พล.ต.อ.อชิรวิทย์ฯ ตอกกลับ ข้อเสนอ ปฏิรูปตำรวจ !!

ท่านป๋อม พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ให้สัมภาษณ์กับ มติชน เอาไว้น่าฟังครับ  เป็นตรรกะและเป็นเหตุเป็นผลดีมาก  ถือว่าท่านเป็นอีกหนึ่งเสียงคุณภาพของตำรวจครับ  มาดูบทสัมภาษณ์ดังกล่าวกัน

แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะเล่นเกมถอย ประกาศยุบสภา กระทั่งมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 กระนั้นก็ยังไม่สิ้นเสียงนกหวีด !?

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือ กปปส.และพวก ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ และดำเนินการจัดตั้งสภาประชาชน ในสัดส่วนที่ กปปส.ออกแบบไว้ ปฏิรูปการเมืองของประเทศก่อนการเลือกตั้ง ซึ่ง กปปส.ถือเป็นความสำคัญลำดับแรก 

จากนั้นจะเดินหน้า ปฏิรูปตำรวจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง เชิงระบบไปแบบคู่ขนาน หลังจากที่ กปปส.และพันธมิตรแสดงออกตรงกันว่าไม่พอใจบทบาทของตำรวจที่ปิดกั้น ขัดขวาง ขัดใจในการเข้าถึงสถานที่สำคัญของราชการของกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงการที่ตำรวจขออนุมัติออกหมายจับนายสุเทพ ในข้อหาฉกรรจ์ กบฏ และออกหมายจับแกนนำคนอื่นๆ ในข้อหาอื่นๆ ทำให้เนื้อหาการไฮด์ปาร์ก อภิปราย บนเวทีในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา กว่าครึ่งหนึ่งเป็นการโจมตีตำรวจ และบิ๊กตำรวจหลายคน ปลุกกระแสความเกลียดชังตำรวจในหมู่แนวร่วม

ในเวทีหาทางออกประเทศ ที่ทั้งกองทัพและรัฐบาลจัดขึ้น พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช คณะกรรมการข้าราชการตำรวจผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ) อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รับบทเป็น ผู้แทนตำรวจ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

มติชน สัมภาษณ์ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ที่เป็นเสียงของ ตำรวจ ในเวลานี้ ถึงสภาวะที่เกิดขึ้น เมื่อตำรวจจะถูกปฏิรูป เมื่อมีการปลุกให้เกิดความเกลียดชังตำรวจ

พล.ต.อ.อชิรวิทย์จึงฝากข้อความ 5 ข้อถึงนายสุเทพ และผู้ที่กำลังจับจ้อง ชำแหละตำรวจไทย

ข้อแรก นายสุเทพเคยเป็นประธาน ก.ตร.ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่ 2 ปีกว่า ตอนนั้นไม่เคยแถลงในที่ประชุมเลยว่าจะปฏิรูปโครงสร้าง พัฒนาตำรวจอย่างไร ในตอนหนึ่งมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงงานตำรวจก็เอาคนนอกมาทำทั้งนั้น สร้างบ้านโดยไม่ถามคนในบ้านเลย ครั้งนั้นจึงไม่สำเร็จ หาก 2 ปีกว่าที่นายสุเทพอยู่ในบทบาทกำกับตำรวจแล้วแก้ปัญหา พัฒนาตำรวจอย่างจริงจัง ดังที่พูดในวันนี้ ใช้เวลาตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ ตอนนั้นมีโอกาสรับรู้ปัญหาของตำรวจจริงๆ ถ้าได้แก้ตรงจุด ไม่ต้องพูดว่าปฏิรูปในวันนี้หรอก การให้ตำรวจขึ้นกับท้องถิ่นนั้นพูดง่าย ทำยาก หากไทยยังเป็นรัฐเดี่ยว ที่ท้องถิ่นเลี้ยงตัวเองไม่ได้อย่างพอเพียง ยังต้องมีการอุดหนุนจากรัฐบาลจากส่วนกลาง 

ข้อสอง ปัญหาตำรวจจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่โครงสร้าง แต่อยู่ที่พฤติกรรมของตำรวจ บางคน บางกลุ่ม ที่ถูกใช้โดยกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นพฤติกรรมตำรวจจะไปในทิศทางใดก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มผลประโยชน์ดังกล่าว ถ้ากลุ่มผลประโยชน์ลด ละ เลิก ปัญหาของตำรวจจะคลี่คลาย

ข้อสาม ไม่เคยมีใครมาถามตำรวจว่าต้องการอะไรอย่างจริงจัง หากถามจะรู้ว่าตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความขาดแคลนทั้งหมดที่รัฐผลักภาระให้ รัฐลงทุนให้ตำรวจ 10 สตางค์ ในเรื่องเครื่องมือ ที่อยู่อาศัย อาวุธยุทโธปกรณ์ สถานที่ทำงาน แต่เรียกร้องคืนจากตำรวจ 1 บาท มิหนำซ้ำในการลงทุนนั้นยังมีการฉ้อฉลกลโกง ขณะที่ในยุคที่นายสุเทพเป็นประธาน ก.ตร.ปรากฏหลักฐานกรณีการสร้างโรงพัก ทำให้ตำรวจได้รู้สึกว่าฝ่ายการเมืองไม่ดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง

