ความเครียด และการฆ่าตัวตายของตำรวจ

อาชีพตำรวจถือได้ว่าเป็นอาชีพที่มีความเครียดสูงมากอาชีพหนึ่ง  เพราะมีเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่างมารุมเร้ารอบด้าน  จะเห็นได้ว่าเราจะได้ยินข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเครียดจัดยิงตัวตายอยู่บ่อย ๆ  ทางโรงพยาบาลตำรวจได้เคยให้สถิติเกี่ยวกับเรื่องการฆ่าตัวตายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2550 - 2555 ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
     - มีตำรวจฆ่าตัวตายเฉลี่ยปีละ 31 คน
     - ช่วงอายุที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดอยู่ระหว่าง อายุ 41 - 50 ปี
     - ชั้นยศที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ นายดาบตำรวจ
     - สายงานที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดคือ สาย ป.
     - กองบัญชาการที่มีการฆ่าตัวตายมากสุด 3 อันดับ คือ ภ.5 , ภ.3 และ น.
    น่าจะมีการสำรวจเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ ดูบ้าง  ว่ามีปัจจัยอะไรที่แตกต่าง(อย่างนึงเพราะเรามีปืน) และจะบรรเทาความเครียดได้อย่างไร  ผู้บังคับบัญชาจะทำอะไรได้บ้าง(ไปยุ่งมากอาจโดนยิงเสียเอง)  หรือทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีมาตรการใดเพื่อป้องกันชีวิตพี่น้องข้าราชการตำรวจ  ไม่ให้สูญไปปีละกว่าสามสิบคน
     ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของตำรวจมีหลายประการ เช่น
     - ปัจจัยเรื่องงาน ที่มีการสั่งการเข้ามามากมาย โดยเฉพาะงานธุรการ ที่มีเรื่องต้องรายงานมากมาย รายงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด(ในโรงพักบางแผนกงานมีธุรการคนเดียว)  คนสั่งรายการก็สั่งแล้วทิ้งเลย ไม่รู้ว่าต้องรายงานถึงเมื่อไหร่  เป็นอย่างนี้ถมกันไปเรื่อย ๆ จนล้นมือ
     - เรื่องเศรษฐกิจ  อาชีพตำรวจนั้นส่วนมากต้องออกพื้นที่  อยู่ในพื้นที่  มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การกิน  วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกน้อง  ประกอบกับเงินเดือนที่ไม่สมดุลกับภาระการใช้จ่าย
     - สั่งการโดยไม่มีงบประมาณ เป็นแบบนี้มานานแล้ว  สั่งให้ไปทำอะไร ต้องทำให้ได้ ห้ามถามเรื่องงบประมาณ  ตั้งแต่ระดับ ตร. มาจนถึงระดับโรงพัก  สรุปว่าต้องควักจ่ายเองหมด เช่น สั่งให้ไปหาข้อมูลกลุ่มมวลชน บอกแค่นั้นไม่มีงบให้ คนรับคำสั่งก็ต้องทำ อะไรแบบนี้
     - วัฒนธรรมองค์กร ที่ต้อง "ดูแล" เจ้านาย  ถ้าเจ้านายรู้จัก พอประมาณ หรือเห็นใจผู้ใต้บังคับบัญชา บ้าง คงไม่ต้องเครียดกันมากนัก  แต่ความเป็นจริงคือ เจ้านายมักจะอยากได้นั่น อยากทำนั่น ฯลฯ ซึ่งมันเงินทั้งนั้น  อยู่เฉย ๆ บ้างได้มั๊ย
     - การโยกย้าย ไม่ได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะที่อยากย้ายกลับภูมิลำเนา เพื่ออุปการะครอบครัว และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
     - การเปลี่ยนหน้าที่ ไปทำหน้าที่ที่ไม่ถนัด ไม่เคยทำ บางคนทำใจไม่ได้ ปรับตัวไม่ได้ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
     - การติดสุรา ปัจจุบันมี ตร. ที่ติดสุราเรื้อรังอยู่ไม่น้อย และยิ่งดื่มก็ยิ่งเครียด ไม่ได้แก้ปัญหา
     - ปัญหาสุขภาพ  อาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่ใช้สุขภาพสิ้นเปลืองมาก  ทั้งการนอน การกิน ที่ไม่เป็นเวลา , การสูดดมควัน ไอเสียทุกวัน
     - การทำงานที่เสี่ยงอันตราย ทั้งสายตรวจ และสายสืบ ที่เมื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่ มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้กลับบ้าน  เสื้อเกราะ อาวุธปืน กุญแจมือ ต้องหาซื้อเอง  ยิ่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชายแดน ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ
     ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของปัจจัยความเครียดของเจ้าหน้าที่ตำรวจครับ  ยังไงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรหามาตรการป้องกัน แก้ไข โดยด่วนครับ  ส่วนเพื่อนข้าราชการตำรวจ ถ้าเห็นเพื่อนร่วมงาน มีอาการซึม เครียด เศร้า เหม่อลอย ยังไงก็ลองคุยปรับทุกข์กันหน่อยครับ  อาจเป็นการช่วยชีวิตเขาเลยก็ได้ครับ ....



ความคิดเห็น

  1. นายเขาไม่ก่มหน้ามามองถึงปัญหาหลอกครับ ห่วงแต่ตำแหน่งตัวเอง

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น