ปฏิรูปตำรวจ ฉบับผู้ปฏิบัติ

หลายยุค หลายสมัยที่ผ่านมา องค์กรตำรวจได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง และมีการเรียกร้องให้ "ปฏิรูป" อยู่หลายครั้ง  ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับโครงสร้างกันไปแล้วหลายครั้ง  แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ของประชาชนอยู่ดี  เป็นเพียงการปรับให้มีนายพลเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น  
     ข่าวการปฏิรูปล่าสุดก็เช่นกัน เห็นว่าจะมีการปรับโครงสร้างเป็นกระทรวง ให้กองบัญชาการต่าง ๆ มีฐานะเทียบเท่ากรม  ดูแล้วเข้าอีหรอบเดิม  ประชาชนไม่ได้อะไร และโรงพักเป็นจุดแตกหักเหมือนเดิม
     ขอเสนอในฐานะผู้ปฏิบัติครับ ถ้าจะปฏิรูปตำรวจให้เข้าถึงปัญหา และแก้ไขให้ประชาชนได้ประโยชน์   ซึ่งสามารถทำได้ในโครงสร้างเดิม และไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมแต่อย่างใด ดังนี้ครับ
     - การลดงานเอกสาร งานธุรการ  ในปัจจุบันนี้งานเอกสารในสถานีมีมากเหลือเกิน และมีทีท่าว่าจะมากขึ้นทุกวัน  มีเรื่องต่าง ๆ ต้องรายงานซ้ำซ้อนในทุกเดือน  รวมทั้งการตรวจราชการต่าง ๆ ทั้ง โรงพักเพื่อประชาชน , ตัวชี้วัด , จเร , ตส. , อีอินสเปกเตอร์ ฯลฯ   หากลดงานเอกสารลงได้ จะทำให้จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจในการลงพื้นที่เพื่อควบคุมอาชญากรรมได้มากขึ้น 
     - ลดการยืมตัว การช่วยราชการ ต่าง ๆ  ในทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจตามสถานีต่าง ๆ ถูกเรียกตัวมาช่วยราชการ มาปฏิบัติราชการ ที่กองบังคับการ หรือ กองบัญชาการมากมาย  ทำให้พื้นที่มีปัญหา กำลังพลไม่เพียงพอ  หากลดงานเอกสารลงได้แล้ว  การช่วยราชการก็จะน้อยลงไปด้วย(ไปกองตามสำนักงานผู้บังคับบัญชาอีกเท่าไหร่)
     - ปัญหายานพาหนะไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่  อย่างแรกที่แก้ปัญหาได้ดีก็คือ รถยนต์เช่า เพราะไม่ต้องเป็นภาระเรื่องการดูแลรักษา  แต่ก็ยังถูกหน่วยเหนือทั้ง บก. และ บช. ยืมรถไปใช้ ทำให้ทางสถานีขาดแคลนอีก  / อย่างที่สองคือ รถจักรยานยนต์ ที่ซื้อยี่ห้อประหลาด ๆ อย่าง ไทเกอร์  ทำให้ไม่สามารถหาศูนย์ซ่อม หรืออะไหล่ ได้(บริษัทเจ๊งไปแล้ว)  ทำให้ ตร. ต้องใช้รถส่วนตัวออกตรวจ
     - เบี้ยเลี้ยง ไม่เพียงพอต่อภาระงาน  จะเห็นได้ว่าตำรวจเป็นอาชีพที่ไม่มีวันหยุด ยิ่งช่วงเทศกาล ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น  หากนับชั่วโมงทำงานเฉลี่ยเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมงแน่นอน แต่ค่าตอบแทนล่วงเวลา ต่อเดือนได้ไม่กี่ร้อยบาท  ถามว่าแล้วเบี้ยเลี้ยงส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ไหน ตอบว่าอยู่กับกองบัญชาการ และกองบังคับการครับ  กั๊กเอาไว้(น่าจะเผื่อไว้ใช้ในการควบคุมฝูงชน) พอปลายปีก็เทมาให้หน่วยปฏิบัติแบบหักส่วนแบ่ง  ซึ่งจริง ๆ ต้องมีการคำนวณชั่วโมงทำงานตามหลักการจัดสายตรวจ  จะรู้ว่าได้ค่าล่วงเวลาคนละกี่ชั่วโมง  ทำงานมากก็ต้องได้ค่าตอบแทนตามสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติ(ดูอย่างทหาร สาธารณสุข เป็นตัวอย่าง จะทำงานเมื่อมีงบประมาณเท่านั้น)
     - การสั่งการที่ต้องใช้งบประมาณ แต่ดันสั่งปากเปล่า  เช่น ทำป้ายตามวาระต่าง ๆ , จัดอบรมอาสาสมัคร , ทาสี ฯลฯ  ประมาณว่าให้หัวหน้าหน่วยหรือผู้รับคำสั่งใช้ความสามารถเฉพาะตัว ซึ่งก็ไม่พ้นต้องไปขอจากพวกเทา ๆ ทั้งหลาย  ทำให้เกิดการเกรงใจและเป็นที่มาของผู้มีอิทธิพลไม่จบสิ้น  หนำซ้ำคนสั่งยังบอกอีกครับว่า ถ้าทำไม่ได้ ผมจะให้คนที่ทำได้มาทำแทน  ....  แหม่ สั่งอย่างนี้ใครก็เป็นได้ครับ




