อุบัติเหตุตาย ย้ายตำรวจ .. นี่มันตรรกะ อะไร ?


ในช่วง 7 วันอันตรายของปี  ทั้งปีใหม่ และ สงกรานต์ ถือเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องตำรวจโรงพักทั่วประเทศทำงานกันอย่างหนัก  ในฐานะทีมงานเฝ้าถนน ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ  โดยต้องคอยเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่าปีก่อนให้ได้  ยิ่งในช่วงสงกรานต์ 62 นี้  ถึงขนาดขู่ว่าหากมีคนตายเพิ่มจะต้องเอาผู้ที่เกี่ยวข้องมาปฏิบัติหน้าที่ ศปก. กันเลยทีเดียว

     ก่อนหน้านี้ก็เคยมีกรณีตัวอย่างมาแล้ว  ที่มีอุบัติเหตุจราจร แล้วมีผู้เสียชีวิตหลายคน  ก็เอาผู้บังคับการจังหวัดมาประจำ ศปก.  ทั้ง ๆ ที่เรื่องอุบัติเหตุจราจรนั้น  มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย  และที่สำคัญ "เจ้าภาพ" ของเรื่องนี้ก็คือ ปภ. หรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง  มีอำนาจ  มีหน้าที่  มีเครื่องมือ กำลังพล และงบประมาณ

     เคยเห็นข่าวการย้ายผู้ว่าราชการ หรือนายอำเภอ ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมอุบัติเหตุจราจร กับบ้างมั๊ยล่ะครับ  ....  ไม่มี   ไม่ใช่แค่ในกรณีนี้ ในเรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน  ผู้บังคับบัญชาไม่ว่ากระทรวงไหน ก็ไม่เอาตัวรอดด้วยการลงโทษลูกน้องในเรื่องที่เขาไม่ผิด

     ยิ่งกรณีอุบัติเหตุทางถนน  เคยเอาสติปัญญาคิดกันบ้างหรือไม่ว่าทำกันมาเป็นสิบปี ตั้งแต่ยุคทักษิณ ทำไมอุบัติเหตุทางถนนถึงไม่ลดลง  ทั้่ง ๆ ที่ตำรวจก็จับกันมากขึ้นทุกปี ๆ  รณรงค์ก็แล้ว  ให้ความรู้ก็แล้ว  ทำป้ายเตือนก็แล้ว   .....  เราไม่ใช่หน่วยเดียวที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพังแน่ ๆ  ตำรวจทำเต็มที่ทุกปี ทุกเทศกาล แล้วมึงจะลงโทษเขาให้มันได้อะไรขึ้นมา   ลูกน้องเสียกำลังใจ  แต่ตัวเองรอดงั้นหรือ ?

     มาดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดอุบัติเหตุทางถนนกันบ้าง ว่าแต่ละหน่วยเขามีบทบาทอย่างไร

  • ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.  หน่วยงานขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย  ได้รับงบประมาณทุกปี  ทำงานผ่านกลไกฝ่ายปกครอง อำเภอท้องที่  สั่งการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • แขวงการทาง  ทางหลวงชนบท  มีหน้าที่ทำถนนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างปลอดภัย  ติดป้ายเตือน  ไฟส่องสว่าง  ไฟสัญญาณ ฯลฯ
  • ขนส่งทางบก  มีหน้าที่ตรวจสภาพรถ ต่อทะเบียนรถที่จะใช้งานบนถนน  ให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย  (ปัญหารถควันดำ ท่อดัง ไม่รู้ว่าผ่าน ตรอ. มาได้อย่างไร)  ตำรวจส่งใบสั่งความเร็ว ถ้าขนส่งไม่ร่วมมือ กฎหมายเรื่องความเร็วก็ไร้ค่า  นับศพกันต่อไป
  • ระบบขนส่งสาธารณะ  เรามีตัวเลือกไม่มากนัก  ถ้าไม่ช้า สกปรก ก็ อันตราย  ถ้าทำให้ดีและปลอดภัย ก็จะลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนไปได้มากทีเดียว

     นี่ยังไม่รวมถึงเรื่องจิตสำนึกการเคารพกฎหมาย  เคารพสิทธิของผู้อื่นในการใช้ถนนสาธารณะ  ที่ต้องบ่มเพาะ สั่งสอนกันตั้งแต่เล็ก ๆ  โตมาจะได้ไม่มีพฤติกรรมบ้าอำนาจ  ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่เคารพกฎหมาย กติกาสังคม  เขียนกฎหมายเอื้อพวกพ้อง  ตั้งคนของตัวเองขึ้นมาทุกหน่วยงานตรวจสอบ  บอกมาแป๊บเดียวล่อไป 5 ปี  แถมยังอยากอยู่ต่ออีก 20 ปี  ....  แค่นี้ก่อน หมอเรียกไปรับยา

ตำรวจไทย ไกลปืนเที่ยง



ความคิดเห็น