การปฏิรูปตำรวจด้านหนึ่งที่สำคัญและถูกพูดถึงอย่างมากคือ กระบวนการยุติธรรมในชั้นพนักงานสอบสวน ซึ่งมีปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนมาเป็นอันดับหนึ่ง จากการร้องเรียนตำรวจในภาพรวม ซึ่งก็จะมีสาเหตุต่าง ๆ ได้แก่ ไม่ได้รับความเป็นธรรม , ทำสำนวนล่าช้า , พูดจาไม่สุภาพ , เรียกรับผลประโยชน์ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการพยายามปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา ตั้งแต่ปี 58 ที่มีคณะทำงาน ชุด รองย้อย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา(เกษียณปีที่แล้ว) ได้ศึกษาปัญหา ได้สรุปแนวทางแก้ไขส่งไม้ต่อมายัง ผบ.ตร. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไข อาทิ
- การเกลี่ยพนักงานสอบสวนให้พอดีกับปริมาณงาน ประมาณ 70 สำนวนคดี/คน
- การเพิ่มความรู้ด้านกฎหมาย และจริยธรรมให้กับพนักงานสอบสวน
- จัดทีมพนักงานสอบสวนเข้าเวรให้เพียงพอต่อการแจ้งความของประชาชน ไม่ต้องรอนาน มีหัวหน้าทีมคอยแจกงาน ดูแลการให้บริการให้เกิดความเป็นธรรม รวดเร็ว
แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่ทันได้นำไปปฏิบัติ หรือทดลองอย่างจริงจัง ก็มีคำสั่งยุบแท่งพนักงานสอบสวน ไม่มีเลื่อนไหล ฯลฯ จนเกิดความวุ่ยวายหลายเดือน แม้ตอนนี้เองก็ยังไม่สะเด็ดน้ำ ยังคงเหลือปัญหาอีกมากมาย ซึ่งถูกมอบหมายให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ที่จะเกษียณปีนี้ ดำเนินการต่อ(หลังจาก อาจารย์ชัช พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ แล้วไม่มีใครเป็นหัวเรือให้กับงานสอบสวนของ ตร. อย่างแท้จริง)
ซึ่งคณะทำงานชุด พล.ต.อ.พงศพัศฯ ก็ได้ยืนยันว่าจะปฏิรูปงานสอบสวนในรูปแบบใหม่ภายใน 1 ปี สำหรับ 514 สถานีตำรวจนำร่อง ในด้านต่าง ๆ อาทิ
- รูปแบบ One Stop Service จะถูกปรับเปลี่ยนทั่วประเทศ ให้เหมือนกันตามลักษณะสถานีตำรวจขนาดต่าง ๆ โดยจะมีงบประมาณดำเนินการ(อันนี้ไม่แน่ใจ ตำรวจแม่งชอบสั่งให้ทำก่อน งบไม่มีมา ดูอย่างป้าย POLICE ขนาดใหญ่ ด้านบนสถานี นี่ก็ทำกันเอง ไม่มีงบฯ ใครยังไม่ทำก็โดนแดก)
- การแจ้งความของประชาชน จะมีเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมฟัง จะได้ไม่ต้องเล่าหลายครั้ง โดยมี หัวหน้าทีมสอบสวน , พนักงานสอบสวนเวร , สืบสวน , ประจำวัน , ร้อยเวร ป. โดยจะให้ผู้เสียหายนั่งกลาง ส่วนเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย นั่งล้อมเป็นครึ่งวงกลมตามรูปข้างต้น(ดูแล้วค่อนข้างเพ้อเจ้อ เอาแค่ พงส. กะสืบสวนเวร มาก็พอ ที่เหลือไม่จำเป็นเลย จะลงประจำวัน พงส. ก็สรุปเนื้อหาให้ก็ได้ ตัวเสมียนประจำวันต้องรับแจ้งเอกสารหาย มีคนมารอมากมาย สิ้นเปลืองกำลังพล แล้วนั่งล้อมแบบนี้ ผมว่าตัวผู้เสียหายเองคงเกร็งอยู่เหมือนกัน)
ไปทำเรื่องโครงสร้างอาคาร เรื่องกายภาพอีกแล้ว เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เปลืองงบประมาณเปล่า ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนเขาอยากได้เสียหน่อย มาดูกันดีกว่าครับว่าไอ้ที่แก้ได้ ควรจะแก้ไขก่อน แต่ไม่ได้ทำนั้นมีอะไรบ้าง
