รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเพื่อความสงบสุข ความผาสุก ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ด้วยภารกิจของรัฐดังกล่าว รัฐจึงมีอำนาจดำเนินคดีอาญาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ความสงบสุขของประชาชน โดยรัฐจัดให้มีกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ศาล เป็นองค์กรหลักในการดำเนินคดี
กระบวนการสอบสวนคดีอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องลงโทษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๑) ซึ่งการได้ตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนนั้น กระทำได้หลายวิธี เช่น การจับกุมกรณีความผิดซึ่งหน้า การออกหมายจับ การออกหมายเรียก หรือแจ้งให้ผู้ต้องหามามอบตัว และเมื่อผู้ต้องหาเข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว ผู้ต้องหาจะได้รับการแจ้งข้อกล่าวหา และพนักงานสอบสวนเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาต่อสู้คดีตามหลักการรับฟังพยานหลักฐานทุกฝ่ายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ ,๑๓๔ วรรคสี่
เมื่อพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานอันสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาน่าจะกระทำความผิดอาญาตามที่กล่าวหาแล้ว พนักงานสอบสวนอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกหมายจับกรณีความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกเกินสามปีขึ้นไป โดยไม่ต้องออกหมายเรียกก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๖๖ (๑) กระนั้นก็ตามย่อมเป็นดุลพินิจของศาลในการมีคำสั่งให้ออกหมายจับหรือไม่
กรณีการขอให้ศาลออกหมายจับ แม้ศาลยกคำร้อง แต่ไม่กระทบต่อกระบวนการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน เพียงแต่เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจจับกุมผู้ต้องหาเท่านั้น การดำเนินคดีอาญายังดำเนินต่อไป กล่าวคือพนักงานสอบสวนยังคงจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานค้นหาความจริงจนสิ้นกระแสความ และทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้อง หรือควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามข้อกล่าวหาหรือไม่แล้วส่งสำนวนไปให้อัยการพิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ดังนั้นกรณีที่นายสาธิต วงศ์หนองเตย กับพวกรวม ๑๓ คน ถูกดำเนินคดีในข้อหาเป็นกบฏรวมทั้งข้อหาอื่นๆ และศาลมีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน ซึ่งศาลมีความเห็นว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้องแล้ว เห็นว่า นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯถวายร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๐๘ อันเป็นวิถีทางแห่งประชาธิปไตย จึงเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ น่าจะลดความรุนแรงลง ชอบที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนแล้วออกหมายเรียกไปยังผู้ต้องหาทั้งสิบสามคนเสียก่อน ในชั้นนี้ยังไม่มีเหตุสมควรที่จะออกหมายจับ” ก็ไม่กระทบต่อกระบวนการดำเนินคดีแต่อย่างใด เพียงแต่การจับกุมผู้ต้องหายังกระทำไม่ได้เท่านั้น ซึ่งแม้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาแล้ว แต่การจับกุมตามหมายจับนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะไม่จับกุมในทันทีทันใดต้องดูตามความเหมาะสมของสถานการณ์ด้วย ดังเช่นกรณีที่ศาลออกหมายจับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไว้แล้ว ก็ยังไม่มีการจับกุมแต่อย่างใด เพราะนายสุเทพฯอยู่ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดเวลา หากมีการจับกุมอาจเกิดการกระทบกระทั่งกันได้
สมาคมตำรวจขอเรียนชี้แจงต่อประชาชนทั่วไปว่าการดำเนินคดีอาญาข้อหาเป็นกบฏ และข้อหาอื่นๆ กับนายสาธิต วงศ์หนองเตย กับพวกรวม ๑๓ คน นั้นยังคงดำเนินการต่อไป หาใช่ว่านายสาธิตฯกับพวกจะพ้นข้อกล่าวหาแต่อย่างใดไม่ ทั้งนี้นายสาธิตฯกับพวกรวม ๑๓ คน ย่อมมีสิทธิ์แสดงพยานหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิสูจน์ความผิดของตนได้เช่นเดียวกัน
ด้วยความปรารถนาดี
พลตำรวจเอก สุวรรณ สุวรรณเวโช
นายกสมาคมตำรวจ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น