ทุกวันนี้อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน( Drone ) มีส่วนในชีวิตเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยราคาที่สามารถเป็นเจ้าของได้ ตั้งแต่หลักพัน หลักหมื่น ไปจนหลักแสนบาท แล้วแต่ความต้องการในการใช้งาน และงบประมาณของแต่ละคน การใช้โดรน , เครื่องบินบังคับวิทยุ ต่าง ๆ นั้น เป็นการละเล่นเพื่อสันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ หรือนำมาใช้งาน ถ่ายภาพมุมสูง ใช้ในการเกษตร ฯลฯ ควรต้องมีกฎกติกามารยาท เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคลอื่น และเพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตัวผู้บังคับโดรนเอง และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะโดรนลำใหญ่ ๆ มีน้ำหนักพอสมควร แถมมีใบพัดที่หมุนเร็วมาก อาจทำให้เกิดอันตรายต่อบุคคล และทรัพย์สินได้ครับ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ โดรน นั้น มีประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินขจากภายนอก พ.ศ.2558 ลงวันที่ 2 ก.ค. 58 ลงนามโดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมต.คมนาคม (เริ่มใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ) โดยแบ่งประเภทของอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกตามประกาศนี้ เป็น 2 ประเภท คือ
1. ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการเล่นเป็นงานอดิเรก เพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา แบ่งเป็น 2 ขนาด คือ
ก) น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม
ข) น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
2. ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจาก 1. ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังต่อไปนี้
ก) เพื่อรายงานเหตุการณ์ หรือรายงานการจราจร(สื่อมวลชน)
ข) เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำ หรือการแสดงภาพยนต์ หรือรายการโทรทัศน์
ค) เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน
ง) เพื่อการอื่น ๆ
สำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ ก็คงเป็นโดรน ประเภท 1. ก) เป็นส่วนใหญ่ นั่นคือ เป็นโดรนเพื่อความบันเทิง บินเล่นสนุก ๆ ที่น้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี หรือมีผู้แทนโดยชอบธรรมควบคุมดูแล ซึ่งอากาศยานในข้อนี้ กระทรวงคมนาคมอนุญาตให้ทำการบินได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ดังนี้
ก่อนทําการบิน
(ก) ตรวจสอบว่าอากาศยานอยู่ในสภาพที่สามารถทําการบินได้อย่างปลอดภัย ซึ่งรวมถึงตัวอากาศยานและระบบควบคุมอากาศยาน
(ข) ได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ที่จะทําการบิน
(ค) ทําการศึกษาพื้นที่และชั้นของห้วงอากาศที่จะทําการบิน
(ง) มีแผนฉุกเฉิน รวมถึงแผนสําหรับกรณีเกิดอุบัติเหตุ การรักษาพยาบาล และการแก้ปัญหากรณีไม่สามารถบังคับอากาศยานได้
ระหว่างทําการบิน
(ก) ห้ามทําการบินในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และรบกวนความสงบสุขของบุคคลอื่น
(ข) ห้ามทําการบินเข้าไปในบริเวณเขตห้าม เขตจํากัด และเขตอันตรายตามที่ประกาศใน เอกสารแถลงข่าวการบินของประเทศไทย (Aeronautical Information Publication – Thailand หรือ AIP – Thailand) รวมทั้ง สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ โรงพยาบาล เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
(ค) แนวการบินขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง
(ง) ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องสามารถมองเห็นอากาศยานได้ตลอดเวลาที่ทําการบิน และห้ามทําการบังคับอากาศยานโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์อื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง
(จ) ต้องทําการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน
(ฉ) ห้ามทําการบินเข้าใกล้หรือเข้าไปในเมฆ
(ช) ห้ามทําการบินภายในระยะเก้ากิโลเมตร (ห้าไมล์ทะเล) จากสนามบิน หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ดําเนินการสนามบินอนุญาต หรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
(ซ) ห้ามทําการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตร ( 300 ฟุต) เหนือพื้นดิน
(ฌ) ห้ามทําการบินเหนือเมือง หมู่บ้าน ชุมชน หรือพื้นที่ที่มีคนมาชุมนุมอยู่
(ญ) ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยานซึ่งมีนักบิน
(ฎ) ห้ามทําการบินละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น
(ฏ) ห้ามทําการบินโดยก่อให้เกิดความเดือดร้อน ความรําคาญ แก่ผู้อื่น
(ฐ) ห้ามส่งหรือพาวัตถุอันตรายตามที่กําหนดในกฎกระทรวง หรืออุปกรณ์ปล่อยแสงเลเซอร์ติดไปกับอากาศยาน
(ฑ) ห้ามทําการบินโดยมีระยะห่างในแนวราบกับบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้าง หรืออาคาร น้อยกว่า 30 เมตร (100 ฟุต)
สำหรับประเภท 1.ข) ที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม กำหนดให้ผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ ไม่เคยโดนโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายยาเสพติดหรือศุลกากร และต้องขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เหมือนประเภท 1.ก และเพิ่มเติมอย่างการบำรุงรักษาอากาศยาน ความชำนาญในการบังคับอากาศยาน ความเข้าใจในกฎจราจรทางอากาศ ต้องมีอุปกรณ์ดับเพลิงที่ใช้งานได้ติดตัว มีประกันภัยต่อบุคคลที่สาม วงเงินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อครั้ง เพิ่มระยะห่างในข้อ (ฑ) เป็นไม่น้อยกว่าห้าสิบเมตร (หนึ่งร้อยห้าสิบฟุต) เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้า
ส่วนอากาศยานประเภท 2. ก็ต้องขึ้นทะเบียนและปฏิบัติเงื่อนไขเช่นเดียวกับประเภท 1.ข กรณีที่ใช้เพื่อรายงานเหตุการณ์หรือรายงานจราจร (สื่อมวลชน) หรือวิจัยและพัฒนาอากาศยาน การขึ้นทะเบียนต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ตามนั้น ส่วนเพื่อใช้ถ่ายภาพหรือการอื่นจะขึ้นทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลได้ โดยการขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลต้องระบุรายชื่อผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานหรือบุคคลที่จำเป็นในการปฏิบัติการบินของอากาศยานด้วย
หากผู้ใดทำกระทำความผิดต่อประกาศ อย่างใดอย่างหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ หนังสือการขึ้นทะเบียนมีอายุ 2 ปี นับแต่วันที่ออกหนังสือ
เข้าใจว่าประกาศดังกล่าวนั้นมาเพื่อควบคุมไม่ให้กระทบต่อการบิน และเพื่อความปลอดภัยของบุคคลอื่นเป็นหลัก ในทางปฏิบัติยังไม่มีการบังคับใช้กันอย่างเต็มที่ ท่านที่ซื้อโดรนมาบินเล่น ก็ขอให้ดูเงื่อนไข ข้อกำหนดข้างต้น เพื่อความปลอดภัยและไม่ละเมิดสิทธิ์ของคนอื่นครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก https://thaisituation.blogspot.com/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น