่งของนั้นจะถูกริบเป็นของแผ่นดิน

     ถ้าไปต่างประเทศ หากตรวจพบว่าพกพาอาวุธในสนามบิน บทลงโทษก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางประเทศเข้มงวดมาก เช่น
     - ประเทศญี่ปุ่น : ถูกจับ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือถูกปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
     - ประเทศลาว : เข้มงวดมาก ถ้าตรวจพบ ติดคุกทันที
     - ประเทศสิงคโปร์ : บทลงโทษร้ายแรงมาก พอๆ กับยาเสพติด คืออาจถึงขั้นประหารชีวิต
     - ประเทศมาเลเซีย : บทลงโทษร้ายแรง อาจถึงขั้นประหารชีวิต

10 ประเทศที่พกอาวุธปืนเข้าเมืองได้
     ในหลายประเทศมีบทลงโทษร้ายแรงหากตรวจพบอาวุธปืนในสนามบิน แต่ก็มีบางประเทศที่เป็นมิตรกับผู้ถือครองอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย สามารถพกพาอาวุธเข้าประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นจะมีการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับพลเรือนที่ถือครองอาวุธปืน ซึ่งพลเรือนเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
     การออกกฎหมายเฉพาะทางแบบนี้ ทางสหประชาชาติกับรัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะต้องมาออกกฎหมายร่วมกัน ซึ่งการพิจารณาและตัดสินว่าประเทศไหนสามารถพกอาวุธเข้าประเทศได้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับอัตราของประชากรที่ถือครองปืน (ส่วนใหญ่เป็นปืนพก) ว่ามีมากน้อยแค่ไหน กฎหมายมีความรัดกุมแค่ไหน การดำเนินการตรวจสอบเข้มงวดหรือเปล่า รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่ง 10 ประเทศในโลก ที่สามารถพกอาวุธปืนเข้าประเทศได้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐเช็ก, สวิตเซอร์แลนด์, ปานามา, นอร์เวย์, แคนาดา, สวีเดน, เซอร์เบีย, ฟินแลนด์ และ ฮอนดูรัส

ขอบคุณข้อมูลจาก www.sahanetilaw.com  www.thairath.co.th และ www.thaiairsoftgun.com


การนำปืนติดตัวตอนเดินทางได้หรือไม่ ?
     หลายกรณีที่ท่านอาจจำเป็นต้องนำปืนติดตัวไปด้วย เช่น ไปแข่งขันยิงปืน , กลัวเก็บไว้บ้านจะหาย หรือ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง ฯลฯ  มีข้อแนะนำดังนี้ครับ

  • กรณีไปรถยนต์ส่วนตัว ก็ให้เก็บไว้ในกระเป๋า แยกกระสุน กับปืนออกจากกัน  ไม่เก็บไว้ใกล้ตัวในระยะเอื้อมมือถึง  มีสำเนาใบอนุญาตติดตัว
  • กรณีไปกับรถโดยสารหรือรถไฟ  ก็ทำในลักษณะเดียวกันข้างต้น  อย่าเอาไว้ใกล้ตัว  เพราะจะกลายเป็นพกพาทันที  อาจเก็บกระเป๋าปืนไว้บนชั้นวางของเหนือศรีษะ  จะให้ดีควรไปยังสถานีตำรวจใกล้บ้านลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
  • ปืนที่จะนำติดตัวนี่ต้องเป็นปืนของท่านเอง ที่ถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตครอบครองถูกต้องนะครับ

กรณีรับฝากปืนจากเพื่อนบ้าน
     มีหลายครั้งที่เพื่อนบ้านไปต่างจังหวัด หรือมีเหตุจะเป็นอื่น  ต้องนำอาวุธปืนของเขามาฝากไว้กับเรา  จะทำให้ถูกกฎหมาย ปลอดภัยกับตัวท่านเอง มีข้อแนะนำดังนี้ครับ

  • ตรวจดูว่าเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตถูกกฎหมาย  ไม่ใช่อาวุธปืนสงคราม  ขอสำเนาใบอนุญาตนั้นไว้
  • ไปสถานีตำรวจท้องที่ ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน  แสดงความบริสุทธิ์ใจ
  • ตกลงกันให้ชัดเจนว่าจะฝากระยะเวลานานเท่าใด

มีเครื่องกระสุนปืนไว้เป็นที่ระลึกได้หรือไม่
     บางท่านชอบเก็บนะครับลูกกระสุนปืน เอ็ม 16 , อาก้า  ตั้งโชว์เล่น สวยดี  ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร เพราะยังไงเราก็ไม่มีปืนไว้ยิงอยู่แล้ว  แบบนี้เจอบ่อยครับ  ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่ดี  ยังไงจะเก็บไว้ก็ดูให้แน่ใจก่อนนะครับว่า ต้องเป็นกระสุนที่ไม่สามารถยิงได้จริง คือไม่มีดินปืน  ไม่งั้นท่านก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ปืนเถื่อนมีอะไรบ้าง
     ปืนเถื่อนก็คือปืนที่ไม่มีใบอนุญาต หรือไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้  การครอบครองยังไงก็มีความผิดตามกฎหมาย  ส่วนมากจะถูกลงโทษจำคุกแบบไม่รอลงอาญาด้วย  เช่น

  • อาวุธปืนสงคราม เช่น เอ็ม 16 , อาก้า , เครื่องยิงลูกระเบิด ฯลฯ
  • ปืนไทยประดิษฐ์ทั้งหลาย อีโบ๊ะ , ปืนปากกา ฯลฯ
  • ปืนที่ถูกขูดลบทะเบียน , ตอกเลขทะเบียนใหม่

     ทราบกฎหมายแล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องนะครับ  เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองไม่ต้องถูกดำเนินคดี ส่วนการใช้อาวุธปืนนั้น  ควรต้องมีการฝึกใช้กันด้วย  จะได้ใช้เป็นไม่เกิดอันตรายจากการใช้ที่ไม่ถูกต้อง หรือความประมาทครับ


ความคิดเห็น

  1. ถ้าสั่งซื้อปืนเถื่อนแต่ผู้ขายไม่ส่งมอบให้ เรามีความผิดไหม

    ตอบลบ
  2. ถ้าเป็นเพีงสิ่งที่ทำเลียนเเบบจากวันสดุที่มีควาทนทานตำ่ เเต่กลไกภายในเป็นเหมือนของจริงทุกประการ จะผิดใหมครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดูความหมายของ "อาวุธปืน" ด้านบน แล้วตีความดูครับ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น