แฟน ๆ ละครไทยหลายท่านคงเคยได้เห็นหน้าของ นายตำรวจตัวประกอบท่านหนึ่ง ที่มักเข้าฉากเป็นประจำ เรียกว่าเรื่องไหนมีบทตำรวจ มีโอกาสได้เห็นหน้าเขาคนนี้มาก บุคคลที่เรากล่าวถึงเขาคือ "ด.ต.สิริเวช เจริญชนม์" ตำรวจจริงทั้งในจอและนอกจอ เรามาทำความรู้จักเขากันครับ
ด.ต.สิริเวชฯ เกิดที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นลูกคนกลางจากพี่น้องทั้งหมด 5 คน จากครอบครัวชาวสวนยางฐานะยากจน ด.ต.สิริเวชฯ มีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจ เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน
ในวัยเด็ก “ด.ช.สิริเวช” เรียนจบชั้น ป.6 จากโรงเรียนบ้านควนเนียง อำเภอบ้านนาสาน จบมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนพรุพีพิทยาคม จบ ปวช.สาขาช่างยนต์ โรงเรียนเทคโนโลยีภาคใต้ จากนั้นเขาได้สมัครเข้าเรียนระดับปวส.ที่โรงเรียนเทคนิค จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และในช่วงนั้นมีการเปิดสอบคัดเลือกตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 300 อัตรา เขาจึงตัดสินใจเข้าสอบและเขาก็สามารถสอบเข้าตำรวจได้สำเร็จจึงขอลาออกจากโรงเรียนเทคนิคทันที
ในปี พ.ศ.2537 ว่าที่พลตำรวจ “สิริเวช” จึงได้มุ่งหน้าก้าวสู่ทางฝันสมกับความตั้งใจ โดยมีแค่เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่เพียง 5 ชุดในกระเป๋าเดินทาง เข้ามาเรียนที่โรงเรียนตำรวจ จังหวัดนครปฐม ในหลักสูตรเร่งรัด 4 เดือน ปีพ.ศ.2538 เขาได้ถูกเรียกตัวเข้ารับราชการตำรวจที่กรุงเทพฯ ในคำสั่งบรรจุแต่งตั้งตำแหน่งยศ “พลตำรวจ” ที่สถานีตำรวจดับเพลิงลาดยาว แผนกช่างซ่อมบำรุง
สาเหตุที่เข้าวงการบันเทิง กล่าวคือเมื่อครั้งที่ “ด.ต.สิริเวช” รับราชการตำแหน่ง “พลตำรวจ” ที่สถานีตำรวจดับเพลิงลาดยาว มีอยู่วันหนึ่งในช่วงรอเหตุ ได้มีกองถ่ายละครจากค่าย “กันตนา” ได้มาติดต่อให้ตำรวจไปเล่นละครเป็นตัวประกอบเรื่อง “สารวัตรเถื่อน” ซึ่งไปถ่ายที่ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ก็เลยชอบงานแสดงตั้งแต่นั้นมา
“พอได้ลองงานด้านนี้ผมก็รู้สึกชอบเพราะเป็นงานที่ใกล้ตัวและถนัด จนผมได้มาถ่ายภาพยนตร์โฆษณาชิ้นแรก “สิงห์คะนองนา” กับประโยคยอดฮิตที่ว่า “สงสัยท่านรองจะถูกยิง” โฆษณาตัวนั้นดังมาก ทำให้นักแสดงหลายคนเกิด หลังจากนั้นก็โฆษณาอีกกว่า 10 ตัว ซึ่งได้รับบทหลากหลายไม่ได้ผูกขาดบทตำรวจอย่างเดียว
เงินเดือนในการรับราชการตำรวจกับภาระที่ต้องดูแลลูกเมียนั้นไม่เพียงพอ จึงต้องหาอาชีพเสริมนอกจากการรับบทตำรวจ ด.ต.สิริเวชฯ ทำมาแล้วตั้งแต่การเฝ้าธนาคาร ร้านทอง จนถึง โชเฟอร์แท็กซี่ นับว่าเป็นคนสู้ชีวิตคนหนึ่งจริง ๆ ถือเป็นแบบอย่างดีที่ให้กับน้อง ๆ เพื่อนข้าราชการ ได้นำเป็นแบบอย่างในความสู้ชีวิต ทำอาชีพสุจริตครับ
ข้อมูลบางตอนจาก คอลัมน์ “คนสู้ชีวิต” ฉบับ 635 โดย...จักรทอง ทองเปาว์ / นิตยสารชีวิตต้องสู้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น