ไอเดียบรรเจิด+กระฉูด อีกแล้ว สำหรับบรรดาผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยากจะทันสมัย เป็นโปลิศฉี่จุดฉูนย์ ออกโครงการเพ้อฝัน ค่อยไปทางเพ้อเจ้อ อย่าง Cyber Village มาให้พี่น้องตำรวจทั่วประเทศปวดหัวกันอีกแล้ว ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตำรวจนะครับที่เดือดร้อน ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องมาวุ่นวายกับโครงการของตำรวจอีกหนึ่งโครงการอีกแล้ว
และนี่คือส่วนหนึ่งที่ทางหัวหน้าสถานีไกลปืนเที่ยงสะท้อนมา กับนโยบาย Cyber Village ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ขออนุญาตเอารายละเอียดสถานีออกนะครับ เพื่อความปลอดภัย)
**********
เรียนผู้บังคับบัญชา สภ.เมืองแมน(นามสมมุติ) .. ขอรายงานปัญหาอุปสรรค ในการดำเนินการตามโครงการ RTPCybervillage โดยใช้คลับเฮาส์ ดังนี้
- สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นป่าเขา ประชาชนในเขตพื้นที่ไม่มีอุปกรณ์มือถือใช้
- ประชากรในเขตพื้นที่มีแต่กลุ่มเด็ก คนชรา ไม่สนใจเทคโนโลยี
- ความคาดหวังในตำรวจคือ ให้ตำรวจทำงานของตนในการป้องกันและปราบปราม จับกุมคดียาเสพติดให้ลดลง
- ประชาชนไม่สนใจโครงการแบบนี้ เพราะต้องดิ้นรนทำมาหากิน เลี้ยงชีพ แต่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการป้องกันชุมชนจากอาชญากรรม
- โครงการนี้เพิ่มความห่างเหินระหว่างตำรวจกับประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ประชาชนมองตำรวจว่านำอะไรมาให้ นำปัญหามาสู่ชุมชนและมองตำรวจในภาพลบว่าทำตนฟุ่มเฟือยไม่พอเพียง ไฮโซ ซึ่งสวนทางกับการใกล้ชิดกับประชาชนแบบเป็นกันเอง
- เรื่องการเชื่อมต่อมือถือเน็ตไม่เสถียร และเพิ่มรายจ่ายให้ประชาชน โดยที่ประชาชนไม่ได้อะไร
- จากการสำรวจสอบถามความพึงพอใจประชาชนไม่อยากเข้าร่วมโครงการนี้ สำหรับพื้นที่ห่างไกลชนบท พึงพอใจการทำงานตำรวจแบบดั้งเดิม คือเป็นกันเองมากกว่าครับฯลฯ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
***********
ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัตินะครับ นอกจากนี้ผมยังมีข้อสังเกตุ หรือข้อโต้แย้งเพิ่มเติมอีกดังนี้ครับ
- ต้องโหลดแอพฯ Club House เป็นภาระทั้งตำรวจและประชาชน แอพเต็มเครื่อง เปลืองพื้นที่จััดเก็บ และเปลืองค่าเน็ตเมื่อต้องใช้ ตำรวจต้องเรียนรู้ ใช้ให้เป็น แล้วต้องไปสอนประชาชนให้ใช้ให้เป็นอีก กว่าจะได้เริ่มคุยกัน ซึ่งจริง ๆ ตอนนี้แอพฯ Club House มันเอาท์ไปแล้ว
- ต้องนัดเวลากันว่าจะคุย แล้วชาวบ้านต้องสละเวลามาวุ่นวายกับนโยบายของตำรวจ ทั้ง ๆ ที่เขาสามารถพูดคุย หรือส่งข้อมูลต่าง ๆ ให้ตำรวจในพื้นที่ได้อยู่แล้ว ด้วยการพูดจาโดยตรง , โทรศัพท์ หรือ ไลน์คุยกัน ได้เลย
- สภาพสังคมในเมือง กับชนบทต่างกัน คนในเมือง บ้านมีรั้วสูง เพื่อนบ้านไม่รู้จัก คนในซอยมีใครบ้าง ทำอาชีพอะไร ก็ตอบไม่ได้ แต่คนชนบทนั้งต่างกัน จะเอาแอพฯ เอาเทคโนโลยีอะไร ดูบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย
- งานประจำก็ล้นอยู่แล้ว ทั้งออกตรวจ , Police 4.0 , ระงับเหตุ , ว.4 งานในพื้นที่ , ตั้งจุดตรวจ-จุดสกัด , ชุมชนและมวลชนสัมพันธ์ ฯลฯ ไม่ได้ว่างนะครับ จะเพิ่มงานให้แบกอะไรกันนักหนา อย่างนี้ไง คนแม่งถึงหนีไปช่วยราชการกับเจ้านายกันหมด ไม่อยากอยู่โรงพักเพราะข้อสั่งการแบบนี้แหละ
- นโยบายอะไรก็ตามแต่ ควรต้องผ่านงานยุทธศาสตร์ ตร. ศึกษาความเป็นไปได้ ไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ปฏิบัติ และให้ ผบ.ตร. อนุมัติ เป็นนโยบายที่จะได้ทำต่อเนื่องไป ไม่ใช่นโยบายส่วนตัวที่อยากได้พื้นที่ข่าว หิวแสง อะไรแบบนั้น ทำให้นึกถึงนโยบาย ฝากบ้านฯ , Police i lert U , Home Guard , ตำรวจอาสา , สมาชิกแจ้งข่าว , ยกระดับการให้บริการ , โรงพักเพื่อประชาชน ฯลฯ แทบไม่เคยถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการนะครับ
- เป็นนโยบายที่ไม่มีงบประมาณ(อีกแล้ว) ต้องรบกวนทรัพยากรส่วนตัว คือ สมาร์ทโฟนของตำรวจและประชาชน รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ตของแต่ละคนอีกด้วย
อยากจะบอกว่าพอเถอะครับ ไม่ต้องคิดงานอะไรมาให้ทำแล้ว เอาแค่งานในหน้าที่ เน้น ๆ ทำให้มันดีก่อน ไม่ต้องเล่นท่า พลิกแพลงอะไร จัดคนลงมาโรงพักให้เพียงพอ อุปกรณ์การทำงาน น้ำมัน ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ งบประมาณหายไปกับการก่อสร้างที่ตำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ ตั้งหน่วยงาน ขยายหน่วยงานโดยเอาคนของโรงพักไป(เกษียณแล้วไม่ได้คืน) เรียกตัวไปช่วยราชการ ติดตามเจ้านาย อยู่ชุดปฏิบัติการพิเศษที่งานน้อย เงินเยอะ สารพัดที่นายพลจะทำ อย่าบอกให้ได้ยินนะว่า "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"
ตำรวจบ้านนอก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น