ฉีกหัวใจตำรวจใครเจ็บปวด?

อะลุ่มอล่วย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โกรธง่ายหายเร็วและความเป็นสังคมเครือญาติเป็นลักษณะหนึ่งของคนไทยที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจำเป็นต้องนำมาใช้เป็นข้อพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบงานยุติธรรมด้วย
    
             การเบี่ยงคดีเป็นตัวอย่างรูปธรรมของความจำเป็นในการบริหารงานยุติธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมไทย ดังจะเห็นได้ว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยในปัจจุบัน ทั้งชั้นบังคับคดี ชั้นการพิจารณาคดีในศาล หรือแม้แต่ก่อนชั้นพนักงานอัยการก่อนเข้าสู่การพิจารณาคดี มีการนำการเบี่ยงคดี การไกล่เกลี่ยคดีมาใช้มากขึ้นซึ่งในหลายๆประเทศพบว่ามีความสำเร็จในการนำพาสังคมไปสู่ความผาสุกสูง
    
             การเบี่ยงคดี การไกล่เกลี่ยคดีสามารถทำให้คดียุติลงโดยคู่กรณียังคงเกิดความรักสามัคคีและมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่พกพาความโกรธแค้น อาฆาต ผูกพยาบาท ทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไปในสังคมเดียวกันได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นคนละพวก คนละฝ่าย เป็นคู่อาฆาตที่จ้องจะจับผิดจับพลาดกันอย่างไม่มีความสุข ไม่มีความสงบ
    
             ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ไม่มีกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีที่เป็นทางการ เป็นระบบ และเป็นธรรมในกระบวนการสอบสวนในส่วนงานตำรวจ
    
             ทั้งๆ ที่งานสอบสวนในส่วนงานตำรวจซึ่งเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมนั้นมีจำนวนปริมาณคดีมากกว่าชั้นศาลหลายเท่านัก !!!! งานสอบสวนเป็นหัวใจของงานตำรวจในการบังคับใช้กำหมาย
    
             ผิดพลาดมาก ที่คิดแก้ปัญหางานสอบสวนโดยคิดที่จะแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    
             แต่ถูกต้องอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องหันกลับมาใส่ใจ เปิดใจ และยอมรับความจริงว่างานสอบสวนในส่วนงานตำรวจมีปัญหา และจำเป็นต้องแก้ให้ตรงจุด ตรงต้นตอ ตรงสาเหตุที่มาแห่งปัญหาโดยใช้ปัญญา ไม่ใช้อคติ มิเช่นนั้น คนที่ได้รับผลกรรมเบื้องต้น คือ ประชาชนและประเทศชาติ หาใช่ตำรวจไม่ !!!
    
             ในโลกของพนักงานสอบสวน การดำคดี การบิดคดี การปกปิดสำนวน การไม่รับ(ลงเลข)คดี การมีสมุดรับคดีหลายเล่ม(จนบางทีพนักงานสอบสวนเองก็ยังสับสนว่าลงไว้เล่มไหน)ล้วนมีอยู่จริง !!!!
                 
             เพราะอะไร? มีหลายสาเหตุ หลายปัจจัย เช่น
                 
             เพราะนาย และผู้มีอำนาจไม่เปิดใจและไม่ยอมรับความจริง ไม่บริหารงานสอบสวนตามสภาพปัญหาอาชญากรรมตามความเป็นจริง(เข้าข่ายชอบให้ลูกน้องหลอกลวงด้วยความยินดียิ่งเพราะคนหลอกลวงต้องรับผลกรรมคนเดียว)
                 
             ตัวอย่างเช่น การใช้ปริมาณคดีที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน แต่ละปีเป็นเกณฑ์ตัดสินความสำเร็จของงานตำรวจและต้องลดลงตามเป้าเป็นตัวอย่างสำคัญของการเบี่ยงเบนปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนคดี การไม่ยอมรับคดี หรือการรับแจ้งแต่ไม่ลงบันทึกในสารบบคดี ทำให้ไม่ทราบคดีที่เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการแต่ละคดีได้ และส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างแท้จริง
    
             “ถ้าตรวจพบ โทษลงทัณฑ์ถึงที่สุด” นี่คือวาทกรรมของผู้ที่คิดแต่อยากจะเป็นนาย แต่ไม่คิดอยากทำหน้าที่บริหารงานสอบสวนมักนิยมใช้
    
             การแยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งผลเสียหายใหญ่หลวงต่อประชาชนแน่นอน มิใช่บอกว่าการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเรื่องงานสอบสวนดีอยู่แล้ว เพราะถ้าดีคงไม่ทำให้พนักงานสอบสวนส่วนหนึ่งคิดว่า "เอาวะ!! ไปตายดาบหน้า...ยังไงข้าก็เสมอตัว” ซึ่งคิดผิด เพราะมีสิทธิ์ได้ตายสมใจอยากแน่นอน !!??!! จากปัญหารุมเร้าที่มากกว่าเดิม
    
