วันที่ 19 ธ.ค. 58 ที่ศูนย์ปฏิบัติการสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ถนนพระราม6 แขวงทุ่งพญาไทย เขตราชเทวี กทม. นายไพโรจน์ เทศนิยม นายกสมาคมฯ เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางคณะกรรมการบริหารสมาคมฯซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวสายงานอาชญากรรม ได้ทำงานใกล้ชิดกับแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและติดตามการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อนจะนำผลงานต่างๆ เสนอต่อสายตาประชาชนจนเป็นที่ยอมรับของสังคม และเฝ้าดูการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันประชุมเพื่อตั้งฉายาตำรวจประจำปี 2558 โดยเกณฑ์การตั้งฉายาให้นายตำรวจนั้นทางสมาคมได้ประชุมกับผู้สื่อข่าวที่เป็นคณะกรรมการบริหารสมาคม ซึ่งเป็นตัวแทนจากสื่อสังกัดต่างๆนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กร มารวมกัน และคัดทีละชื่อ จนเหลือเพียง 11 คน ซึ่งตำรวจแต่ละนายจะมีข่าวที่โดดเด่นในรอบปี และเป็นที่หน้าจับตามองของสื่อมวลชน และสังคม
“เมื่อเราโหวตได้รายชื่อมาแล้ว ก็ทำการตั้งฉายา โดยเอามาเปรียบเทียบกับบุคลิกลักษณะและผลงาน ซึ่งการที่ผู้สื่อข่าวให้ฉายาตำรวจแต่ละนายนั้นก็เพื่อเป็นกระจกเงาที่สะท้อนกลับไปให้เจ้าตัวได้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามสื่อมวลชนเฝ้าจับตามองคุณอยู่ คุณจะทำอะไรที่ดีหรือไม่ดี เราสื่อมวลจะนำเสนอให้สังคมได้รับทราบแน่นอน ฉายาที่สื่อมวลชนให้ บางท่านก็ชอบ บางท่านก็ไม่ชอบ แต่ขอให้ทราบไว้ว่าฉายาเล่านั้นคือกระจกเงาที่สะทอนกลับมาสำหรับฉายาตำรวจมีดังนี้
1. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉายา “ ตร. รีโนเวท ” (renovate) สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการแยกงานสอบสวนออกจากการบริหาร การแต่งตั้ง กตช.และ ก.ตร. ต้องมาจากข้าราชการตำรวจ ส่วนประธาน กตช.คือ ผบ.ตร.เดิมทีเป็นนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร.มีอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับการลงมาดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้รับฉายา “ตร. รีโนเวท”
2. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้รับฉายา “ ผบ. เสียทรง ” สมัยตอนที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ได้ฝากผลงานไว้อย่างโดดเด่นในการทำคดีสำคัญๆ จนจบลงได้อย่างสวยงาม และเป็นไปตามที่ประชาคาดหวังไว้ แต่ภายหลังมารับตำแหน่งแม่ทัพสีกากี เต็มตัวกลับไม่มีผลงานใดที่เข้าตาประชาชน จึงได้รับฉายา “ ผบ. เสียทรง ”
3. พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ฉายา “ ปู ฟาสท์แทร็ค ” ( Fast Track ) เมื่อวันที่ 1 ต.ค.57 พล.ต.อ.ศรีวราห์ เคยดำรงตำแหน่ง ผบช.น. ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.58 ได้รับตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร.หลังจากนั้นอีกสองเดือนได้รับโปรดเกล้า ให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ ในการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เนื่องมาจาก ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนมติคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คืนสิทธิการนับระยะการปฏิบัติงานทางภาคใต้เป็นทวีคูณ จนได้กลับมาดำรงตำแหน่งตามเดิม จึงได้รับฉายา “ ปู ฟาสท์แทร็ค ”
4. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฉายา “ เอก พลัดถิ่น ” พล.ต.อ.เอก ถือว่าเป็นตำรวจน้ำดีอีกคนหนึ่งที่ถูกเสนอชื่อให้เป็น ผบ.ตร. ถึง 2 ครั้ง สุดท้ายพลาดหมด จากนั้นถูกมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งปลัดประจำสำนักนายก ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการจึงได้รับฉายา “ เอก พลัดถิ่น ”
5. พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. ฉายา “ มือปราบไซเตส ” ภายหลังได้รับมอบหมายในการปราบปรามจับกุมผู้ลักลอบขนงาช้าง จนสามารถจับกุมผู้ต้องหาลักลอบค้างาช้างไทยและงาช้างแอฟริกา รายใหญ่ได้มูลค่ากว่า 40 ล้านบาทได้ ทำให้ขบวนการลักลอบขนงาช้างไม่กล้าที่จะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน อีกทั้งยังผลักดันพ.ร.บ.งาช้าง 2558 มาควบคุมการค้า การครอบครองงาช้างภายในประเทศได้เป็นผลสำเร็จจึงได้รับฉายา “ มือปราบไซเตส ”
6. พล.ต.อ. เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษก สตช. ฉายา “ โทรโข่งไร้เสียง ” หลังจากได้รับหน้าที่หลักให้เป็นหอกระจายเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นตัวแทนในการเผยแพร่การทำงานรวมถึงภารกิจต่างๆของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวหรือประชาสัมพันธ์งานของตร.จะมีก็แต่เสียงของรองโฆษก ส่วนโฆษก ตร.กลับไร้เสียง จึงได้รับฉายา “ โทรโข่งไร้เสียง ”
7. พล.ต.ท.สุวิระ ทรงเมตตา ผู้ช่วย ผบ.ตร. ฉายา “ มือปราบยูฟัน ”ในฐานะ หน.ชุดสอบสวนคดีแชร์ลูกโซ่ บริษัท ยูฟัน สโตร์ จำกัด สามารถสืบสวนจับกุมผู้ที่ร่วมขบวนการได้เกือบหมดและยึดทรัพย์ผู้ที่ร่วมขบวนการได้หลายร้อยล้านบาท จนทำให้กลุ่มขายตรงที่จะกลายพันธ์เป็นแชร์ลูกโซ่ ต่างหวาดกลัวไม่กล้าที่จะกระทำผิด จึงเป็นที่มาของฉายา “ มือปราบยูฟัน ”
8. พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. ฉายา “ น.1 ร่างทรง” หลังจากที่เข้ามารับตำแหน่งรักษาการ ผบช.น. ได้ระยะหนึ่งก็ทำงานอย่างขยันขันแข็งจนเป็นที่ยอมรับของประชาชนแต่กลับไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวจริงเสียที่ ส่วนจะได้ดำรงตำแหล่ง น.1 แบบเต็มตัวหรือไม่นั้นโปรดติดตามตอนต่อไปจึงได้รับฉายา “ น.1 ร่างทรง ”
9. พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีต รอง ผบช.ภ.8 ฉายา “ โรฮีนจา ลี้ภัย ” เนื่องจากเป็นหัวหน้าทีมในการสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีโรฮีนจา ต่อมาตนเองอ้างว่าถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลจนต้องขอลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลียจึงได้รับฉายา “ โรฮีนจา ลี้ภัย ”
10. พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผบก.สปพ. ฉายา “ หลวงตามสั่ง ” หลังจากได้รับมอบหมายงานจากผู้บังคับบัญชาครั้งใดก็สามารถคลี่คลายงานได้สำเร็จเป็นอย่างดี และมักจะมีโครงการต่างๆออกมาเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชนจึงได้รับฉายา “ หลวงตามสั่ง ”
11. พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบก.ทท ฉายา “ โจ๊ก โชคชัย 4” เนื่องจากเป็นนายตำรวจคนสนิทของผู้มีบารมีท่านหนึ่ง ที่มีบ้านพักอยู่ในย่านโชคชัย 4 และมักจะเรียกไปรับใช้อยู่บ่อยๆในวลีที่ว่า “ คร๊าบๆ...คร๊าบ.. ” จึงได้รับฉายา “ โจ๊ก โชคชัย 4 ”
12. พ.ต.อ.ชยุต มารยาทตร์ รอง ผบก.น.6 ฉายา “ กุนซือ หลังฉาก” เป็นมือสอบสวนยอดเยี่ยมระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นพนักงานสอบสวนที่อยู่เบื้องหลังในการทำงานคลี่คลายคดีสำคัญๆมาหลายคดีจนสามารถปิดคดีได้ในที่สุด อาทิ คดีแชร์ลูกโซ่ ยูฟัน คดีระเบิดแยกราชประสงค์ และอีกหลายคดีจนนับไม่ถ้วนเปรียบเสมือนการปิดทองหลังพระจึงได้รับฉายา “ กุนซือ หลังฉาก ”
ก็ว่ากันไปนะครับ ตำรวจกับสื่อ ก็ทำงานคู่กันมาโดยตลอด ไม่มีตำรวจจัดโต๊ะแถลงข่าวให้ สื่อจะเอาเรื่องอะไรไปลงข่าว บางทีก็ต้องเลี้ยงดูอย่างดี พาไปทานข้าว เลี้ยงกาแฟ บางรายได้นั่ง ฮ. ไปตรวจราชการกับนายก็มี ดูแลดียิ่งกว่าลูกน้องเสียอีก ในต่างจังหวัดนี่ สื่อมาไถตำรวจนะครับ ลงถวายพระพรบ้าง วันเกิดหนังสือพิมพ์บ้าง มีกันไม่รู้กี่สิบเล่ม ก็คิดดูจริง ๆ แล้วใครพึ่งใครกันแน่
สื่อยุคนี้ก็แปลกนะครับ อ้างตัวเป็นสื่อสารมวลชน ต้องมีอภิสิทธิ์นู่นนี่นั่น แตะต้องไม่ได้ ไร้การตรวจสอบจรรยาบรรณใด ๆ บางรายถึงขั้นกร่าง ใช้น้ำหมึกป้ายสีคนโดยไม่มีข้อเท็จจริง แต่กับรัฐบาลเผด็จการ หงอย ครับ ไม่กล้าตั้งฉายา 55 อย่ามาอ้างเป็นสื่อสารมวลชนเลย คุณไม่ใช่กระบอกเสียงของประชาชนหรอก กลายเป็น "พิราบท็อปบู๊ต" เชื่อง ๆ ให้เขาโขกสับ ดู ๆ แล้วก็ขำ อนิจจา
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น