ต้นไม้ริมทาง ฆาตกรจากอุบัติเหตุจราจร


จากประสบการณ์ "เฝ้าถนน" มากว่าสิบห้าปี  ในทุกเทศกาลที่มีวันหยุดยาว โดยเฉพาะปีใหม่-สงกรานต์  และแม้แต่ช่วงปกติ  ถนนในประเทศไทยนั้นเป็นอันตรายสำหรับผู้ขับขี่จริง ๆ  แม้โดยส่วนใหญ่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจะเกิดจากความประมาทของคนไทยเอง ที่ไม่เคารพกฎหมายจราจร  ทั้งการขับขี่รถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด , การไม่สวมหมวกฯ , เมาแล้วขับ , ขับย้อนศร , แซงในที่คับขัน , หลับใน ฯลฯ

     แต่ที่มีส่วนในการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตบนท้องถนนของบ้านเรา นั่นก็คือ ถนน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยขึ้นได้(หมดหวังกับการปรับนิสัยผู้ขับขี่)  มาดูกันว่าถนนของเราอันตรายอย่างไร และจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดอุบัติเหตุได้อย่างไร  โดยจะขอเน้นถนนระหว่างจังหวัดนะครับ
  • ต้นไม่ข้างทาง  :  ถ้าคุณขับรถตกข้างทาง หรือเกาะกลางถนน คุณมีโอกาสตายสูงมาก  เพราะต้นไม้ข้างทางที่ แขวงการทางใช้งบประมาณปลูกนี่แหละ  รถยนต์พุ่งชนเข้าไปที่ความเร็วมากกว่า 80 กม./ชม. แล้วกระแทกหยุดทันที หรือถูกฉีกขาดเป็นสองท่อน  เกินกว่าที่ตัวถังจะซับแรงเอาไว้ได้  เก็บศพอย่างเดียวครับ  ไม่รู้ว่ามีหลักวิศวกรรมจราจรอะไรในเรื่องนี้ ถ้าไงญาติผู้ตายน่าลองฟ้องร้องกรมทางดูสักที   ทางแก้ไข ริมถนนควรปลูกต้นไม้ที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้น  ต้นไม้ที่สามารถซับแรง ชะลอความเร็วรถได้  หรือทำการ์ดเลน แบริเออร์ ซึ่งต้องใช้งบมหาศาล 
  • จุดตัด จุดกลับรถ  :  ในเส้นทางสายหลัง ไฮเวย์ต่าง ๆ บ้านเรามีจุดตัด ไฟแดง จุดกลับรถมากมายจริง ๆ เป็นจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่การจราจรหนาแน่น  การกลับรถเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายสุด ๆ  จะเห็นได้ว่าในต่างประเทศเขาใช้สะพานกลับรถ เพื่อไม่ให้เกิดจุดตัดอันจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุ(ก็ใช้งบประมาณมากอีกเช่นกัน แต่น่าจะคุ้มกับความสูญเสีย)
  • เส้น-เครื่องหมาย บนถนน  :  พวกการแบ่งช่องทาง ลูกศร ต้องชัดเจนว่าเลนไหน ช่องไหน บังคับให้ตรง หรือ เลี้ยว หรือกลับรถเท่านั้น  ไม่ใช่เครื่องหมายกลับทำให้งง สับสน จนเกิดอุบัติเหตุได้
  • ป้าย สัญลักษณ์ ข้างทาง  :  ต้องชัดเจนว่าไม่ควรมีป้ายโฆษณาอื่นใด อยู่ริมถนน  เพื่อไม่ให้ดึงความสนใจของผู้ขับขี่  ปัจจุบันมีป้ายอะไรไม่รู้เต็มไปหมด  ต้องให้ป้ายที่ไม่เกียวข้อง ไปอยู่ด้านหลัง ห้ามมาอยู่ใกล้ทางเด็ดขาด แนวใกล้ทางต้องมีเฉพาะป้ายจราจรเท่านัั้น  และต้องดำเนินคดีเจ้าของป้ายโฆษณาที่รุกล้ำให้เป็นตัวอย่างด้วย

     เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในแนวคิดการลดอุบัติเหตุที่สามารถแก้ไขได้  ด้วยการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม   เคยมีโอกาสถกเถียงกับเจ้าหน้าที่กรมทาง เขาก็อ้างเรื่องวิศวกรรมจราจร  ไอ้เราก็แค่ผู้ปฏิบัติที่อยู่จริงบนถนนตลอดทั้งปี  เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น  แต่ทำหนังสือไปก็ไม่ค่อยได้ผล  เพราะเขามีแผนการใช้งบประมาณของเขา  จะมาเปลี่ยนแผนก็ยาก  งั้นก็นับศพกันต่อไปครับ  ได้แต่เขียนบ่นอย่างนี้แหละ  ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้วพี่น้อง

ความคิดเห็น

  1. นั่นละฮะถูกต้องทุกประการหมอหน้าบ้านก็เพิ่งเสียชีวิตรถชนต้นไม้ข้างทางปกติขับไม่เกิน80ทางหลวงจังหวัดนึงก็แบบนึงป้ายซับซ้อนเกินความจำเป็นเอางบพวกนี้มาทำสลิงกั้นเป็นแนวสองข้างมีประโยชน์มากกว่าครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น