ช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม ของทุกปี จะเป็นวงรอบของการตรวจกิจกรรมต่าง ๆ ในระดับสถานีตำรวจ เพื่อจัดอันดับ ให้คะแนน ในระดับ บก. จนถึง บช. ใครที่ได้คะแนนอันดับ 1 ก็จะได้รับโล่ หรือใบประกาศฯ ถ่ายรูปกันไป ส่วนเรื่องแต่งตั้ง และเรื่องขั้นนั้นไม่เกี่ยว 555
ชมส. หรือ ชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมหลักที่ทุกสถานีตำรวจ จะต้องทำโดยมีงบประมาณจาก ตร. ลงมาที่หน่วยในแต่ละปีไม่น้อย ทั้งเบี้ยเลี้ยงและน้ำมัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใกล้ชิดกับชุมชน ประชาชนมากขึ้น สามารถเข้าใจปัญหา ความต้องการของพี่น้องประชาชนในเรื่องที่ตำรวจสามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยในยุค พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร. ได้ทำวีดีทัศน์ อธิบายถึงการดำเนินโครงการ ชมส. 7 ขั้นตอน เพื่อให้มีความเข้าใจและการปฏิบัติที่เป็นแนวทางเดียวกันทั่วประเทศ โดยได้ดารานักแสดงชื่อดังมาร่วมงานมากมาย
เรียกว่าเป็นการทำ ชมส. แนวใหม่ ที่ก่อนหน้านี้การตรวจ ชมส. ต้องเกณฑ์ชาวบ้านมารำวง กลองยาว มีรถไถนา หาบขนม กับข้าว แต่งตัวไทยพื้นบ้านมาโชว์แข่งกัน ลำบากชาวบ้านให้เป็นที่นินทา(เห็นว่าบางทีก็ยังนิยมทำแบบนั้นอยู่) มาดู 7 ขั้นตอนชัด ๆ กันดีกว่าครับ ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง บางขั้นตอนอาจปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ครับ
ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาแกนนํา
ในขั้นแรกนี้ หลังจากการคัดเลือกหมู่บ้าน/ชุมชุน ที่จะเข้า ดําเนินการ หลักสําคัญอยู่ที่การทํางานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตํารวจ กับผู้นําหมู่บ้าน/ชุมชน ผู้นําองค์กรส่วนท้องถิ่น เช่น กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือที่นักวิชาการเรียกว่า “ผู้นําทางธรรมชาติ” เช่น พระ ผู้อาวุโส พ่อเฒ่า แม่แก่ ที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ โดยสัมพันธภาพระหว่างแกนนํา หรือผู้นํากับสมาชิกในชุมชน จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็ง ให้กับชุมชน
ขั้นตอนที่ 2 จุดประกายความคิด
ในขั้นตอนของการจุดประกายความคิด เจ้าหน้าที่ตํารวจต้องเชื่อถือในศักยภาพของแกนนํา ว่าหากกระตุ้นให้แต่ละคนมีโอกาสใช้ภูมิปัญญา ความรู้ ความสามารถ อย่างเต็มที่แล้ว ก็เท่ากับเป็นการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
การอบรมเพิ่มเติมความรู้ และนําแกนนํา และชาวบ้านไปทัศนศึกษาดูงาน อาทิ โดยพาแกนนํา ผู้นํา ไปศึกษาดูงานชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนต้นแบบที่สามารถจัดการตัวเองได้ตัวอย่าง เช่น ชุมชนบ้านสามขา ชุมชนไม้เรียง เพื่อศึกษาขั้นตอน วิธีการที่ชุมชนดังกล่าวดําเนินการ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นและจุดประกายให้ผู้นําเกิดแนวคิดในการพัฒนาชุมชนของตนเอง(หรืออาจนำเรื่องราวของชุมชน หมู่บ้าน ที่ได้ดำเนินการ ชมส. ในปีก่อน ๆ มาเล่าสู่กันฟังก็ได้ครับ)
ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาพื้นฐานชุมชน
ในการจัดทําประชาคม เป็นขั้นตอนของการจัดประชุมเวทีชาวบ้าน รวมทั้งการประชุมกลุ่มย่อย การปรับแนวคิดของคนในชุมชนให้รู้จักคิดเอง ทําเอง และการให้โอกาสคนในชุมชนในการพูด นําเสนอ เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ การร่วมกันนําเสนอประวัติศาสตร์ชุมชน การสํารวจ ข้อมูลจัดเก็บข้อมูลครัวเรือน รายรับรายจ่าย และการค้นหาศักยภาพทุนของชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ กระตุ้นให้ชุมชนเห็นถึง สิ่งที่มีในชุมชน ไม่ใช่การเน้นให้เห็นว่าชุมชนขาดแคลนสิ่งใด การให้ชุมชนร่วมกันค้นหาองค์ประกอบที่ทําให้ชุมชนสามารถดํารงอยู่ได้ โดยใช้เวทีประชาคมร่วมกันทําตาราง บัญชี หรือแผนที่ทุนชุมชน จําแนกตามประเภท อย่างละเอียด เช่น ทุนบุคคล ปราชญ์ชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติ ความรู้ทักษะ ภูมิปัญญา ของชุมชน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 4 สนทนา และวิเคราะห์ปัญหา
ขั้นตอนนี้เป็นการใช้เวทีประชาคม ให้ชุมชนร่วมกันเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน อาทิ การทะเลาะวิวาทของกลุ่มเด็กวัยรุ่น ปัญหายาเสพติด ปัญหา เศรษฐกิจ และร่วมกันจัดลําดับความสําคัญ ความจําเป็นเร่งด่วนของปญหาที่ต้องดําเนินการแก้ไขก่อน - หลัง นอกจากนี้ใช้เวทีประชาคมค้นหาสาเหตุและแนวทางในการแก้ไขปัญหา
ขั้นตอนที่ 5 การตัดสินใจ และกำหนดโครงการ
