ยาเสพติดชนิดใหม่ ระบาดในหมู่นักเรียน

พ่อค้ายาเสพติดนี่มันชั่วหาที่สุดไม่ได้จริง ๆ ล่าสุดมีการลักลอบจำหน่าย โปรโครดิ้ว ยาทรามาดอล และยาแก้ไอ ให้กับนักเรียน เยาวชน  โดยสามารถนำไปผสมกับน้ำหวาน น้ำอัดลม ให้กลายเป็นเครื่องดื่มมึนเมาได้

     ล่าสุดเกิดเหตุนักเรียนหญิงระดับมัธยม รร.แห่งหนึ่งใน กทม. หนีเรียนมาเสพยาดังกล่าวหลายสิบเม็ด จนเกิดอาการชักเกร็งทุรนทุราย พลัดตกไปใต้สะพานภูมิพล เมื่อวันที่ 1 ก.ค.58 ที่ผ่านมา  เพื่อน ๆ กระโดดลงไปช่วย และกู้ภัยนำตัวส่งรักษาที่ รพ. ซึ่งถือว่าอันตรายอย่างยิ่งกับเด็ก เยาวชน ที่ไม่สามารถแยกแยะถูกผิด และมีความคึกคะนอง  อาจเป็นเหตุให้ถูกรถชน หรือตกน้ำเสียชีวิตได้(ดูคลิป คลิ๊ก)

     โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 58  สน.ร่มเกล้า ได้จับกุมผู้ต้องหา ที่ลักลอบขายยาโปรโครดิ้ว ยาทรามาดอล และยาแก้ไอให้แก่เยาวชนอายุต่ำกว่า 17 ปี โดยยาชนิดดังกล่าวสามารถนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มมึนเมา และนำยาดังกล่าวไปเป็นส่วนผสมน้ำใบกระท่อม มาผลิตเป็นยาเสพติด 4 คูณร้อย

     เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าตรวจค้นจุดแรก ร้านเลิศเภสัช เลขที่ 320/518 ภายในตลาดเกรียงไกร ถ.ราษฎร์พัฒนา ซ.เคหะร่มเกล้า35 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง โดย น.ส.กาลีมะ แลแร อายุ 23 ปี รับเป็นเจ้าของร้าน นายสุเฟียน แลแร อายุ 18 ปี และนายปิยะ หะยีเตะ อายุ 27 ปี เป็นผู้ดูแลร้าน จากการตรวจค้นพบยาควบคุมจำนวน 19 รายการ มีแก้ไอชนิดน้ำ จำนวน 1,492 ขวด ยาชนิดเม็ดไม่ได้ขึ้นทะเบียน จำนวน 150 เม็ด ยาชนิดเม็ดที่มีการขึ้นทะเบียน จำนวน 9,150 เม็ด และยาแก้ปวดชนิดแคปซูล จำนวน 20,250 แคปซูล ทั้งนี้ยังพบอุปกรณ์การต้มน้ำ 4 คูณร้อย และใบกระท่อมสดจำนวน 120 ใบ ซุกซ่อนอยู่บริเวณด้านหลังร้าน เจ้าหน้าที่ตรวจยึดไว้เป็นของกลาง

     สำหรับจุดที่สองเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น ภายในร้านบ้านคลังยา ตั้งอยู่เลขที่ 79 /114 ถ.เคหะร่มเกล้า แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง โดยมีนางวรรณี นิมมานรดี อายุ 52 ปี รับเป็นผู้ดูแลร้าน จากการตรวจค้นพบยาแก้ไอชนิดน้ำและยาแก้ปวดชนิดแคปซูลทั้งหมด 14 รายการ มียาแก้ปวดชนิดแคปซูล 670 แคปซูล ยาแก้ไอชนิดน้ำยี่ห้อต่างๆ จำนวน 265 ขวด

     ด้าน พ.ต.อ.สันทัด  ลยางกูร ผกก.สน.ร่มเกล้า กล่าวว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ กก.ดส.และ อย. ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า ร้านขายยาทั้ง 2 ร้าน มีพฤติการณ์แอบลักลอบจำหน่ายยาแก้แพ้ แก้ไอและยาแก้ปวดชนิดรุนแรง ทั้งที่เป็นยาอยู่ในบัญชียาควบคุมและจำกัดปริมาณในการซื้อขายจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยปล่อยขายให้กับเด็กนักเรียนและเยาวชนนำไปใช้เป็นวัตถุดิบผสมกับน้ำอัดลม เพื่อนำไปดื่มกิน ทำให้เกิดอาการมึนเมาคล้ายกับยาเสพติด หรือเรียกว่า 4 คูณร้อย เป็นที่แพร่ระบาดอย่างหนักในกลุ่มวัยรุ่น-นักเรียนมัธยม หลังสนธิกำลังกับทาง กก.ดส.บชน., และ อย. เข้าตรวจสอบจับกุมได้พร้อมของกลางดังกล่าว