             สิ่งสำคัญที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างแน่นอนถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนนี้สามารถทำให้ผู้บังคับบัญชาตำรวจในทุกระดับ ตั้งแต่หัวหน้าสถานีตำรวจไปจนถึงผบ.ตร. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานสอบสวนด้วย ไม่ใช่ทำหน้าที่แต่เพียงผู้ตรวจสอบเร่งรัดการสอบสวน โดยผลักภาระในงานสอบสวนไปให้พนักงานสอบสวนอย่างไม่สนใจไยดีว่าจะมีปัญหาอะไรบ้างในการทำสำนวน ... ขอท้าทาย(ด้วยทัศนคติที่ดี)
    
             นายๆ และผู้มีอำนาจทั้งหลายที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวงทบวงกรมเคยรู้บ้างไหมว่า
    
             พนักงานสอบสวนต้องใช้เงินส่วนตัวในการส่งศพ ส่งพยานหลักฐานไปตรวจพิสูจน์ โดยไร้ความสนใจไยดี นอกจากคำข่มขู่ว่า "ถ้าไม่ส่งไปตรวจแล้วสำนวนบกพร่องเสียหายจะพิจารณาลงทัณฑ์”

             เคยรู้บ้างไหมว่า ผู้ชำนาญการซึ่งทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐานต่างๆ มีน้อยมาก ขาดแคลน หลักฐานบางอย่างต้องส่งตรวจไกลมาก ทำให้มีปัญหาในการติดตามเร่งรัด มีปัญหาในการขอรับผลตรวจ ผลตรวจออกช้า นี่คือตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นที่
    
             ส่งผลให้งานสอบสวนล่าช้า คั่งค้าง และส่งผลต่อความเข้าใจผิดของผู้เสียหาย และประชาชน รวมถึงบั่นทอนจิตใจของพนักงานสอบสวน ทำงานอย่างคนขวัญเสีย ไร้จิตวิญญาณ
    
             โปรดทบทวนว่างานสืบสวนและงานสอบสวนแยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะหากแสวงหาพยานหลักฐานมาได้ (งานสืบสวน) แต่ไม่ได้ถูกนำเข้าสำนวน (งานสอบสวน) ย่อมส่งผลให้การดำเนินคดีไม่บรรลุวัตถุประสงค์ งานสืบและงานสอบต้องร่วมมือกัน
    
             นี่ขนาดอยู่ในหน่วยงานเดียวกันนะ ถ้าอยู่คนละหน่วยงานอะไรจะเกิดขึ้น บอกได้เลย กรรมตกอยู่กับประชาชนคนเล็กคนน้อยผู้ไร้เส้นในสังคมแน่นอน
    
             ก่อนคิด ก่อนพูด (หรือเขียน) และก่อนลงมือทำอะไร โปรดพิจารณาศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งถึงประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปก่อน
    
             เพราะ ท่านไม่สามารถรับผิดชอบผลกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้หรอก หากทำให้คนทั้งสังคมเดือดร้อน

ฉีกหัวใจตำรวจใครเจ็บปวด? : โลกตำรวจ โดย ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข  / ขอบคุณบทความจาก คมชัดลึกออนไลน์  /ภาพจาก ไทยพีบีเอส





     นับเป็นอีกครั้งนะครับ ที่ อ.ปนัดดาฯ  เขียนบทความในแบบที่เข้าใจตำรวจได้ดี  รู้จักการทำงาน และวัฒนธรรมดีทีเดียว  ตีแสกหน้าบรรดา สนช. หรือกรรมาธิการปรับโครงสร้างตำรวจ  ที่ไม่รู้เรื่องตำรวจเลย ไม่ใช่แค่เรื่องการแยกงานสอบสวนเท่านั้น

     อีกเรื่องคือการรับสำนวนก็กล่าวไว้ได้ตรงจุดครับ เป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว กับการเปรียบเทียบคดีเกิดในห้วงเดียวกันของปี  สถิติการเกิดจับ  คดีเกี่ยวกับทรัพย์ไม่รู้เท่าไหร่ ที่ไม่ได้รับคดี เพราะกลัวจะเสียสถิติ  ตัวชี้วัด  แม้ว่าปีนี้จะมีคำสั่งให้รับคดีตามจริง  ก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้แค่ไหน

     ส่วนปัญหางานสอบสวนนั้นมีทั้งตัว พงส. เองที่มีปัญหา , ผู้บังคับบัญชา ไม่สนับสนุน กำกับดูแล และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ฯลฯ  ซึ่ง สตช. นั่นแหละที่จะต้องระดมรับฟังความคิดเห็น  จากทุกฝ่าย แล้วหาทางแก้ไข  ไม่ใช่ปล่อยให้ระดับผู้ปฏิบัติจัดการกันเอง  จนเป็นปัญหาอย่างทุกวันนี้

ความคิดเห็น