พรบ.งาช้าง พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้ว เตือนผู้มีงาช้างบ้านหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งภายใน 90 วัน (22 ม.ค. - 21 เม.ย. 58) ส่วนที่ผู้ค้างาช้างบ้าน ต้องมาขอใบอนุญาตก่อนดำเนินการ ฝ่าฝืนมีโทษหนัก จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ย้ำ “งาช้างแอฟริกา” ผิดกฎหมาย ห้ามมีไว้ในครอบครองและค้าขายเด็ดขาด เตรียมออกปฏิบัติการตรวจสอบปราบปรามเข้มข้นทั่วประเทศ
หลังไทยถูก ไซเตส กดดันอย่างหนักในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา หากประเทศไทยยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม อาจถูกคว่ำบาตรทางการค้า CITES เช่น ผลิตภัณฑ์หนังจระเข้ กล้วยไม้ กิ้งก่า หนังงู และนกแก้ว เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยกว่า 47,000 ล้านบาท
โดยมีสาระสำคัญดังนี้ ให้ประชาชนที่ครอบครองงาช้างบ้านหรือผลิตภัณฑ์จากงาช้างบ้าน รวมทั้งผู้ค้างาช้างบ้าน มาจดทะเบียนการครอบครองและขออนุญาตค้างาช้างบ้าน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่มีงาช้างบ้านรวมถึงสิ่งของใดๆ ที่ทำจากงาช้างบ้านไว้ในครอบครอง ต้องแจ้งการครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยในท้องที่กรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งการครอบครองได้ที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่วนท้องที่ต่างจังหวัด แจ้งการครอบครองได้ที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1-16 และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์สาขาทุกสาขา ภายในวันที่ 21 เม.ย.นี้ หรือสามารถแจ้งการครอบครองได้ทางไปรษณีย์ที่ ตู้ ปณ.555 ปณศ.จตุจักร กทม.10900
ในกรณีมีไว้ในครอบครองโดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการค้า อย่างละไม่เกิน 2 ชิ้นต่อคน รวมไม่เกิน 4 ชิ้นต่อคน และไม่เกิน 12 ชิ้นต่อครัวเรือน และน้ำหนักรวมไม่เกิน 0.5 กิโลกรัม อาจใช้สิทธิ์ไม่ต้องแจ้งการครอบครองได้ แต่จะไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือทำการค้าได้ เว้นแต่ตกทอดทางมรดก โดยผู้รับมรดกต้องครอบครองไม่เกินจำนวนดังกล่าวด้วย
2.ผู้ที่ประสงค์จะค้างาช้าง ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ
3.การนำเข้า-ส่งออกงาช้างต้องได้รับอนุญาตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นว่ากฎหมายนี้มีโทษสูงมาก ๆ หากท่านหรือญาติมิตร มีชิ้นส่วนงาช้างไว้ในครอบครองตามหลักเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น แหวนงาช้าง พระงาช้าง หัวเข็มขัด กำไล ฯลฯ(ที่มีอยู่ติดรถไว้ก็ด้วย) ก็ต้องไปแจ้งกับทางการตามกำหนด ไม่เช่นนั้นอาจถึงคราวซวย โดนโทษตามกฎหมายได้นะครับ แล้วก็เลิกสะสมงาช้างกันดีกว่าครับ
ปล. ไซเตส(CITES) คือ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora)
ปล.2 ช่วงนี้กฎหมายออกมารัว ๆ ตามกันไม่ค่อยทันเลยนะครับ
ปล.2 ช่วงนี้กฎหมายออกมารัว ๆ ตามกันไม่ค่อยทันเลยนะครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น