     ส่วนนายสมบัติ หิรัญศุภโชติ เภสัชกรชำนาญการพิเศษสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาทรามาดอลจัดเป็นยาอันตราย ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี และห้ามจำหน่ายเกิน 20 แคปซูล ต่อรายต่อครั้ง และที่ผ่านมา อย. ได้ทำหนังสือเวียนแจ้งร้านขายยาทั่วประเทศ ให้ทราบถึงมาตรการไปแล้ว ในส่วนของการป้องกันและปราบปรามนั้น ที่ผ่านมาทางกก.ดส.บช.น. พร้อมสนธิกำลังกับ ทาง อย. เข้าตรวจสอบอยู่เสมอ ส่วนยาน้ำเชื่อมแก้ไอสามารถขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีได้ แต่ต้องขายไม่เกิน 3 ขวดต่อรายต่อครั้ง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ยาทั้งสองชนิดสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องดื่มมึนเมาและยาเสพติดได้

     อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เข้าตรวจค้น ร้านดังกล่าวพบว่า ทั้ง 2 ร้าน มีใบอนุญาตถูกต้อง แต่ไม่มีเภสัชกรในการจำหน่ายยา หลังจากนี้จะรวบรวมรายละเอียด เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการกับเภสัชกรผู้ดูแลของทั้ง 2 ร้านไว้ก่อนนายสมบัติ กล่าว

     เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาทั้งหมด ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ มีโทษปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท ไม่จัดทำบัญชียาที่ซื้อและขาย ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท ขายยาแผนปัจจุบัน นอกเวลาทำการ มีโทษปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท จำหน่ายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ร่มเกล้าดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป.

เนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์





     ยาทรามาดอลดังกล่าวนี้ผู้ใช้ หรือผู้เสพไม่มีความผิด และไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด  แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ขาย จำหน่าย หรือครอบครองเพื่อจำหน่ายได้(ตามข้อกล่าวหาข้างต้น) ในองค์ประกอบคือ ผู้ขายไม่ได้เป็นเภสัชกรในร้านขายยาแผนปัจจุบัน หรือ แพทย์ในสถานพยาบาล  โดยทาง อย. ได้ขอความร่วมมือไม่ให้จำหน่ายเกินกว่าคราวละ 20 เม็ด ไม่ให้จำหน่ายแก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี 

     ในช่องว่างทางกฎหมายดังกล่าว  คนชั่ว ๆ จึงสบโอกาสในการกระทำผิด  ซึ่งงานนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถรับรู้ได้หมด  เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ชำนาญการในด้านเภสัช  จึงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อย. สาธารณสุข เข้ามาร่วมปฏิบัติการ  หรือหากท่านใดมีเบาะแสเกี่ยวกับการจำหน่ายยาดังกล่าวให้กับเยาวชน  โปรดแจ้งเบาะแสมาที่หมายเลข 191 เพื่อช่วยเหลือเพื่อนของท่านและสังคม  อย่านิ่งดูดายครับ เพียงแค่สงสัยก็แจ้งได้แล้ว  ไม่ต้องสืบจนแน่ชัด ให้เจ้าหน้าที่เขาดำเนินการต่อดีกว่า 

     สำหรับสรรพคุณทางยาของ ทรามาดอล คือ บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง หากได้รับยาเกินกว่า 400 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถทำให้เกิดภาวะเคลิ้มสุขและภาวะกดการหายใจ  และถ้าใช้ในขนาดที่สูงมาก อาจทำให้เกิดอาการชัก ไข้สูง สภาพกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง เป็นต้น  หากใช้ไปนาน ๆ จะมีภาวะคล้ายการติดยาได้  ต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ค่อย ๆ ลดขนาดยาต่อไป

     ฝ่ายตำรวจที่สามารถทำได้เบื้องต้นคือตรวจสอบร้านขายยาต่าง ๆ ในพื้นที่  ว่ามีใบอนุญาต มีเภสัชกรควบคุม ถูกต้องหรือไม่  และมีการจำหน่ายยาอันตรายหรือไม่  มีการลงบันทึกการจำหน่ายหรือไม่ เป็นต้น








ความคิดเห็น