15,000 สำนวน ปปช. รับมาทำก็บ้าแล้ว !!


จากกรณีเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ ที่จะเป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับการปราบการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย กฎหมายนี้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้ยกร่าง ก่อนผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถือเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกสิบฉบับที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ 2560

     โดยใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. ดังกล่าว ได้ตีกรอบเวลาการทำงานอย่างชัดเจน โดยหวังว่า ป.ป.ช. จะทำงานได้ตามกำหนด ไม่ช้าจนเกินไป และไม่ดองคดีเพื่อหวังช่วยผู้ถูกกล่าวหา 

     มาตรา 48 กำหนดว่า เมื่อมีคดีเข้าสู่มือของ ป.ป.ช. ต้องดำเนินการโดยพลัน หากจำเป็นต้องไต่สวน ต้องทำให้แล้วเสร็จและมีความเห็นหรือวินิจฉัยภายในเวลาไม่เกินสองปี หรือภายในเวลาที่สั้นกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประเภทของคดีตามที่คณะกรรมการป.ป.ช. จะออกระเบียบมากำหนดกรอบเวลาต่อไป

     แต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น ระยะเวลาดังกล่าวยังสามารถขยายออกไปได้อีกหนึ่งปี รวมแล้วต้องไม่เกินสามปี ซึ่งก็ยังมีเหตุยกเว้นอีกสำหรับกรณีต้องไปไต่สวนในต่างประเทศ อาจขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้

     มาตรา 50 กำหนดให้ กรณีต้องไต่สวนเบื้องต้น ให้ทำรายงานไต่สวนเบื้องต้นให้เสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายใน 180 วัน และมาตรา 51 กำหนดให้คดีสำคัญที่มีผลกระทบกว้างขวางสามารถแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนก็ได้ ซึ่งต้องจัดทำสำนวนการไต่สวนให้เสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในหนึ่งปี ทั้งสองกรณีสามารถขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละ 60 วัน

     นอกจากนี้ยังมีมาตรา 47 คอยกำกับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการมีหน้าที่ควบคุมและกวดขันให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนปฏิบัติหน้าที่ให้เสร็จภายในกำหนดเวลา หากผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติให้แล้วเสร็จให้ดำเนินการทางวินัยตามควรแก่กรณี

     จนมีข่าวว่า ป.ป.ช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  องค์กรคนดีย์ โคตรคุณภาพ  จะเอาสำนวนกว่า 15,000 สำนวน  ที่ "ทำไม่เสร็จ"  ไม่มีปัญญาทำให้เสร็จ  ผลักภาระมาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นคนทำต่อ   และคงต้องมีการเจรจา ขอความร่วมมือระดับผู้บริหาร  แต่ขอให้ผู้บริหารระดับ ตร. ตรองดูให้ดี  รับขี้มาทำ  มีแต่ทำให้ลูกน้องต้องเดือดร้อน  ความเละเทะที่ ป.ป.ช. สร้างเอง  ก็ต้องแก้เอง

     หลาย ๆ เรื่อง "ดอง" มาหลายปี  จนพยานหลักฐานเสียหายหมดแล้ว  หน่วยงาน ป.ป.ช. ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละครับ  เอาความน่าเชื่อถือของตัวเองมาละเลงจนแทบไม่เหลือ  เลือกเอาแต่คดีฝ่ายตรงข้ามผู้มีอำนาจมาไล่ล่าแบบค้านสายตา  ส่วนของพวกกันก็ถ่วงเวลาบ้าง หายไปกับสายน้ำบ้าง  ตัดจบแบบหน้าด้าน ๆ ก็มี

     เดิมที ระบบการทำงานของ ป.ป.ช. หรือหน่วยงานอิสระอื่น ๆ  ไม่มีกรอบเวลามากำหนด   พี่ก็เล่นการเมืองกันสบายใจไปเลย  คราวนี้สภาคนดี พี่เลือกมากะมือ ของ คสช.  ออกกฎหมายบังคับมา  องค์กรคนดีก็ทำกันเองแล้วกัน  ป.ป.ช. จังหวัดก็มี  เงินเดือนก็มากกว่าตำรวจเยอะแยะ  ถ้าตั้งใจทำงานกันจริง ๆ ทำไมจะทำไม่เสร็จ  กล้าเปิดให้ดูบันทึกพนักงานสอบสวนของแต่ละคดีมั๊ยล่ะ  จะได้เห็นว่า แต่ละคดี หยิบเอามาทำกันวันไหนบ้าง  วันที่ทำงาน กับวันที่ดองเค็ม  อย่างไหนมากกว่ากัน  ... บอกเลย เป็นตำรวจโดนตั้งกรรมการลงโทษไปแล้ว

     ตำรวจทำสำนวนในระบบกล่าวหา  ส่วน ป.ป.ช. ใช้ระบบไต่สวน  อำนาจล้นฟ้า ไร้การถ่วงดุล  ร่างกฎหมายให้อำนาจไว้เยอะ  ตอนเข้ามารับตำแหน่งก็รู้อยู่แล้วว่ามีหน้าที่อะไร ปริมาณงานค้างนี่ก็ต้องรู้อยู่แล้ว   พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ  ในฐานะประธาน ป.ป.ช.  ทำไมไม่บริหารจัดการในองค์กรตัวเองให้แล้วเสร็จ    คุณภาพคนสะท้อนคุณภาพของผู้ที่แต่งตั้งท่านหรือไม่  ถ้ายังรักในองค์กรตำรวจ ก็อย่าเอาขี้มาทิ้งให้ตำรวจสิครับ ... ขี้เอง ก็เช็ดเอง ล้างเอง

อ่านข้อมูลกฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ คลิ๊กที่นี่   


ความคิดเห็น