คดีตัวอย่าง รับใบสั่งแล้วไม่ไปจ่าย ต้องฟ้องศาล !

เมื่อการออกใบสั่งในกรณีขับรถเร็ว  ไม่ได้รับความสนใจจากผู้กระทำผิด และทางกรมขนส่งทางบก ก็ไม่ร่วมมือในการงดต่อทะเบียน  เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องใช้วิธีการออกหมายเรียกให้มาเสียค่าปรับ  ถ้าไม่ยอมมาเสียอีก หรือปฏิเสธ  ก็จะทำสำนวนส่งฟ้องศาล  ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากในทางปฏิบัติ  จึงยังไม่เคยมี พงส. ท่านใดทำมาก่อน    แต่ทุกอย่างต้องมีครั้งแรกเสมอ  มาลองฟังประสบการณ์ของ พ.ต.ท.เสมอ  ฉวีนวล รอง ผกก.(สอบสวน) ส.ทล.1กก.8 บก.ทล.   ที่ได้แชร์ให้พี่น้องตำรวจ และประชาชนได้ทราบกันครับ .....


     ใบสั่งทางไปรษณีย์ที่ ส.ทล.1 กก.8 บก.ทล. ออกและส่งไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ที่ถูกบันทึกภาพความเร็วที่เกินกว่าที่กฎกระทรวงกำหนด สำหรับรถยนต์ทั่วไป ไม่เกิน 120 กม./ชม. และให้ชำระค่าปรับ 500 บาท แต่ก็มีผู้ที่เพิกเฉยเป็นจำนวนมาก การจะบังคับกฎหมายให้เกิดผล ก็ต้องยอมเหนื่อย  ต่อไปนี้คือจุดเริ่มต้น

     ราว 1 เดือนที่ผ่านมาผมจึงเริ่มรับแจ้งใบสั่งเรื่องรถเร็วเป็นรายคดี มีการรับคำร้องทุกข์    สอบปากคำผู้กล่าวหา  มอบหมายให้ พนักงานสอบสวนในความรับผิดชอบรับไปทำต่อโดยมอบแนวทางไว้ให้ พนักงานสอบสวนเริ่มออกหมายเรียก 

         และเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(22 ต.ค.2559) มีมารายงานตัวตามหมายเรียก 1 ราย  ได้ทำการแจ้งข้อหา  สอบปากคำผู้ต้องหา และพิมพ์ลายนิ้วมือผู้ต้องหา 

         และวันนี้(23 ต.ค.2559) ศาลแขวงชลบุรีเปิดทำการครึ่งวัน   ตอนเช้าผมได้นำผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พร้อมสำนวนการสอบสวนไปพบพนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงจังหวัดชลบุรี  

         เมื่อส่งสำนวนพนักงานอัยการ ก็รู้สึกได้ว่าท่านงงกับสำนวนที่เห็นอยู่ตรงหน้า  เพราะไม่เคยมีพนักงานสอบสวน คนใดทำสำนวนฟ้องผู้ขับรถเร็วอย่างเดียว ไม่มีเรื่องชนหรือเมาเช่นนี้มาส่ง    อีกทั้งผู้ต้องหารับสารภาพ ทำไมจึงไม่เปรียบเทียบปรับให้เสร็จในชั้นพนักงานสอบสวน  

         ท่านอัยการจึงเรียกผู้ต้องหามาสอบถาม ว่าทำไมใบสั่งให้ชำระค่าปรับเพียง 500 บาท   จึงไม่เสียค่าปรับ ผู้ต้องหาบอกสั้นๆว่าพอดีช่วงนั้นผมไม่มีเงิน  แต่จะขอเสียค่าปรับ 1,000 บาท (ความผิดฐานนี้ปรับไม่เกิน 5,000 บาท) ผมบอกว่าถ้าเช่นนั้นผมจะขอปรับเต็มอัตรา การปรับจึงไม่เกิดขึ้น

           แต่หากฟ้องศาล ศาลอาจจะลดหย่อน ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของศาลท่าน  ซึ่งผมเองก็เกรงใจท่านอัยการที่เอาเรื่องที่ดูเหมือนเล็กๆแบบนี้มาส่งให้ท่านต้องเสียเวลาร่างฟ้อง

