ความสำคัญของบันทึกจับกุมผู้ต้องหา

วันนี้นำบทความของ อ.เดชา  กิตติวิทยานันท์(www.decha.com) ทนายคลายทุกข์  ที่ในเว็บ อ.เดชาฯ ได้เสนอเรื่องราว แง่มุมต่าง ๆ ทางกฎหมายที่น่าสนใจไว้มากมาย  มีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สามารถไปหาความรู้ได้ครับ  มีทั้งเว็บบอร์ด , คลิปเสียงบรรยายกฎหมาย ฯลฯ  ส่วนที่นำมาวันนี้คือเรื่องราวของความสำคัญของบันทึกการจับกุมผู้ต้องหา  

     เพราะบันทึกการจับกุมเป็นหลักฐานสำคัญของคดี  เพราะเป็นกรอบของคดีทั้งหมดในคดีอาญา  ประกอบไปด้วย  รายละเอียด วัน เวลาในการจับกุม,  พฤติการณ์ในการจับกุม, ผู้ต้องหา, ของกลางที่พบและยึดได้, การตรวจค้น, คำรับสารภาพ/หรือปฏิเสธ  พนักงานอัยการหรือตำรวจจะเบิกความเพิ่มเติม  ข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลลงโทษจำเลยไม่ได้   โดยเฉพาะพนักงานอัยการโจทก์   เคยถูกศาลตำหนิมาแล้ว  เช่น  ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่  เป็นต้น  มีอัยการจังหวัดเชียงใหม่  สืบพยานนอกสำนวนการสอบสวนและและนอกบันทึกการจับกุม  ซึ่งผู้พิพากษาได้เตือนแล้วว่า  ทำไม่ได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84(1)  กำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับกุม  มอบสำเนาให้กับผู้ต้องหา  

