- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
โพสต์แนะนำ
- รับลิงก์
- X
- อีเมล
- แอปอื่นๆ
อุดมคติตำรวจ
เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
กรุณาปราณีต่อประชาชน
อดทนต่อความเจ็บใจ
ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก
ไม่มักมากในลาภผล
มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ดำรงตนในยุติธรรม
กระทำการด้วยปัญญา
รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต
**************
เชื่อว่าทุกท่านท่องกันได้ขึ้นใจอยู่แล้ว สำหรับที่มาเป็นบทร้อยกรองที่ พระนิพนธ์โดย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(จวน อุฎฐายีมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๖ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙ โดยมีคำอธิบายดังนี้(คำบรรยายวิชา อุดมคติตำรวจ หลักสูตร การฝึกอบรมเพิ่มเติมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานสายตรวจในงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของ ภ.๑ เมื่อวันที่ ๓ ก.พ. ๒๕๕๓ ณ ศฝร.ภ.๑)
- เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ คำว่าเคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ มีความหมายลึกซึ้งในตัวของมันเอง ท่านเป็นข้าราชการ คำว่า ข้าราชการ มีความหมายมหาศาล เพราะท่านคือผู้รับเอางานของพระราชามาทำ การทำงานป้องกันปราบปรามเป็นการทำงานเพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อท่านรับงานเหล่านี้มาทำ ท่านต้องทำให้เต็มที่ ให้สมกับคำว่า เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่
- กรุณาปราณีต่อประชาชน ตำรวจอยู่กับประชาชนต้องได้ใจประชาชน ประชาชนมีความทุกข์ มีเรื่องเดือดร้อน อย่ามองเรื่องขโมยขึ้นบ้าน ถูกจี้ ถูกชิง ถูกทำร้าย ที่ประสบพบเจออยู่เป็นประจำจนเคยชินว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาชนที่ได้รับความทุกข์ หรือเรื่องเดือดร้อนดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินพวกเขา เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วตำรวจต้องอยู่กับประชาชน ต้องทำงานให้ได้ใจประชาชน การได้ใจประชาชนคือ เขาเดือดร้อนเรื่องอะไร ต้องไปช่วยเขา ทำอย่างไรถึงจะบำบัดทุกข์เพื่อให้เขาอยู่อย่างเป็นสุข
- อดทนต่อความเจ็บใจ การที่จะมาเป็นตำรวจต้องยอมรับสภาพ เพราะอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่เหนื่อยยาก เป็นอาชีพที่ต้องผจญกับปัญหานานาชนิด ทั้งคำด่า คำบ่น คำว่า ซึ่งทำให้ต้องเจ็บใจอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นให้มากและปฏิบัติงานอย่าให้ประชาชนดูถูกได้ ดังที่พระพุทธทาสได้บอกว่า "คนเราทนดาบ ทนหอกได้ แต่ที่ทนไม่ได้ คือใครมาดูถูกเรา"
- ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก การออกไปปฏิบัติหน้าที่ต้องหนักเอา เบาสู้ ไม่หวั่นไหว ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก มนุษย์เราอยู่ที่ใจ จะทำหรือไม่ทำอยู่ที่ใจ ไม่มีใครสามารถบังคับได้ บังคับให้ตายถ้าใจไม่ทำสักอย่าง ทุกอย่างก็จบด้วยการไม่ทำ ฉะนั้นขอให้เราคิดว่า ถ้าเริ่มต้นด้วยใจแล้ว เราย่อมจะทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยดี
- ไม่มักมากในลาภผล คำนี้จำเป็นมาก ตำรวจต้องมีอยู่ในใจเสมอ จุดอ่อนมีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ห้ามใจตัวเองไม่ได้ 2.เปราะบางต่อความโลภ แต่อะไรคือความพอดี อยู่ในทางสายกลาง อะไรที่ทำแล้วคนอื่นไม่เดือดร้อน นั่นแหละคือสิ่งที่พอดีโดยไม่ต้องไปรีดไถ โดยยึดหลักที่ว่า "เราอยู่ได้ เขาอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ไม่มีเรื่อง" บางครั้งตำรวจทำประโยชน์ให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการบริการตามหน้าที่ ประชาชนเขาก็ตอบแทนด้วยน้ำใจ ซึ่งอาจจะมากกว่าการกลั่นแกล้งประชาชนเพื่อหวังผลประโยชน์ต่าง ๆ เสียอีก
- มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน โดยภาระหน้าที่ของตำรวจก็คือการสร้างความอบอุ่นใจแก่ประชาชน ถือว่าเป็นการบำเพ็ญตนอยู่แล้ว ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนในหน้าที่คือสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในสังคม
- ดำรงตนในยุติธรรม ตำรวจคือผู้รักษากฎหมาย แต่ตำรวจไม่ใช่กฎหมาย ตำรวจเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความยุติธรรม เป็นผู้รักษากติกา การดำรงตนในยุติธรรม คือรักษาทุกอย่างให้เป็นไปตามกติกา ดังนั้นตำรวจต้องมั่นคงในกติกา ตำรวจต้องรักษากฎหมาย
- กระทำการด้วยปัญญา การกระทำการด้วยปัญญา สิ่งที่ตำรวจทำต้องรู้จริงเสมอ ไม่ใช่คาดเดา ตำรวจต้องทำทุกอย่างด้วยปัญญา ซึ่งต้องขวนขวายหาความรู้มาใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา เรื่องไหนที่ไม่รู้ ต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม อย่ากระทำลงไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความรู้ไม่มีวันหมด จงเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
- รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต ในการดำเนินชีวิต ถ้าใครไม่มีข้อนี้ โอกาสเสี่ยงสูงมาก ความไม่ประมาทกับชีวิตต้องเสมอกัน ต้องเท่ากัน ถ้ามีความประมาทเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงชีวิต ความไม่ประมาทนี่แหละที่จะทำให้อยู่รอดปลอดภัย เพราะนั่นคือสิ่งที่จะรักษาชีวิตของตำรวจ ไม่ใช่กล้าบ้าบิ่น เพราะ นั่นคือคนที่กำลังประมาท
อุดมคติตำรวจ เป็นอุดมคติที่เขียนไว้ดีมาก จบด้วยข้อรักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต คือดูแลชีวิตตำรวจให้อยู่รอดปลอดภัย นั่นคือ สิ่งที่เป็นประโยชน์ในเบื้องต้นเท่านั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตัวพวกท่านเอง ถ้าทำงานทุกอย่างด้วยความไม่ประมาท ท่านจะสามารถอยู่รอดปลอดภัยจนเกษียณอายุราชการ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น