มูลนิธิหญิง ร้องตำรวจป้องกันปัญหาลวนลามหญิงช่วงสงกรานต์

เครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เรียกร้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการลวนลามทางเพศช่วงสงกรานต์ 
    
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายภาคีเครือข่ายมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  พร้อมด้วย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และนักเรียน นักศึกษา รวมกว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านทาง พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

เรียกร้องให้ตำรวจวางมาตรการป้องปราม และบังคับใช้กฎหมาย กรณีผู้หญิงและเด็กถูกลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ มีอาการมึนเมา และปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่เล่นน้ำ ที่ไม่ได้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
    
สาระสำคัญภายในจดหมายเปิดผนึก คือการเรียกร้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาการถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 

พร้อมสนับสนุนการจัดพื้นที่เล่นน้ำ ที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกำชับหน่วยงานในสังกัดให้ระมัดระวังการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ร่วมกับธุรกิจแอลกอฮอล์ ที่อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเครื่องมือทางการตลาด

ปี 2557 มูลนิธิฯ สำรวจ “มุมมองวัยรุ่นชายต่อปัญหาล่วงละเมิดทางเพศช่วงสงกรานต์” อายุระหว่าง15-25 ปี ในพื้นที่ กทม. พบว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมากที่สุด ในวันสงกรานต์ คือ ทะเลาะวิวาท ร้อยละ30  รองลงมา คือ แต่งตัวล่อแหลมร้อยละ27 และอุบัติเหตุจากการขับรถร้อยละ16 รวมถึงปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศร้อยละ13

ขอบคุณข่าวจาก VoiceTV.co.th





     ทั้งนี้ทาง ครม. ได้เห็นชอบวิถีปฏิบัติในการเล่นน้ำในประเพณีสงกรานต์ตามแบบดั่งเดิมของไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ รวมทั้ง มอบหมายให้ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสาธารณะได้รับทราบถึงระเบียบข้อห้ามดังนี้

  1. การแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ใส่เสื้อผ้าที่ล่อแหลมโดยรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย ผ้าพื้นเมือง หรือเสื้อลายดอก
  2. การห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์
  3. การห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง และโฟม
  4. การห้ามใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงหรืออุปกรณ์เล่นน้ำที่อาจเกิดอันตรายโดยรณรงค์ให้ใช้ขันน้ำตามประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม
  5. การห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำในการเล่นน้ำสงกรานต์ไปในที่ชุมชนหรือบริเวณจัดงาน
  6. การแสดงภาพลักษณ์ที่เหมาะสมในการเล่นน้ำสงกรานต์โดยรณรงค์ไม่ให้มีการแสดงหรือการเต้นที่ไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย
  7. หากมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมประเพณีงานสงกรานต์ ขอให้จัดกิจกรรมที่สอดคล้องและส่งเสริมประเพณีไทย
  8. ขอให้มีการกำหนดเวลาการเล่นน้ำที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการจราจร และการเกิดอาชญากรรมในยามวิกาล



ความคิดเห็น