สถิติคดีอาญาตำรวจไทย เก่งที่สุดใน 3 โลก !!


ถ้าพูดถึงการวัดผลการทำงานของตำรวจ  เพื่อน ๆ คงจะคุ้นเคยกับ "สถิติคดีอาญา 4 กลุ่ม"  ที่มีการติดตามความคืบหน้ากันทุก ๆ เดือน  และต้องมีผลการปฏิบัติที่ดีกว่าเป้าหมาย  กล่าวคือ หากมีคดีเกิดแล้วจะต้องจับกุมผู้ต้องหาให้ได้คิดเป็นกี่เปอร์เซนต์ โดยดูจากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง  เช่น  หาก 3 ปี ย้อนหลังมีคดีเกี่ยวกับทรัพย์เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 100 คดี สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้เฉลี่ยที่ 70 คดี  ปีนี้ ก็จะต้องมีการจับกุมผู้ต้องหาให้ได้มากกว่า 70 % นั่นเอง  โดยการคิดตัวชี้วัดนี้จะเน้นกันที่ กลุ่ม 1 และ กลุ่ม 2

สำหรับรายละเอียด สถิติคดีอาญา 4 กลุ่ม นั้น มีดังนี้
  • กลุ่ม 1 คดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ
  • กลุ่ม 2 คดีเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ฯลฯ
  • กลุ่ม 3 คดีความผิดตาม พ.ร.บ. ต่าง ๆ  เช่น ค้ามนุษย์ ลิขสิทธิ์ ป่าไม้ ฯลฯ
  • กลุ่ม 4 คดีทีรัฐเป็นผู้เสียหาย เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน การพนัน ฯลฯ
ดูรายละเอียดคดี 4 กลุ่มเพิ่มเติม คลิ๊ก

     จากสถิติปัจจุบัน กลุ่ม 1 ความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และ เพศ เฉลี่ยทั่วประเทศ อยู่ในระดับ 80 % ขึ้นไป(ตอนนี้บางโรงพักได้ 100% แล้ว)  ส่วนกลุ่ม 2 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ก็ประมาณ 70 % ขึ้นไปเช่นกัน  นั่นคือการรับคดีแล้วสามารถจับกุมตัวผู้ต้องหาได้นั้น มีสัดส่วนที่สูงมาก ๆ   ที่จับไม่ได้ก็อาจรู้ตัวผู้กระทำผิดแต่หลบหนีหมายจับ  หรือเป็นคดีไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด

     ถามว่าสถิติดังกล่าวตรงตามคดีที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ? .... แน่นอนว่าไม่อยู่แล้ว 

     แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสถิติคดีอาญาของไทย ? .... การรับคดีอาญาที่มีตัวเลขนั้น จะถูกกำกับด้วยสถิติย้อนหลัง 3 ปี  และนโยบายกำหนดให้ต้องจับกุมตัวผู้ต้องหาให้ได้ในสถิติที่ดีกว่าเดิม  ความกดดันจะถาโถมใส่หัวหน้าสถานี  ทำให้ไม่สามารถรับทุกคดีที่เกิดขึ้นจริงได้  จะรับคดีที่รู้ตัวผู้ต้องหาเป็นหลักก่อน  คดีอื่นถ้าเลี่ยงได้ก็จะรับเรื่องไว้ดำเนินการ แต่ยังไม่ตัดเลขคดี  แน่นอนว่าหากยังทำกันอย่างนี้ อีกไม่กี่ปี สถิติการจับกุมผู้ต้องหาจะเป็นร้อยเปอร์เซนต์แน่ ๆ  แต่แน่นอนว่าเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ  เพราะสถิติเหล่านี้ ได้มาจากการปิดบังตัวเลขที่แท้จริง ในการรับคดีนั่นเอง

     แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. จะได้มอบนโยบายในหลายวาระ หลายปีที่ผ่านมา ให้ "รับคดีตามจริง"  แต่ด้วยความกดดันจากสถิติดังกล่าว  จึงยังไม่สามารถรับคดีตามจริงได้  ก็ไม่รู้เมื่อไหร่เราจะเลิกทำงานแบบโกหก ตอแหลใส่กัน แล้วยืดอกยอมรับความจริง ทำงานบนพื้นฐานของตัวเลขที่ถูกต้องเสียที  นี่ก็เป็นการปฏิรูปการทำงานของตำรวจแบบหนึ่งเหมือนกัน  ไม่แน่ถ้าได้ตัวเลขคดีจริง ๆ มา  เราอาจได้เห็นภาพรวม หรือมุมมองใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาก็เป็นได้

ปล. สถิติ หรือข้อมูลประเทศไทยแทบทุกเรื่องมันเพี้ยน ๆ เป็นสถิติ ข้อมูล ตัวเลขที่ตกแต่งมาให้ส่วนราชการของตัวเองดูดีมาตลอด

ความคิดเห็น