  1. แต่ในทางปฏิบัติตำรวจผู้จับกุม  มักไม่ถ่ายสำเนาให้กับผู้ต้องหา  ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่า  เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  ผู้ต้องหามีการร้องเรียนตำรวจผู้จับกุมมาแล้วหลายคดี  และการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, มาตรา 40  ฉบับปัจจุบันอีกด้วย  เพราะไม่เปิดโอกาสในการต่อสู้คดีให้กับจำเลยอย่างเพียงพอ
  2. ในคดีที่ผ่านมา  มีกรณียึด M 16 ได้  แต่ในบันทึกการจับกุม  แต่ตำรวจผู้จับกุมไม่ได้ระบุเรื่องจำนวนกระสุนปืนจำนวน 46  นัด  แต่เมื่อมีความเห็นสั่งฟ้องคดี  กลับแจ้งกับพนักงานอัยการว่า  มีกระสุนปืน  เพิ่มเติมในภายหลัง  แต่ไม่มีการทำบันทึกการจับกุมเพิ่มเติม  ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของคดีอย่างร้ายแรง  ส่งผลให้บันทึกการจับกุมไม่น่าเชื่อถือที่จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยได้
  3. ลงวันที่  เดือน  พ.ศ. ไม่ตรงตามความจริง  เช่น  จับวันที่ 1 มกราคม 2553  แต่ระบุในบันทึกการจับกุมเป็นวันรุ่งขึ้น  หรือจับตอน  23.00  นาฬิกา  แต่ระบุเป็น 02.00  นาฬิกา  เนื่องจากจับแล้วพาไปทัวร์ตามเซฟเฮาส์ขยายผล (มองด้านดี) หรือพาไปรีดเงิน  โดยเฉพาะคดียาเสพติด  ต่อรองข้อหา, ลดจำนวนยาเสพติดลง, ปล่อยผู้กระทำความผิดบางคน  เป็นต้น (เป็นการมองในแง่ไม่ดี)  ซึ่งตำรวจไม่ดียังมีอยู่มาก  เป็นหน้าที่ของตำรวจที่ดีต้องยึดหลัก “น้ำดีไล่น้ำเสีย”  แต่น้ำดีต้องมีมากกว่าน้ำเสีย  จึงจะไล่น้ำเสียได้  เท่าที่เห็นจ่าเพียร  นั้นคือน้ำดี สตช. เพิ่งเห็นความดีตอนที่โดนระเบิดเสียชีวิต  และส่วนใหญ่น้ำเสียจะไล่น้ำดีไปอยู่บันนังสตาหมดแล้ว
  4. ล่าสุดมี 1  คดีที่ดูแปลก ๆ  ผู้ต้องหามาพบผมแล้วพบว่า  ตำรวจผู้จับกุมทำบันทึกการจับกุม 2 ฉบับ  ฉบับแรกของกลาง 14 รายการ  ฉบับที่ 2  จำนวน 34 รายการ  อ้างว่า พบของกลางเพิ่มเติม ทั้งที่ทำบันทึกระบุเวลา  และวันที่เดียวกัน
  5. พฤติการณ์ในการจับกุมและคำเบิกความของตำรวจผู้จับกุมแตกต่างกัน  กรณีนี้พบเป็นประจำ  มองแง่ดี  ตำรวจมีงานมากคดีความมาก  เหตุเกิดมานานแล้วอาจสับสนได้  มองในแง่ไม่ดี  รับเงินรับทองหรือกลั่นแกล้งยัดข้อหา หรือใช้ความรู้สึกส่วนตัวจินตนาการไปเพียงฝ่ายเดียว  ซึ่งมีมาก  ตำรวจผู้จับกุมก็จินตนาการไปไกล (แต่หาหลักฐานไปไม่ถึง  คดีเสียหายมาก  อาจจะอ่านหนังสือไอสไตท์มากไปหน่อย  เพราะเป็นต้นแบบของคนที่จินตนาการ)
  6. ตำรวจผู้จับกุมบางคนที่ไม่ได้เข้าร่วมจับกุม  แต่มีชื่อในบันทึกการจับกุมเพื่อหวังลาภ ยศ  2 ขั้นตลอดทุกปี  เหมือนหน้าห้องผู้บัญชาการทั่วไป  ในชั้นพิจารณาคดีจำเลยออกหมายเรียกไปเป็นพยาน  ตอบคำถามไม่ได้  ทำให้คดีเสียหายมาก
  7. การระบุข้อเท็จจริงต่าง ๆ  โดยละเอียดในบันทึกการจับกุมที่ขัดต่อเหตุและผล  และขัดต่อความเป็นจริง  เช่น คดียาเสพติดที่เกิดขึ้นจังหวัดหนึ่ง  ตำรวจชุดจับกุมระบุในบันทึกการจับกุมว่า  เมื่อไปถึงห้องพักของผู้ต้องหาที่ 1  พบเห็นผู้ต้องหาที่ 1  โยนยาเสพติดและอาวุธปืนออกจากห้องพัก  ซึ่งเป็นอาคารชุด  แต่ข้อเท็จที่ปรากฏในการสืบพยานพบว่า  การที่จะโยนสิ่งของออกจากอาคารชุดเป็นเรื่องยาก  เนื่องจากมีลูกกรงเหล็กดัดติดไว้อย่างแน่นหนา  ดังนั้น  การที่ตำรวจผู้จับกุม  อ้างว่าโยนกระเป๋าซึ่งมียาเสพติดและอาวุธปืนออกจากหน้าต่างจึงขัดต่อเหตุผล  ซึ่งผู้ต้องหาน่าจะนำยาเสพติดทิ้งลงในโถชักโครกมากกว่า  ดังนั้น หากตำรวจผู้จับกุมระบุข้อเท็จจริงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดหรือของกลางที่ไม่ได้สมเหตุสมผล  อาจทำให้คดีเสียหาย  และถ้ามีข้อเท็จจริงใด  ๆ  ในบันทึกการจับกุมบางส่วนมีพิรุธ  อาจส่งผลให้บันทึกการจับกุมทั้งฉบับหมดความน่าเชื่อถือไปเลย  โดยศาลอาจมองว่า  ตำรวจผู้จับกุมกระทำการโดยไม่สุจริต  มีเหตุอันควรสงสัยว่า  ผู้ต้องหากระทำความผิดจริงหรือไม่  และมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงตามบันทึกการจับกุมหรือไม่  ซึ่งในคดีอาญา  ศาลจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง  เป็นเหตุในการยกฟ้อง
  8. ประเด็นเรื่องสายลับในคดียาเสพติด  บางคดีไม่มีสายลับ  แต่ตำรวจผู้จับกุมกล่าวอ้างว่ามีสายลับ  ถึงไม่มีสายลับ  แต่ไปอ้างว่ามีสายลับ  เมื่อทนายจำเลยซักถามกลับไปกลับมา  ถ้าไม่ใช่เรื่องจริง  ตำรวจชุดจับกุมไม่สามารถตอบคำถามได้  และถึงแม้จะตอบคำถามได้  ก็ตอบคำถามได้เพียงบางส่วน  ไม่สมเหตุสมผล  ทำให้เกิดข้อสงสัย  สุดท้ายศาลก็ยกฟ้อง  เพราะขัดต่อความสมเหตุสมผล  ตัวอย่างคดีที่ผ่านมา เช่น  คดีที่เรือนจำบำบัดพิเศษกลาง  กรณีรถขนเศษอาหาร  ถูกกล่าวหา  เอายาบ้าเข้าเรือนจำ (คดีดังมาก)  ศาลยกฟ้อง  เพราะศาลอธิบายว่า  มีสายลับรู้ล่วงหน้า  ต้องมีการเตรียมการตรวจสอบการนำยาเสพติดเข้าเรือนจำ  แต่ในชั้นสืบพยาน  เจ้าหน้าที่เรือนจำกลับเบิกความว่า  ไม่มีการตรวจสอบรถที่เข้าเรือนจำ  เป็นต้น
  9. การที่ตำรวจผู้จับกุมบางคนลงชื่อแทนกัน  หรือลงชื่อแทนจำเลย  ระวังจะติดคุกได้  เคยพบมาแล้ว  เป็นความมักง่ายของตำรวจผู้จับกุม  คิดว่าไม่มีปัญหา  ระวังจะติดคุก  ปัจจุบันพบอยู่  1 คดี  พนักงานสอบสวนใหม่แจ้งข้อหาไม่ทันต้องรีบส่งอัยการ  เลยปลอมลายมือชื่อจำเลย (โรงพักในกรุงเทพด้วย)  ไม่ควรทำนะครับ




     สิ่งที่ทนายคลายทุกข์  นำเสนอมาข้างต้น  หวังว่าตำรวจผู้จับกุมควรระวังเอาไว้  อย่าคิดว่าเป็นตำรวจแล้วทำได้ทุกอย่างนะครับ (ภายใต้ดวงอาทิตย์  ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้)  ตำรวจผู้จับกุมมีสิทธิ์ก็ต้องมีหน้าที่ด้วย  และต้องมีศีลธรรม  และจรรยาบรรณด้วย  ขงจื้อบอกว่า  “ให้ทุกข์แก่ท่าน  ทุกข์นั้นถึงตัว” หวังว่าท่านที่อ่านบทความนี้  ไม่ได้ให้ทุกข์แก่ใครนะครับ

ขอบคุณที่มา http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5809



ความคิดเห็น