จนถึงวันที่ตำรวจไม่จำเป็นต่อสังคมอีกต่อไป

จากกรณีบทความ "ทหารมีไว้ทำไม" ของ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์  ทำให้เกิดกระแสดีดดิ้นกันยกใหญ่ของเหล่าทหารหาญ  อวดอ้างสรรพคุณ บุญคุณ ต่อประเทศระดับท่วมหัว  บ้างก็ถามกลับว่านักวิชาการมีไว้ทำไมบ้าง  บ้างก็ข่มขู่คุกคาม   โดยข้อโต้แย้งทั้งหลายนั้น ดูแล้วเหมือนไม่ได้อ่านบทความนั้นมาก่อนแต่อย่างใด  เพียงแค่เห็นชื่อบทความก็ของขึ้นเสียแล้ว(อ่านบทความ ทหารมีไว้ทำไม ก่อนนะ จะได้คุยกันรู้เรื่อง)

     มาถึงคำถามที่จะขอตั้งเองบ้างว่า "ตำรวจมีไว้ทำไม"  ในสังคมสมัยใหม่นั้น  ในทุกประเทศจะมีกฎหมาย เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข  ไม่มีการรังแก เอาเปรียบกันโดยการใช้กำลังที่เหนือกว่า  หรือการหลอกลวงต้มตุ๋นกันต่าง ๆ นานา   เพราะแนวโน้มของมนุษย์นั้นมักจะเห็นแก่ตัวและจะข่มเหง เอาเปรียบผู้ที่ด้อยกว่า   เมื่อมีกฎหมายขึ้นมา ก็ต้องมีผู้บังคับใช้กฎหมาย เรียกรวม ๆ ว่ากระบวนการยุติธรรม คือตั้งแต่ ตำรวจ ทนาย อัยการ ศาล ไปจนถึง เรือนจำ

     ตำรวจ ถือเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่จำเป็นต่อระบบกฎหมายทุกประเทศ  เพราะเป็นด่านแรกในการจัดการกับผู้กระทำผิด หรือละเมิดกฎหมาย  ให้ผู้คนในสังคมยังคงอยู่ในกติการ่วมกัน  ด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุขอย่างที่ควรจะเป็น   ตัวแทนของประชาชนจึงได้ตรากฎหมายให้อำนาจและหน้าที่บางประการแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ  ในการจัดการให้กฎหมาย กติกาสังคม มีความศักดิ์สิทธิ

     ดังนั้น ตำรวจ จึงต้องปะทะกับคนร้าย องคาพยพของคนร้าย ผู้ต้องสงสัย  หรือแม้แต่ประชาชน  ซึ่งแน่นอนว่าสุจริตชนบางส่วนอาจไม่พอใจ  ที่ต้องสละความสะดวกบางประการแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การตั้งจุดตรวจจุดสกัด  การตรวจค้น ฯลฯ    และแน่นอนว่ามีตำรวจหลายนายที่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหน้าที่ กระทำความผิด สร้างความเดือดร้อนต่อสังคม   ทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมเสื่อมเสีย  ซึ่งก็พยายามแก้ไข ปรับปรุงกันมาโดยตลอด  ยิ่งในยุคโซเชี่ยลมีเดียครองโลก  การตรวจสอบตำรวจยิ่งเข้มข้นมากขึ้นไปอีก




     ต่อคำถามที่ว่า "ทหารมีไว้ทำไม" หรือ "ตำรวจมีไว้ทำไม" นั้นคือการถามไปยังสามัญสำนึกของผู้คน ถึงหน้าที่ที่แท้จริง ตามลักษณะอาชีพ   ถ้ามีอาชีพและหน้าที่อย่างหนึ่ง แต่กลับเสือกไปทำอีกอย่างที่ไม่ใช่หน้าที่  ในขณะที่หน้าที่ที่มีก็ทำได้ไม่ดี  นั่นแสดงว่าอาชีพคุณมีปัญหาแล้ว

     เมื่อใดเล่าที่ตำรวจจะไม่มีความจำเป็นต่อสังคมนี้อีกต่อไป  เมื่อประชาชนในสังคมนั้น ๆ มีสำนึกในการเคารพกฎหมายบ้านเมือง  กติกาสังคม  รู้หน้าที่ของตน(เริ่มจากการต่อคิว , ทิ้งขยะให้เป็นที่ , ขับรถตามกฎจราจร)  เมื่อนั้นอาจมีการทบทวนการคงอยู่ของตำรวจก็เป็นได้  และผมจะภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้สละอาชีพนี้ไป ในสังคมที่สงบสุขเช่นนั้น   ไม่กลัวด้วยว่าจะตกงาน  เฝ้ารอเลยล่ะ ...

ปล. เหตุการณ์ตำรวจประท้วงหยุดงานในบราซิล ปรากฎว่าเกิดจราจล การปล้นสะดม ทำร้ายร่างกาย ฯลฯ เหมือนเป็นบททดสอบมนุษยธรรม ศึลธรรมของคนในสังคมนั้น ๆ ได้ส่วนหนึ่ง  งานนี้ตำรวจผิดแน่นอนครับ  ไม่ว่าเหตุผลใดก็ไม่ควรหยุดงานประท้วง  หวังว่าคงไม่เกิดขึ้นกับสังคมไทยนะครับ



ปล.2  ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่คุณแทบจะไม่เห็นตำรวจเลย  เพราะประชาชนมีวินัยสูง ปลูกฝังกันแต่เด็ก  จึงเกิดคดีความน้อยมาก

ความคิดเห็น