ทางเลือกระหว่าง บำนาญ VS. กบข.

ในปี พ.ศ.2557 จะมีการเปิดทางเลือกให้กับข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. และบรรจุเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกกลับใช้สิทธิรับบำนาญ ตาม พรบ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494  ทั้งที่ยังรับราชการอยู่ และผู้ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว
     ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้แจ้งความประสงค์ได้ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม  พ.ศ.2557 มาดูกันครับว่ามีความแตกต่างอย่างไรระหว่างเกษียณแบบ กบข. กับเกษียณแบบรับบำนาญสูตรเดิม  เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งครับ 

พ.ร.บ.บำนาญฯ

สูตร เงินเดือนสุดท้าย คูณเวลาราชการ หารด้วยห้าสิบ

ตัวอย่าง  สมชายฯ เกษียณ  มีอายุราชการ 40 ปี  เงินเดือนสุดท้าย 47,450 บาท

คิดบำนาญตามสูตร = (47,450 X 40)/50


สมชายฯ จะได้รับบำนาญเดือนละ 37,960 บาท

กบข.

สูตร เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณเวลาราชการ หารด้วยห้าสิบ แต่ให้ได้รับไม่เกิน 70 % ของอัตราเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

ตัวอย่าง  สมชายฯ เกษียณ  มีอายุราชการ 40 ปี  เงินเดือนสุดท้าย 47,450 บาท   มีเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 40,572 บาท
คิดบำนาญตามสูตร = (40,572 X 40)/50

สมชายฯ จะได้รับบำนาญเดือนละ 32,457 บาท  แต่รับไม่ได้  ให้รับได้ไม่เกิน 70 % ดังกล่าว  นาย ก. จึงได้รับเงินบำนาญเดือนละ 28,400 บาท

     จะเห็นได้ว่าส่วนต่างบำนาญสูตรเดิม จะได้รับเงินบำนาญมากกว่า เดือนละ 9,560 บาท !!  ส่วน กบข. จะได้เงินก้อนหนึ่งตอนเกษียณ แต่ไม่แน่ชัดว่าจะได้เท่าไหร่ อยู่ที่การบริหารกองทุน  ที่ว่าจะได้ 2 - 3 ล้านบาท ตอนเกษียณ เป็นการคำนวณช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ปี พ.ศ.2539  ในภาวะหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 40  คงไม่สามารถบริหารกองทุนให้เกิดกำไรขนาดนั้นได้(กองทุนรวมอื่น ๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน)  คุณสามารถไปคำนวณเงินได้ของ กบข. เปรียบเทียบ ได้ที่นี่ครับ  โดยลงทะเบียนให้เรียบร้อย แล้วกรอกรายละเอียดให้คำนวณได้เลย(เว็บไซต์ กบข.)


กรณีที่ประสงค์จะขอรับบำนาญฯ พ.ศ.2494 มีรายละเอียดดังนี้

กรณีข้าราชการปัจจุบัน

วันที่สามารถแจ้งความประสงค์
     วันถัดจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับ – 30 กันยายน 2557

หน่วยงานรับแจ้งความประสงค์
     หน่วยราชการต้นสังกัด

วันที่จะได้รับเงินจาก กบข.
     1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

เงินที่จะได้รับคืนจาก กบข.
1.             เงินสะสมและผลประโยชน์
2.             เงินสะสมส่วนเพิ่มและผลประโยชน์(ถ้ามี)
กรณีข้าราชการบำนาญ

วันที่สามารถแจ้งความประสงค์
     วันถัดจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับ – 30 มิถุนายน 2557

หน่วยงานรับแจ้งความประสงค์
     หน่วยราชการต้นสังกัด

การรับบำนาญสูตรเดิม
     จะได้รับย้อนหลังตั้งแต่วันออกจากราชการ – 30 กันยายน 2557

เงินที่ต้องคืนราชการ
     ผลต่างสูตรบำนาญ กับเงิน กบข. ยกเว้นเงินสะสม ด้วยวิธีหักกลบลบกัน

หมายเหตุ  1.กรณีส่วนต่างที่ ผู้รับบำนาญ ต้องคืน จะต้องเงินทั้งหมดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557  ส่วนกรณีส่วนต่างที่รัฐต้องจ่าย จะจ่ายคืนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
                   2.ส่วนข้าราชการที่รับราชการหลัง 27 มีนาคม 2540 นั้นไม่สามารถเปลี่ยนหรือยกเลิก กบข. ได้นะครับ



เพิ่มเติม   ก็มีคนถามกันมามากมายว่า ตกลงจะออกดีมั๊ย ? ก็ขอสรุปให้ทราบแนวทางกันแบบชัด ๆ ดังนี้นะครับ
     1. สำหรับท่านที่ไม่ประสงค์จะใช้เงินก้อน ถ้าท่านมีอายุราชการตั้งแต่ 38 ปีขึ้นไป และสุขภาพแข็งแรง น่าจะอยู่เกินอายุ 68 ปี   สมควรลาออกจาก กบข. ครับ  เพราะคำนวนแล้ว รายได้บำนาญของท่านจะมีมูลค่าทันเกินก้อน กบข. ในช่วงอายุ 68 ปีเป็นต้นไป  ยิ่งอยู่ยาว ก็มีบำนาญกินยาว ๆ และต่อเดือนก็มากกว่า
     2. สำหรับท่านที่ต้องการเงินก้อนไปลงทุนการค้า ซื้อที่อยู่อาศัย ปลดหนี้  ก็อยู่ต่อไปเถิดครับ  ท่านสามารถลองคำนวนเงินที่ท่านจะได้รับจากเว็บไซต์ของ กบข.(ตามลิงค์ด้านบน) ได้  ปกติจะออมกันอยู่ที่ 3 % ของเงินเดือน แนะนำให้เพิ่มการออมอย่างน้อยสัก 5 % ของเงินเดือน(สูงสุด 12%) จะได้มีเงินก้อนตอนเกษียณที่มากขึ้น เพราะผลตอบแทนเฉลี่ยของ กบข. อยู่ที่ 7 % ดีกว่าฝากเงินกับธนาคารอีก
     3. สำหรับท่านที่โรคภัยรุมเร้า คิดว่าอยู่ไม่เกิน 65(รู้ได้ไงฟระ ^^) อยู่ กบข. ต่อ เอาเงินก้อนมารักษาตัว หรือ เอาไว้ให้ลูกหลาน(ดีกว่ามาแย่งกันตอนตาย) ก็เป็นอีกทางเลือกครับ
     ปล. ต้องคำนวนและตัดสินใจด้วยตนเองให้ดีเสียก่อนนะครับ อย่าแห่ตาม ๆ กัน  สิ่งที่คุณเลือกจะมีผลกับอนาคตตัวเองนะครับ

ความคิดเห็น