เป้ายาเสพติด คนกำหนดไม่ได้ทำ คนทำซวยไป

ทุก ๆ ปีจะมีการกำหนดเป้าหมายการจับกุมยาเสพติดมาจากฟากฟ้า ให้หน่วยผู้ปฏิบัติรับไปดำเนินการ  ปกติก็จะมีเป้า ผู้เสพ , ตรวจสอบทรัพย์สิน , ขยายผล , หมายจับ , 5 ข้อหาสำคัญ  ซึ่งก็ต้องไล่บี้ทำกันให้บรรลุเป้าให้ได้

     การทำงานแบบมีเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง  โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ยิ่งต้องปราบปรามจับกุม และยึดทรัพย์ให้เข็ดหลาบ   แต่ที่มีปัญหาคือการแบ่งเป้าหมายมาให้ระดับสถานี  เพราะตัวกองบังคับการ  ได้รับเป้ารวมมา  การแบ่งเป้าหมายควรดูจากจำนวนพื้นที่ ประชากร และสถิติย้อนหลัง เพื่อหาความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่  ไม่ใช่หารแบ่งง่าย ๆ เพราะจะกลายเป็นว่าบางพื้นที่ทำให้ตายก็ไม่ได้ตามเป้า  ในขณะที่อีกที่หนึ่งทำสบาย ๆ ก็ทะลุเป้า  และพอทะลุเป้าแล้วก็เฉย ๆ แล้ว  ผ่อนคันเร่งเลย  ทำเกินเป้านิดหน่อยกลายเป็นได้ความดีความชอบ  ทั้ง ๆ ที่ยอดการจับกุม-ยึดทรัพย์ ก็พอ ๆ กับปีก่อน ไม่ได้ดีเด่นอะไร  หนำซ้ำบางแห่งไม่แบ่งเป้าให้กองกำกับการสืบสวนด้วย  ทั้ง ๆ ที่ก็จับกุมมาโดยตลอด

     การแบ่งเป้าหมายที่มีปัญหาดังกล่าว  เป็นความไม่ยุติธรรม หรือมักง่าย ของผู้บังคับบัญชา  หรืออาจจะเป็นการวางเกมเอาไว้มอบความดีความชอบให้คนของตัวเองก็สุดแท้แต่  แต่มันจะมีผลต่อการปราบปรามยาเสพติดแน่นอน  

     อีกอย่างถ้าจะกำหนดเป้ามาแบบนี้ เช่น 5 ข้อหาสำคัญ ร้อยละ 20 - 30 ของการจับกุม  ถ้างั้นปีนี้จับให้น้อย ปีหน้าก็ไม่เหนื่อย  เพราะเหนื่อยไปก็ไม่ได้อะไร เสี่ยงตายไปก็เท่านั้น เก็บชีวิตไว้ดูแลลูกเมียดีกว่า  ถ้าคิดกันอย่างนี้  เจ้านายจะทำไง ? / ปัจจุบันทำงานกันด้วยใจ เพราะทำงานนอกเครื่องแบบนั้นใช้งบประมาณมากกว่าปกติ  แต่ไม่มีอะไรมาสนับสนุนเลย รถส่วนตัว ปืนซื้อเอง ค่าโทรฯ น้ำมัน กินอยู่ เลี้ยงสาย(ไม่เลี้ยงสาย ใครมันจะทำงานให้วะ ตัวมันเองก็เสี่ยงที่ไปชี้เป้า ล่อซื้อให้) สารพัด

หมายเหตุ ศูนย์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด จะมีหน่วยงานหลัก 3 ฝ่ายเพื่อรับผิดชอบงานคนละด้าน คือ ฝ่ายปกครอง-อบรมกลุ่มเสี่ยง , สาธารณสุข-บำบัด , ตำรวจ-จับกุม  ผู้อำนวยการศูนย์ฯ คือฝ่ายปกครอง จะได้รับความดีความชอบมากกว่าใคร น่าแปลกเพราะการจับกุม ตำรวจทำเอง แต่ตอนอบรม หรือบำบัด กลับบูรณาการทุกหน่วย มันแฟร์ม่ะ  อีกอย่างคือการแบ่งงบ ก็ไม่แฟร์นะ

ความคิดเห็น