     - ยุบตู้ยามสายตรวจที่ไม่จำเป็น  เพื่อนำกำลังพลมาเป็นสายตรวจรถยนต์ จยย. ดีกว่า  แบ่งเขตตรวจ แบ่งผลัด ให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น  เพราะทาง สตช. ก็ไม่ได้ดูแลอะไรตู้ยามอยู่แล้ว  สร้างก็สร้างเอง ไม่ได้ใช้เงินหลวง  เบิกค่าไฟฟ้า ประปาก็ไม่ได้  ตำรวจที่ไปประจำตู้ยามก็ต้องอยู่อย่างน้อย 24 - 48 ชั่วโมง โดยที่ส่วนใหญ่ไม่มียานพาหนะของทางราชการ และได้รับน้ำมันเพียงเล็กน้อย  คิดกันบ้างไหมว่าตำรวจชั้นผู้น้อยจะอยู่อย่างไร
     เหล่านี้ครับ จะเห็นได้ว่าไม่ต้องปรับโครงสร้างอะไร  สามารถเริ่มทำได้ทันที  และประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง และทำให้ตำรวจมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น  แต่สูตรนี้จะทำให้ระดับนายพลเสียประโยชน์  เชื่อว่าไม่สำเร็จแน่นอน ฮา
     หลายครั้งที่ผู้บังคับบัญชา หรือ คณะจเร มาตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติ  พอถึงช่วงปัญหา ข้อขัดข้อง บอกให้เสนอมาได้ เว้นเรื่องงบประมาณและกำลังพล  ส่วนมากก็เลยบอกไปว่า ไม่มีปัญหา ข้อขัดข้อง หรืออุปสรรคใด  เพราะรู้ว่าพูดไปก็เท่านั้น  เสียเวลา และเปลืองน้ำลาย ฮ่วย