           ผมจึงอธิบายถึงปัญหาที่ผู้คนเพิกเฉยต่อใบสั่ง คุยกันจนทราบเรื่องราว ซึ่งท่านอัยการก็รับฟังปัญหาและรับสำนวนไปร่างฟ้องให้   ประมาณ 11.00 น.เศษ ท่านอัยการก็นำคำฟ้องพร้อมผู้ต้องหาไปส่งที่ศาลแขวงจังหวัดชลบุรี     

           ประมาณเที่ยงผู้ต้องหาก็ออกมา พร้อมกับใบเสร็จเสียค่าปรับเป็นเงิน 2,000 บาท จึงสอบถามน้องผู้ต้องหา ได้ความว่าศาลท่านพิพากษาปรับเป็นเงิน 4,000 บาท แต่รับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง คงปรับเป็นเงิน 2,000 บาท

           คดีเป็นอันยุติ แม้จะต้องเสียเวลาไป 2 วันกับการทำคดีนี้ แต่ที่สุดก็หายเหนื่อยครับ เพราะกฎหมายมีสภาพบังคับใช้ได้ ไม่เหมือนกับที่นักกฎหมายบางคนพูดเอามันอย่างเดียว เหมือนใบสั่งไม่ต้องไปจ่าย ทำอะไรไม่ได้

            ส่วนที่ไม่มารายงานตัวตามหมายเรียกผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน  จะเป็นขั้นตอนขออนุมัติต่อศาลเพื่อออกหมายจับในโอกาสต่อไปครับ

ขอขอบคุณ 


  1. เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ต่างๆ ตามภูมิลำเนาที่ผู้ต้องหาอยู่  ที่ช่วยเหลือส่งหมายเรียกผู้ต้องหาให้แก่ทางเรา
  2. พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจทางหลวง 1 กองกำกับการ 8 กองบังคับการตำรวจทางหลวงทุกนายที่รับทำสำนวนด้วยความวิริยะ อุตสาหะ
  3. พ.ต.ท.จิรวุฒิ ขวัญคุ้ม สวญ.ส.ทล.1 กก.8 บก.ทล. ที่ให้คำชี้แนะ แนะนำและให้แนวทางปฏิบัติจนการดำเนินการลุล่วงไปได้ด้วยดี
  4. ท่านพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงชลบุรี ที่ช่วยรับสำนวนและทำให้กฎหมายที่แทบจะเสมือนไร้สภาพบังคับให้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายได้จริง
  5. ท่านผู้พิพากษาศาลแขวงชลบุรี ที่มีคำพิพากษาเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาในคดีนี้

     ขอบคุณน้องผู้ต้องหา ซึ่งเป็นคดีแรกที่ถูกนำมาฟ้อง  เสมือนเป็นครูผู้สอน  และจะเป็นคดีนำร่องที่จะได้ดำเนินคดีกับผู้ที่ละเลยไม่นำพาต่อกฎหมายต่อไป  สามารถทำคดีพวกนี้ได้โดยไม่ต้องสอนหรือขอตัวอย่างสำนวน เพียงแต่รอว่าใครจะเป็นผู้เริ่มก่อนเท่านั้น  ตอนนี้ผมเริ่มเป็นตัวอย่างแล้ว ก็เหลือแต่น้องๆ แหละครับว่าจะสานต่อ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายหรือไม่ อย่างไร

ขอบคุณครับ
พ.ต.ท.เสมอ  ฉวีนวล
รอง ผกก.(สอบสวน) ส.ทล.1กก.8 บก.ทล.





