พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐบาลเผด็จการ ออกคำสั่งในฐานะ หัวหน้า.คสช. ใช้ ม.44 สั่งเพิ่มมาตรการ-อำนาจจนท. ตรวจค้น-ปราบยาเสพติด
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ (24ก.ค.) คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๓/๒๕๕๘ เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙
โดยที่ในปัจจุบันปรากฏว่ายังคงมีการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นภัยอันร้ายแรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมถึงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพื่อเป็นการป้องกัน ระงับ และปราบปรามการบ่อนทําลายความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ สมควรกําหนดมาตรการเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อให้การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมอบหมายอาจขอความร่วมมือจากข้าราชการทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมอบหมาย เพื่อให้พิจารณาแต่งตั้งข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตรี เรือตรี หรือเรืออากาศตรีขึ้นไป ไปปฏิบัติการตามคําขอดังกล่าวได้
ข้อ ๒ ในการปฏิบัติการตามข้อ ๑ ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) เข้าไปในเคหสถานหรือสถานที่ใด ๆ เพื่อตรวจค้นเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีบุคคลซึ่งกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลบซ่อนอยู่ หรือมีทรัพย์สินซึ่งมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิด หรือได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ประกอบกับมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ บุคคลนั้นจะหลบหนีไป หรือทรัพย์สินนั้นจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทําลาย หรือทําให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม แต่ในกรณีที่เป็นการเข้าค้นในเวลากลางคืนภายหลังพระอาทิตย์ตก ข้าราชการทหารผู้เป็นหัวหน้าในการเข้าค้นต้องเป็นข้าราชการทหารซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยเอก เรือเอก หรือเรืออากาศเอกขึ้นไป
(๒) ค้นบุคคล หรือยานพาหนะใดๆ ที่มีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามียาเสพติด ซุกซ่อนอยู่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(๓) จับกุมบุคคลใด ๆ ที่กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และควบคุมตัวผู้ถูกจับไว้เพื่อทําการสอบสวนเบื้องต้นได้เป็นเวลาไม่เกินสามวัน เมื่อครบกําหนดเวลาดังกล่าวหรือก่อนนั้นตามที่จะเห็นสมควรให้ส่งตัวผู้ถูกจับไปยังพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดําเนินการต่อไป
ทั้งนี้ โดยมิให้ถือว่าการควบคุมผู้ถูกจับดังกล่าวเป็นการควบคุมของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(๔) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้
(๕) ค้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ ๓ ในกรณีที่จําเป็นและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด เสพยาเสพติดให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งมีอํานาจสั่งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวรับการตรวจ หรือทดสอบว่ามีสารเสพติดอยู่ในร่างกายหรือไม่
ข้อ ๔ ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการทหารตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ให้ข้าราชการทหารดังกล่าวมีอํานาจขอให้บุคคลใดช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ และให้บุคคลนั้นมีอํานาจช่วยการปฏิบัติงานของข้าราชการทหารได้
ข้อ ๕ ในการปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ให้ข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ ๖ ให้เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๑๙ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายดังกล่าวโดยเคร่งครัด และให้ดําเนินการร่วมกับข้าราชการทหารซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามคําสั่งนี้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานดังกล่าวขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจนก่อให้เกิดความเสียหายในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดวินัยร้ายแรง
ข้อ ๗ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
คำสั่ง หน.คสช.ที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้ พรบ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/173/10.PDF
ถือว่าเป็นอีกความพยายามในการแก้ปัญหายาเสพติด ที่ดูเหมือนจะให้อำนาจพิเศษกับทหารยศร้อยตรีขึ้นไปที่ได้รับการแต่งตั้งจาก รมต.ยุติธรรม หรือผู้แทน เข้าตรวจค้นเคหสถาน บุคคล ยานพาหนะ จับกุมคุมตัวไว้ได้ 3 วัน แล้วค่อยส่งพนักงานสอบสวน มีอำนาจขอให้บุลคลช่วยเหลือในการปฏิบัติหน้าที่ และหากเจ้าพนักงานไม่ร่วมมือจนเกิดความเสียหายให้ถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ฯลฯ
เป็นเรื่องดีที่จะร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด ที่แก้กันมาหลายปี แต่ยังไม่น่าพอใจและยังคงมีการแพร่ระบาด แต่มีประเด็นให้ตั้งคำถามอยู่เหมือนกัน อาทิ
- อำนาจตาม ม.44 ไร้การตรวจสอบ ไม่ต้องรับผิดใด ๆ หากผู้ใช้สร้างความเสียหายให้แก่บุคคล หรือทรัพย์สิน ถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จระดับเทพ ที่น่ากลัว ยุคหนึ่งนาซี เคยมีหน่วยเอสเอส , จีน เคยมีเรดการ์ด
- หน่วยงานที่ควรเรียกไปปรับทัศนคติอีกหน่วยนึงคือ "ศาล" เพราะการค้น และขอหมายจับ ชักจะยุ่งยากขึ้นทุกที และเมื่อจับกุมมาได้แล้ว ผู้ต้องหาสามารถประกันตัวออกไปได้อย่างง่ายดายทุกครั้ง แม้ว่าจะกระทำผิดซ้ำซาก และ พงส. คัดค้านการประกันตัวแล้วก็ตาม ลองคิดตามว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีฐานจากตรรกะอะไร สิทธิของผู้ต้องหา รึ ธุรกิจประกันตัว ?
- ปัญหายาเสพติด ยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเพราะคำสั่ง คสช. ที่ 108/58 (ดูเพิ่มเติม) จนตอนนี้ก็ยังไม่แก้ไข
- ถ้าจะกล่าวโทษหน่วยงานใด ๆ ที่แก้ปัญหายาเสพติดไม่สำเร็จ ต้องไม่ลืมว่ายาเสพติดเกือบทั้งหมดทะลักมาตามแนวชายแดน แล้ว "รั้วของชาติ" ทำอะไรอยู่ ดังนั้นไม่ต้องโทษกันครับ มาช่วยกันแก้ไขดีกว่า
- ทหารที่รู้เรื่อง หรือทำงานยาเสพติดมีอยู่ทุกจังหวัดหรือไม่ ประสบการณ์การจับกุม ล่อซื้อ ตรวจสอบทรัพย์สิน รอบคอบครอบคลุม แล้วถ้าเกิดความเสียหายในทางคดี ใครจะรับผิดชอบ ? จริง ๆ ควรให้เครื่องมือนี้กับ บช.ปส. หรือ ปปส. ดีกว่า หรือจริง ๆ แล้วอ้างยาเสพติด เพื่อให้อำนาจในจุดประสงค์อื่น
ลองดูครับ หลังจากออกคำสั่งดังกล่าว จะมีกี่คดี กี่รายที่เป็นการจับกุมโดยอำนาจดังกล่าว หรือให้อำนาจเพื่อร่วมมือกันในการจับกุม น่าจะเป็นประโยชน์ได้ดีทีเดียว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น