โครงสร้างตำรวจชุด สนช. สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นกระทรวง ผบ.ตร.เป็นปลัด โละผู้ช่วยผบ.ตร. ที่ปรึกษา(สบ10) นายสิบเลื่อนไหลถึงสารวัตร !!
เมื่อวันที่22เมษายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.)มีรายงานผลสรุปเรื่องการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมาธิการกิจการตำรวจ ว่า ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นส่วนราชการเทียบเท่ากระทรวง โดยคงใช้ชื่อ "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)มีบทบาทหน้าที่ในฐานะปลัดกระทรวงเท่านั้นโดยการใช้อำนาจในฐานะอธิบดีให้เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม กำหนดให้ส่วนปฏิบัติการหลัก หรือกลุ่มงานที่มีความสำคัญในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรงเป็นส่วนราชการระดับกรม มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการบริหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผบ.ตร.ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะปลัดกระทรวงเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในส่วนราชการอื่นหรือกรมอื่นได้
"ลดชั้นการบังคับบัญชาและลดตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยยกเลิกตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.และยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษา(สบ10)เทียบเท่ารองผบ.ตร.ออกทั้งหมด และปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานที่ม่ภารกิจสอดคล้องเกี่ยวข้องมาไว้รวมกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น"แนวทางของคณะอนุฯระบุ
นอกจากนี้เสนอให้ยกเลิกการแบ่งชั้นข้าราชการตำรวจ ที่เคยมีชั้นสัญญาบัตร และประทวน โดยให้ข้าราชการตำรวจทุกนายมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเท่าเทียมกัน โดยปรับระบบยศ ตำแหน่งระดับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ(ชั้นประทวน ระดับ ส.ต.ต.ถึง ส.ต.อ.เดิม)ให้สอดคล้องกับการปฏิบัติภารกิจและมาตรฐานวิชาชีพ โดยให้ปรับระบบการประเมินให้ตำแหน่งเลื่อนไหลได้ถึงสารวัตรหรือหัวหน้างาน
ทั้งนี้คณะอนุฯกำหนดการแบ่งส่วนราชการตร.ออกเป็น1สำนักงาน และ15กรม ประกอบด้วย 1.สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.กรมตำรวจตระเวนชายแดนและกิจการพิเศษ(รวมตำรวจน้ำ) 3.กรมตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 4.กรมตำรวจพิสูจน์หลักฐาน 5.กรมตำรวจปราบปรามยาเสพติด 6.กรมตำรวจสอบสวนกลาง (มีเพียงกองบังคับการปราบปราม บก.ปคบ. บก.ปอท. บก.ปอศ. บก.ปคม. บก.ปทส.) 7.กรมตำรวจนครบาล 8-16กรมตำรวจภูธรภาค1-9(โดยภาค9รวมศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวีดชายแดนภาคใต้ และทุกภาคไม่รวมศูนย์ฝึกอบรม) ทั้งนี้ในส่วนสำนักงานผบ.ตร.นั้นยังคงมีกองบัญชาการ และกองบังคับการในสังกัดคล้ายเดิม โดยกองบัญชาการตำรวจสันติบาล อยู่ในส่วนนี้
ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจยังคงมี โดยตัดฝ่ายการเมืองออก มีผบ.ตร.เป็นประธาน มีรองผบ.ตร. จรเตำรวจแห่งชาติ หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ เลขาธิการก.พ. และอธิบดีกรมตำรวจศึกษา เป็นกรรมการ โดยมีก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ มาจากตัวแทนอธิบดีกรม(ผบช.เดิม)ร่วมด้วย ขณะที่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)นั้นยังคงมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยให้มีรองผบ.ตร.หรือจเรตำรวจแห่งชาติที่รับผิดชอบงานด้านบริหารเป็นกรรมการโดยตำแหน่งด้วย@@@
ปล. เอาไปดูกันก่อนนะครับ มีหลายเรื่องที่น่าจะวุ่นวายแน่ ๆ ไว้ค่อยมาคุยกันอีกครั้ง ^^
ปล. เอาไปดูกันก่อนนะครับ มีหลายเรื่องที่น่าจะวุ่นวายแน่ ๆ ไว้ค่อยมาคุยกันอีกครั้ง ^^
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น