ขั้นตอนการยกร่างกิจกรรม/โครงการ เป็นขั้นของการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปแบบ มีการกําหนด กิจกรรมที่สามารถปฏิบัติแล้วเกิดผลเป็นรูปธรรมได้เช่น มาตรการทางสังคมของชุมชน อาสาสมัครตํารวจบ้านโครงการพัฒนาผู้นําหมู่บ้านชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการป้องกันอาชญากรรมและยาเสพติด โครงการค่ายผู้นําเยาวชนป้องกันอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด เพื่อให้เยาวชนได้ทราบถึงโทษของยาเสพติด เป็นต้น นอกจากนี้ชุมชนต้องสามารถจัดลําดับความสําคัญ และร่วมพิจารณาว่า แผน/โครงการใดชุมชนสามารถดําเนินการได้เอง หรือต้องขอรับการสนับสนุนจาก อบต.หรือต้องขอรับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ตํารวจ ซึ่งจะทําให้ทุกคนในชุมชนได้รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมรับผลประโยชน์ จากแผนงาน/โครงการที่กําหนดขึ้น อย่างแท้จริง
ขั้นตอนที่ 6 นํากิจกรรมไปสู่การปฏิบัติ
ขั้นตอนในการดําเนินกิจกรรม จนเกิดเป็นลักษณะของหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง สมาชิกมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น เข้าใจกัน มีความสามัคคี เกิดการมีส่วนร่วม รู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีศักยภาพสามารถพึ่งตนเองได้ มีความสามารถที่จะสนองตอบต่อความต้องการในการใช้ชีวิตประจําวัน ทั้งยังสามารถที่จะร่วมกันใช้กติกาที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมในการตัดสินใจ โดยมีอํานาจการจัดการตามข้อกําหนดและมาตรการที่ได้ร่วมกันจัดทําขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนได้ด้วยตนเองตามกรอบกฎหมาย มีบทลงโทษเมื่อมีผู้ฝ่าฝืน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเป็นที่ปรึกษาในระหว่างดําเนินโครงการเช่น มาตรการตัดความช่วยเหลือของชุมชนต่อครอบครัวและตัวผู้เสพ ผู้ค้ายาเสพติดในชุมชน
ขั้นตอนที่ 7 ติดตามประเมินผล
การติดตามประเมินผล ถือได้ว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายในการเข้าดําเนินโครงการ เจ้าหน้าที่ตํารวจ และชุมชน ร่วมกันประเมินผลโดยใช้แบบสํารวจความคิดเห็น (โพล) หรือการสัมภาษณ์บุคคลว่า ภายหลังจากที่ดําเนินโครงการไปแล้ว ชุมชนเกิดความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ลดความหวาดระแวงอาชญากรรมลงได้เพียงใด
งาน ชมส. ส่วนมากจะให้ รอง ผกก.ป. ของแต่ละสถานีเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยแต่ละสถานีจะต้องทำกันประมาณ 5 หมู่บ้าน/ชุมชน มีการทำแฟ้มเพื่อรอตรวจจากหน่วยเหนือ และอาจมีการลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อถามความพึงพอใจประกอบ
ชุมชนเข้มแข็งเพื่อการป้องกันอาชญากรรม เป็นทั้งปรัชญาและยุทธศาสตร์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นตะวันออก เน้นความรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนในท้องถิ่น โดยการเพิ่มศักยภาพของคนและชุมชนให้เข้มแข็ง พร้อมเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมแก้ไข ร่วมแรงร่วมใจ ร่วมพัฒนา จนเกิดเป็นพลังชุมชนซึ่งเป็นรากฐานการสร้างภูมิคุ้มกันชุมชนให้แข็งแรงยั่งยืนและปลอดจากอาชญากรรม หลักการนี้จะสอดคล้องกับหลักการ “การตํารวจชุมชน”(Community Policing) ที่มีต้นกําเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับการพัฒนามาจากแนวความคิดของหลักการตํารวจชุมชนสัมพันธ์ (Police Community Relations) แล้วนํามาปรับปรุงเพิ่มเติมแนวความคิดใหม่จนกลายเป็นแนวความคิดในการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพโดยกําหนดให้ตํารวจและชุมชน ร่วมกันทํางานอย่างใกล้ชิด เสมือนหนึ่งว่าเป็นหุ้นส่วนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาความ เสื่อมโทรมของความไร้ระเบียบชุมชน ปัญหาคุณภาพชีวิตและความรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรม ทําให้ประชาชนมีความรู้สึกที่ดีต่อตํารวจและใส่ใจในปัญหาอาชญากรรมมากขึ้น เสมือนเป็นหน้าที่ของตนเอง
อย่างไรก็ตามหัวใจสําคัญที่จะทําให้งานชุมชนเข้มแข็งเพื่อการป้องกันอาชญากรรมประสบผลสําเร็จได้ สํานักงานตํารวจแห่งชาติจะต้องกําหนดหลักการดังกล่าวนี้เป็นยุทธศาสตร์ขององค์กร เพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ทุกๆ ระดับ โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในบทบาทของหลักการตํารวจชุมชน เพื่อบูรณาการ(Integrate) ทุนทางสังคมทุกภาคส่วนในลักษณะพหุภาคี(Multilateral) ได้แก่
- ตํารวจ
- ผู้นําชุมชน (ผู้นําธรรมชาติ/ทางการ)
- เครือข่ายชุมชน
- ภาคเอกชน
- หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สื่อมวลชนแขนงต่างๆ
ให้หันมาผนึกกําลังกันในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนสมดังเจตนารมณ์ต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น