- เกลี่ยพนักงานสอบสวนให้มีปริมาณงานที่เหมาะสม คำสั่งที่ผ่านมาไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุดนี้แต่อย่างใด
- ไล่บี้สถิติคดีเกิด-จับ กดดันตำรวจระดับสถานี จนพนักงานสอบสวนไม่กล้ารับคดีที่เกิดขึ้นตามจริง ปัดเป่าคดี รับความเสี่ยงไว้เอง ทำให้ไม่เห็นภาพใหญ่ว่าควรแก้ปัญหาเรื่องกำลังพล งบประมาณอย่างไร ระดับ ตร. บอกให้รับคดีตามจริง และระดับ บช. มาแข่งขันเรื่องสถิติ พลเอก พลโท ไปคุยกันก่อนให้รู้เรื่องนะ
- รับคดีตามจริง ทำสำนวนไม่ทัน สำนวนค้างก็โดนตั้งกรรมการ ทั้ง ๆ ที่คดีต่อคนต่อปีเกินกว่าที่ ตร. วางมาตรฐานเอาไว้
- ในสำนวนการสอบสวนมีค่าใช้จ่ายแฝงมากมายที่ พงส. ต้องออกเงินเอง อาทิ กระดาษที่พิมพ์สำนวนทั้งหมด , ค่าใช้จ่ายในการไปผัดฟ้อง-ฝากขัง , การส่งเอกสารต่าง ๆ เป็นเงินทั้งนั้น หมายเรียก พิมพ์มือ ของกลาง ฯลฯ , คอมพิวเตอร์-พริ๊นเตอร์ ส่วนตัว เป็นต้น อันนี้น่าคิดคำนวนดูนะครับว่าใน 1 สำนวน มันมีค่าใช้จ่ายแฝงเท่าไหร่แน่(เดาว่าเจ้านายคงไม่อยากรู้ มันเกินสติปัญญา เรื่องจิ๊บจ๊อยแค่นี้มึงก็ไปหาเอาเองสิ อย่าให้มีเรื่องมาก็แล้วกัน)
- เคยรู้ปัญหาการติดต่อหน่วยข้างเคียงบ้างไหมครับ อย่าง อัยการไม่รับสำนวนหลังวันที่ 25 ให้เราไปผัดฟ้อง-ฝากขัง อีกผลัด , การสอบเยาวชน ก็ต้องนำเด็กพร้อมผู้ปกครองไปสอบปากคำที่อัยการ บางแห่งต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ปรึกษากฎหมายเองอีก เรื่องแบบนี้มันเป็นข้อตกลงที่ไม่มีเอกสาร เป็นข้อเรียกร้องฝ่ายเดียวที่ให้ตำรวจทำตาม และเป็นภาระ ตร. ต้องเป็นเจ้าภาพรวบรวมแล้วเจรจาในระดับหน่วยงานครับ(ฟังปัญหาเขาบ้าง ไม่ใช่สั่ง + เอาผิด )
- เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำไมไม่ทำให้งานมันง่ายขึ้น เร็วขึ้น ? ต้องลงข้อมูลมากมาย ทั้งในเว็บ ในเอกสาร ในสมุด สารพัดแบบ จะรายงานเหตุก็ต้องส่งแฟกซ์ พลาดมาเป็นโดนทุกกรณี
- ขั้นเงินเดือน พนักงานสอบสวนไม่ค่อยได้ หรือได้น้อย เมื่อเทียบสัดส่วนกับสายงานอื่น ๆ ในสถานี
- เส้นทางความก้าวหน้าในชีวิตราชการของสายสอบสวนจะเป็นอย่างไร หรือต้องกลับไปวิ่งเต้นเจ้านายเหมือนสายงานอื่น
- ทำเว็บไซต์เป็นสื่อกลางในการแชร์ข้อมูล ความรู้ ระเบียบ คำสั่ง กฎหมาย ใหม่ ๆ ที่ออกมา โดยเฉพาะยุคเผด็จการ ออกคำสั่ง กฎหมายมาจนศึกษากันไม่ทัน
- แล้ว สบ.4 หรือ ผู้กำกับการสอบสวน จะให้เขาทำหน้าที่อะไร ตอนนี้ว่างงานกันอยู่ทั่วประเทศหลายร้อยคน
เหล่านี้แหละครับที่น่าจะทำก่อน ทำได้เลย จะเป็นขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติอย่างมาก ทาง ตร. จะทำอะไรขอล่ะครับ ให้คนที่เขาเคยทำงานนั้น ๆ หรือคนที่มีประสบการณ์ตรง คนที่ปฏิบัติหน้าที่ มาเสนอแนวทางแก้ไข ถ้าไม่ฟังแก้ยังไงก็ไม่ถูกจุด มโนกันไปเรื่อย ลดอัตตา ฟังผู้น้อยบ้างครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น