ความคิดเห็น

  1. เห็นควรให้มีการจัดลำดับคุณวุฒิที่ข้าราชการตำรวจมีอยู่แล้ว โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.เป็นนิติศาสตรบัณฑิต กลุ่มที่ 2. รัฐศาสตรบัณฑิต(โทกฎหมาย) กลุ่มที่ 3.ผู้ซึ่งมีวุฒิปริญญาตรีอื่นๆ(ซึ่งไม่ใช่กลุ่มวิชาชีพ แพทย์,วิศวะ,บัญชี) .............ส่วนต่อไปก็เป็นกระบวนคัดเลือกหรือสรรหา ซึ่ง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ก็ได้เปิดช่องไว้ให้อยู่แล้ว โดยให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการสำรวจตำแหน่งข้าราชการตำรวจ ที่ขาดหรือว่างลงทั่วประเทศ และสง.ตร.ทำแบบมาตราฐานของการประเมิน ส่งให้ทุกหน่วยงาน เพื่อประเมินหาข้าราชการตำรวจที่มี คุณสมบัติ คุณวุฒิ วัยวุฒิ(อาวุโส) ที่เข้าตามหลักเกณฑ์ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด แล้วให้แต่ละหน่วยงานส่งชื่อผู้ผ่านหลักเกณฑ์ข้างต้นในระดับกองบัญชาการ ขั้นตอนสุดท้ายคือ ให้ สง.ตร.เป็นผู้ประเมินในขั้นสุดท้าย พร้อมทั้ง เปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ได้รับการประเมินทั้งหมดออกมา ยังสื่อสาธารณะ ดังตัวอย่างเช่น ครูยังทำการประเมินเพื่อเพิ่ม วิทยฐานะ เงินเดือน5-6หมื่น วุฒิจริงๆก็คุรุศาสตรบัณฑิตล่ะครับ
    ...........ถ้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถทำได้ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณในการจัดสอบ และยังช่วยกระตุ้นให้ข้าราชการตำรวจพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลสัมฤทธิในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอีกด้วยครับ
    .......กรณีของการพัฒนาระบบงานสอบสวนนั้น ในส่วนของวิธีการสรรหาบุคลากร ก็ไม่ยากอะไร เพราะ ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่สำเร็จการศึกษาเป็นนิติศาสตรบัณฑิต ก็มีเป็นจำนวนมาก เพียงแต่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่างระเบียบออกมารองรับ ตำแหน่ง "ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน"โดยคัดเลือกข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่มีวุฒิ นิติศาสตรบัณฑิต เข้าเป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นก็ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวนไปอีก 5 ปี ต่อเนื่องแล้วจึงปรับให้เป็นพนักงานสอบสวน ถ้าทำอย่างนี้ได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะได้พนักงานสอบสวนที่มีความรู้ ความชำนาญ และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ต้องเสียงบประมาณในการจัดสอบ
    .......กรณีเสนอตั้งหน่วยงานสอบสวนกลาง พัฒนาด้านวิชาการให้พนักงานสอบสวนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เห็นว่าควรตั้งเป็น "คณะกรรมการสอบสวนและสืบสวนกลาง" กรณีกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ให้มีคณะกรรมการสอบสวนและสืบสวนกลางประจำจังหวัด โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิประจำจังหวัดมาเป็นคณะกรรมการด้วย เช่น ตัวแทนอัยการประจำจังหวัด ตัวแทนคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยในท้องที่นั้น ตัวแทนจากสภาทนายความ เป็นต้น เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจของพนักงานสอบสวนกลางและเพื่อไม่ให้ถูกแทรกแซงตามสายบังคับบัญชาและการเมืองอีกด้วย
    .......กรณีค่าตอบแทนใหม่ ตามความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่า ควรแบ่งพนักงานสอบสวนเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือกลุ่มที่มีไม่มียศ ได้แก่ กลุ่มพนักงานสอบสวนที่มีวุฒินิติศาสตรบัณฑิตและเนติบัณฑิตไทย กลุ่มนี้ให้รับอัตราเงินเดือนเหมือนกับ พนักงานอัยการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้พนักงานสอบสวนไปสอบอัยการอีก
    กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มียศ ได้แก่ กลุ่มพนักงานสอบสวนที่มีวุฒินิติศาสตรบัณฑิตหรือนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษาแล้ว โดยให้ปรับประจำตำแหน่งให้ใกล้เคียงกับเงินเดือนของกลุ่มแรก เพื่อให้รายได้ ไม่แตกต่างจากกลุ่มแรกมากนัก

    ตอบลบ
  2. ...กระผมเชื่อโดยสุจริตใจว่าคำว่า "ปฏิรูปตำรวจ"นั้นหมายถึง การนำพาองค์กรตำรวจออกไปจากกรอบความคิดหรือ ออกไปจากแนวทางปฏิบัติไปจากเดิมๆแต่ยังคงไว้ ในส่วนที่ดีงามขององค์กร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    ...กระผมทราบดีว่าการปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องใหญ่มาก ย่อมมีท่านที่ไม่เห็นด้วยกับกระผมเป็นธรรมดาและกระผมก็ยินดีน้อมรับความคิดเห็นจากท่านเสมอ
    ...คำว่า"ประเมิน"ในความหมายของกระผมมิใช่การประเมินอย่างเดียวกับการประเมินในการพิจารณาขึ้นขั้นเงินเดือนระหว่างปี แต่หมายถึง ระบบการประเมินที่คล้ายกับการประเมินเพื่อเพิ่ม"วิทยฐานะ"ของครูทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนอาจแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมขององค์กรตำรวจ อันเป็นรายละเอียดปีกย่อย แต่หลักสำคัญคือ ขั้นตอน ขบวนการประเมิน จะต้องมีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ในทุกๆขั้นตอน
    ...กรณีนี้ กระผมเสนอให้นำเอกสาร ข้อมูล ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินทั้งหมด นำมาเปิดเผยเป็น"ข้อมูลสาธารณะ"หมายถึง เพื่อนๆข้าราชการตำรวจทุกท่าน สามารถเปิดเข้าไปดูในฐานข้อมูลได้ว่า เพราะเหตุใด ข้าราชการตำรวจ นาย ก.หรือ นาย ข.ถึงได้ผ่านการประเมินในรอบนี้ ด้วยคะแนนเท่าใด ถ้าพบว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ข้าราชการตำรวจท่านอื่นๆก็สามารถถ่วงติงได้ครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น