ข้อสี่ ตำรวจเป็นกลไกของรัฐอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องดูแลใช้ตำรวจ กฎหมายให้นายกรัฐมนตรีเป็นทั้งประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กำกับด้านนโยบาย เป็นทั้งประธาน ก.ตร.ที่ควบคุมการบริหารงานบุคคลของตำรวจ ทุกพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลก็ผ่านบทบาทนี้ใช้อำนาจนี้กันทั้งนั้น แต่เมื่อพ้นอำนาจหน้าที่รับผิดชอบทุกคนจะต้องประณามหยามเหยียดตำรวจ ตำรวจเราไม่ใช่พวกใคร เราเป็นผู้รับใช้ประชาชน ที่ต้องตัดสินว่าตำรวจดีเลวอย่างไร ภาพลักษณ์ที่เป็นอยู่แม้แต่งานวิจัยจะมุ่งไปที่ภาพลักษณ์ด้านลบ ทั้งที่เราก็มีภาพลักษณ์ด้านบวก แต่มักถูกเสนอไปโดยอคติที่มีต่อตำรวจ 

หากให้ความเป็นธรรมกับตำรวจเราจะเห็นว่าตำรวจดีมีอีกมากการวินิจฉัยตำรวจโดยนำข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ผิดจากข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วน การวินิจฉัยตำรวจจึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ถ้ามองตำรวจอย่างปราศจากอคติ พูดจากันอย่างมีมารยาท รับฟังด้วยความเปิดกว้าง มีสติปัญญาจะทำให้ทุกปัญหา แม้แต่ปัญหาตำรวจคลี่คลายได้

และ ข้อสุดท้าย ตำรวจนั้นมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็งทั้งในและนอกองค์กร มีวินัยครอบคลุมไปหมด ในองค์กรก็ขจัดคนในองค์กรที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยและประชาชนในปีหนึ่งจำนวนมาก องค์กรภายนอก แม้แต่สื่อมวลชนก็ตรวจสอบตำรวจอย่างเข้มข้นอยู่แล้ว ในการประเมินผลงานหน่วยงานภาครัฐตำรวจได้รับการประเมินติดอันดับประเทศบ่อยครั้ง แต่มักไม่ถูกพูดถึง เพราะอคติต่อตำรวจ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีหน้าที่รักษากฎหมายของตำรวจย่อมสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับผู้ที่ละเมิดกฎหมายหรือกระทำผิดพล.ต.อ.อชิรวิทย์ฝากข้อความ พร้อมชี้แจงว่า
ทุกสังคมต้องใช้ตำรวจทั้งนั้น ตำรวจถูกฝึกให้รักษาความสงบเรียบร้อยดูแลความขัดแย้งสังคม ภารกิจอย่างนี้ไม่ใช้ตำรวจไม่ได้ ไปใช้องคาพยพอื่น ยิ่งเสียหายหนัก ดังที่เป็นอยู่ในรัฐบาลที่แล้ว 

สังคมที่มีความขัดแย้ง ตำรวจจะอยู่ตรงกลางเสมอ เราไม่ต้องไปทำความเข้าใจหรอก เมื่อความขัดแย้งหมดไป ความจริงปรากฏ นั่นคือบทพิสูจน์ว่าตำรวจยืนอยู่ฝ่ายใด ตำรวจไม่มีสี ไม่มีเหล่า สีตำรวจคือสีแผ่นดิน สีกากีที่แปลว่าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นตำรวจจึงเป็นที่รองรับทั้งอารมณ์และความขัดแย้งต่างๆ ทั้งหมด อาชีพตำรวจมันต้องสาป เพราะต้องอยู่บนความขัดแย้งของคนสองฝ่าย หรือหลายฝ่ายอยู่แล้ว ใครเข้ามาในอาชีพนี้ต้องเจออย่างนี้ 

ใครจะประณามหยามเหยียดตำรวจต้องนึกถึงว่าเมื่อตัวเองมีอำนาจรัฐใช้ตำรวจหรือไม่ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลใช้ตำรวจทั้งนั้น ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม เพราะฉะนั้นตำรวจไม่ต้องไปแก้ตัว แก้ต่าง ในความขัดแย้งมันต้องมีฝ่ายหนึ่งที่พอใจ อีกฝ่ายไม่พอใจการปฏิบัติงานของเรา 

ในคดีอาญาเราอยู่ระหว่างความขัดแย้งของผู้เสียหายกับผู้ต้องหา เมื่อสรุปคดี อีกฝ่ายย่อมไม่พอใจ เป็นธรรมชาติของมนุษย์เพราะฉะนั้นไม่ต้องแก้ตัว สิ่งสำคัญคือตำรวจต้องยึดมั่นในตัวบทกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบอย่างยุติธรรม นั่นจะเป็นคำอธิบายให้สังคมได้เอง พล.ต.อ.อชิรวิทย์กล่าวทิ้งท้าย

ความคิดเห็น

  1. นี่คือเสาหลักของตำรวจ ด้วยความเคารพอย่างสูง ขอบคุณครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น