เป็นอะไรที่มากกว่า ฝากบ้านไว้กับตำรวจ


โครงการฝากบ้านไว้กับตำรวจ ถือเป็นโครงการที่ในทุกเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ประชาชนที่ออกเดินทางท่องเที่ยว  ทิ้งบ้านไปหลายวัน จะต้องมาเข้าโครงการฝากบ้านฯ กับสถานีตำรวจท้องที่  ซึ่งผ่านมาหลายปี  เกือบ 100% ไม่มีปัญหาอะไร   เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถส่งคืนบ้านพักได้ในสภาพปกติ

     แน่นอนว่าการทิ้งบ้านไปหลาย ๆ วัน  มันก็จะมีสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถนำติดตัวไปเที่ยวด้วยได้ เช่น ต้นไม้ หรือสัตว์เลี้ยง   บางทีประชาชนผู้เข้าร่วมโครงการก็ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาตรวจประจำทุกวัน ช่วยรดน้ำต้นไม้ หรือให้อาหารปลา บ้าง   จากในรูปเจ้าของบ้านเขียนโน้ตเล็ก ๆ ฝากไว้ให้ช่วยดำเนินการ  ถ้าตำรวจไม่ทำ ทั้งปลา ทั้งต้นไม้ มีหวังตายแหงแก๋ 

     ก็ถือเป็นความสัมพันธ์ในมุมน่ารัก ๆ ระหว่างตำรวจกับประชาชน  หวังว่าโครงการอย่างนี้จะช่วยยกภาพลักษณ์ของตำรวจให้ดีขึ้นได้บ้างนะครับ


     ในทางกลับกัน เมื่อเกิดความเสียหายแก่บ้านพักที่เข้าร่วมโครงการ ก็มีตัวอย่างคำพิพากษา ดังนี้ 

     คำพิพากษา ตำรวจเจอฟ้องแพ่ง ในโครงการฝากบ้านไว้ กับตำรวจ กรณีเจ้าของบ้านฝากบ้านไว้กับตำรวจแล้วของหาย ตำรวจเจอฟ้องเพ่งเรียก 2 แสน ศาลสั่งจ่ายแค่ 1 หมื่น ..... ในคำพิพากษา อธิบายไว้ดี ว่าองค์กรตำรวจ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่ไม่มีหน้าที่ โดยตรงในการไปเฝ้าบ้าน หรือรับผิดชอบทรัพย์สิน ในบ้านของประชาชนรายใดรายหนึ่ง เป็นพิเศษ แม้ปรากฏว่าตำรวจออกปฏิบัติ หน้าที่ตรวจท้องที่ไม่ดีแล้ว โจรเข้าลักทรัพย์ในบ้านของประชาชนรายใดเข้า ตำรวจก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ในทางแพ่งต่อผู้ทรัพย์สินหายรายนั้น

     แต่เมื่อองค์กรตำรวจ ไปทำโครงการฯ เท่ากับเป็น การสร้างหน้าที่ขึ้นใหม่ ทั้งที่ไม่มีหน้าที่ เป็นการทำสัญญาประชาคม กับประชาชน โดยสัญญาว่าองค์กรตำรวจ จะดูแลรับผิดชอบทรัพย์สิน ของประชาชนรายนั้น ให้เป็นพิเศษ ดังนั้นหากองค์กรตำรวจ ไปสร้างหน้าที่แล้ว ทำหน้าที่ไม่ดีมีของหาย องค์กรตำรวจ ก็ต้องรับผิดชอบจ่ายค่าเสียหายนั้น แก่คู่สัญญา เพราะละเว้นหน้าที่

     ในส่วนของการไล่เบี้ย ตำรวจสายตรวจ- สายสืบท้องที่ทุกผลัด รวมตลอดถึงผู้บังคับบัญชา ของโรงพัก หากได้ออกตรวจตรา ตามปกติแล้ว ต้องไปดูด้วยว่า ตร. สั่งแนวทาง ให้ดูแลบ้านที่ฝาก เป็นพิเศษอย่างไรหรือไม่ และได้ทำตามนั้นหรือไม่ การที่ทรัพย์หายจึงมิใช่กรณีจงใจ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของตำรวจผู้ใด เมื่อ องค์กร จ่ายไปแล้ว จึงไม่สามารถ มาไล่เบี้ยกับ ตำรวจผู้ปฏิบัติงานได้ ส่วนประเด็นวินัยก็คล้ายกัน คือ ต้องดูการตรวจตราตามปกติ และการออกตรวจตรา เป็นพิเศษตามแนวทางที่ ตร. สั่งการไว้แล้วเช่นกัน ดังนั้นหากทำแล้ว แม้ทรัพย์ยังหาย ตำรวจก็ไม่บกพร่อง แต่ถ้าปฏิบัติไม่ครบ ก็อาจต้องรับผิดทางวิสัยกันไปตามส่วน




     คนบกพร่องที่สุด คือผู้ออกโครงการฯ เพราะดันไปสร้างหน้าที่ใหม่ ให้องค์กรทั้งๆ ที่องค์กรมิได้มีหน้าที่นั้น ด้านดีของคำพิพากษานี้ก็มี คือ ในช่วงปีใหม่ ตำรวจ ควรออกตรวจตราท้องที่ ตามปกติ การเน้นตรวจที่จุดใด เป็นพิเศษ ให้เป็นไปตาม สภาวะการณ์และดุลยพินิจ ของ จพง. ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์นั้น การที่ตำรวจท้องที่ ได้รับคำสั่งให้ต้องรับผิดชอบ บ้านหลังใดเฉพาะ นั่นหมายความในเชิงตรรกะว่า ในเวลาเดียวกันตำรวจจะไม่ได้ ไปดูแลบ้านหลังอื่น หรือมีเวลาดูแลบ้านหลังอื่น น้อยลง เป็นการใช้กำลังคนไปดูแล แค่บางจุดบางส่วน เป็นการทุ่มทรัพยากร ลงไปที่จุดเล็กๆ ทั้งที่ควรกระจายทรัพยากร ออกไปให้กว้างๆ เป็นการทำให้เกิดประโยชน์ ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การดูแลกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่า กลับถูกละเลยและลดประสิทธิภาพลง การดำเนินโครงการนี้ จึงไม่ถูกต้องในหลักการ
     ดังนั้นถ้าตำรวจจะทำโครงการนี้ต่อไป ตำรวจจะต้องดูแลบ้านหลัง อื่นๆ ได้อย่างทัดเทียมกันด้วย จึงจะทำโครงการได้ ผลของคำพิพากษานี้ จึงน่าจะส่งผลให้โครงการนี้ ต้องเลิกไปหรือต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ .. องค์กรตำรวจก็น่าจะได้กลับไป รับบทการออกตรวจตรารักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไป ตามปกติ ไม่ใช่ใช้งบประมาณกำลังพลไปใช้ไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่รับผิดชอบขององค์กรอีกต่อไป ซึ่งเดือดร้อนเสียหายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


     สรุปโครงการฝากบ้าน คือทำเกินหน้าที่  ผู้ใหญ่ได้หน้า แม้จะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนบางส่วน  แต่ภาระมาตกอยู่กับตำรวจโรงพัก ที่ในเทศกาลก็งานชุกอยู่แล้ว  จะต้องมีภาระงานที่มากขึ้นกับการฝากบ้านฯ นี้อีก  เฮ้อ ... โรกพักโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง เป็นจุดแตกหักอีกแล้วสิ

ความคิดเห็น