     สำหรับประเทศไทยนั้นจัดว่ามีอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก( น่าจะอันดับ 2 ที่มีการสำรวจในปี 2551 )  น่าภูมิใจมั๊ยล่ะครับ   สาเหตุมีหลากหลาย  แต่ที่ต้องมีแน่ ๆ คือ "ขับขี่ด้วยความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด"  ถนนทั่วไปกำหนดให้รถยนต์ไม่เกิน 90 กม./ชม.(เว้นมอเตอร์เวย์ ที่ให้ถึง 120 กม./ชม.)   หลายคนพยายามเถียงว่ากฎหมายมันล้าสมัยแล้ว  รถเดี๋ยวนี้สมรรถนะดีกว่าก่อน  สามารถทำความเร็ว 160 กม./ชม. สบาย ๆ   แก้กฎหมายกันดีกว่า ฯลฯ

     เอิ่ม .... คุณเคยทราบมาตรฐานการทดสอบการชนมั๊ยครับ เขาอยู่ที่ประมาณ 64 กม./ชม. เท่านั้น  เป็นมาหลายปีแล้วด้วย  วิศวกรหีดจับมากนะครับกว่าจะให้ผ่านกันได้   ใช้รถใช้ถนนต้องคำนึงถึงส่วนรวมครับ เพราะถนนเป็นของสาธารณะ  ต้องแบ่งกันใช้  จึงต้องมีกฎของความปลอดภัย   แล้วการจำกัดความเร็วที่ 90 กม./ชม. นี่ก็เป็นมาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก  ทำไมตอนไปต่างประเทศถึงเคารพกฎหมายเขาได้ บอกว่าประเทศเขาดีอย่างนั้น อย่างนี้  แต่พออยู่เมืองไทย กลับไม่เคารพกฎหมาย  ไม่รู้ว่าที่บ้าน ที่โรงเรียน สอนกันมาอย่างไร    ขับรถเร็วนี่คุณมีโอกาสเป็นฆาตรกรได้ง่าย ๆ เลยนะครับ   ไอ้ที่ว่าขับเป็น ขับเก่งแล้ว  เห็นมาเยอะครับ  สภาพกลายเป็นกองก้อนเนื้ออยู่บนถนน  ไม่เชื่อตำรวจ ก็ไปถามกู้ภัยแถวบ้านดู

ปล. ขับ 90 กม./ชม. นี่นอกจากปลอดภัยแล้ว ยังประหยัดน้ำมันอีกด้วยนะครับพี่น้อง

ความคิดเห็น

  1. ผมอยากทราบว่าในกรณีที่ผมมีหลักฐานยืนยันว่าไม่ได้ขับความเร้วเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด แต่ทางตำรวจใบแจ้งให้จ่ายค่าปรับ กรณีนี้ผมสามารถฟ้องเอาผิดกับทางตำรวจเนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ฟ้องได้ครับ แต่ต้องดูที่หลักฐาน ทางตำรวจน่าจะอิงกับเครื่องมือตรวจความเร็ว ที่มีการสอบค่าเป็นประจำ

      ลบ
  2. ได้ครับ ลองดูเลย จะได้เป็นมาตรฐานให้กับสังคมได้ด้วย

    ตอบลบ
  3. ในกรณีที่ผมมารายงานตัวตามหมายเรียนแล้ว แต่ปฎิเสทข้อกว่าวหาว่าไม่ได้เป็นผู้ขับรถกระทำความผิดดังกว่าว และมีหลักฐานพิสูจน์ได้ ผมสามารถฟ้องร้องพนักงานสอบสวนผู้ทำคดีได้หรือไม่ครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ฟ้องได้ครับ แต่ศาลจะพิจารณาจากเจตนาของ พงส. ว่าเป็นไปด้วยความสุจริตหรือไม่ ครับ

      ลบ
  4. มีใบส่งมาที่บ้านให้ไปจ่ายค่าปรับ
    แต่ยี่ห้อรถที่ระบุมาในเอกสารไม่ตรงกับรถต้องทำยังไงค่ะ

    ตอบลบ
  5. สวัสดีค่ะ. ขอสอบถามหน่อยคะ. พอดีโดนใบสั่งคะ แต่ไปจ่ายเรียบร้อยภายในเวลาที่กำหนด แต่พอยุไปไม่นานมีหมายมาถึงบ้านคะว่าไม่ได้จ่าย กรณีนี้ต้องทำไงดีคะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น