ตร.หนี้ท่วม จ่อล้มละลายนับพัน !!

ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจไม่น้อยสำหรับพี่น้องตำรวจ  โดยข่าวจาก ภ.4 ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจถูกฟ้องล้มละลาย หลายนาย  และทำให้ขาดคุณสมบัติการรับราชการ  จนต้องออกจากราชการ  นอกจากนี้ยังมี ตำรวจที่เข้าข่ายหนี้สินล้นพ้นตัวอีกนับพันนาย

     โดยข่าวที่ส่งต่อกันมามีประมาณว่า พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงเรื่องปัญหาหนี้สิน ของตำรวจในพื้นที่ บช.ภ.4 พบว่า มีตำรวจ 5 นาย ถูกดำเนินคดีฟ้องล้มละลาย จนต้องออกจากราชการไปแล้ว โดยทราบว่าเป็นหนี้ธนาคารออมสิน และเป็นการกู้ยืมใช้ส่วนตัว ทั้งนี้ยังพบว่ามีตำรวจสังกัด บช.ภ.4 อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี 2,000 นาย และเข้าข่ายถูกฟ้องล้มละลาย 600 นาย และจากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่ามีตำรวจที่เป็นหนี้สินที่อยู่ในข่ายถูกฟ้องล้มละลายอีก 2,000 กว่านาย รวมวงเงินกว่า 2 พันล้านบาท โดย สตช.ได้พยายามช่วยเหลือด้วยการให้จนท.สวัสดิการตำรวจ เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยกับสถาบันการเงิน เพื่อขอลดหย่อน หรือพักชำระหนี้แบบ ขรก.ครู แต่ทำไม่ได้ เพราะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสถาบันการเงินนั้นๆทั้งนี้ ผบ.ตร.ระบุว่า การกู้ยืมพบว่ากู้ยืมเงินเป็นหลักล้าน และปัญหาเหล่านี้เกิดมาในแต่อดีต ซึ่งเกิดจากการทำสัญญาร่วมลงนามกู้ยืมกับธนาคารและสถาบันการเงิน ให้ตำรวจกู้ ยืมและค้ำประกัน กันเอง ทั้งที่ตำรวจมีสิทธิ์กู้เงินจากสหกรณ์ตำรวจอยู่แล้ว แต่เมื่อมีสถาบันการเงินให้กู้อีก ทำให้เกิดการกู้ยืมซ้ำซ้อน และมีหนี้มหาศาล จนไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ 





     ตามข่าวมีความเห็นของ ผบ.ตร. ที่กล่าวถึงการที่ ตร. มีข้อตกลงกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารออมสิน  ที่ปล่อยเงินกู้กับข้าราชการตำรวจในวงเงินที่สูงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ(ในยุคนั้น ประมาณ 10 ปีก่อน)  ทำให้ตำรวจที่มีหนี้สินกับสหกรณ์ฯ อยู่แล้ว  มีช่องทางในการกู้เพิ่มอีก  จนเกิดเป็นหนี้สินหลายทาง  ในที่สุดก็ไม่สามารถจะผ่อนชำระได้ไหว  ยิ่งถ้าเกิดปัญหากับผู้ค้ำที่เป็นเพื่อนตำรวจด้วยกัน เช่น ถูกไล่ออก , เสียชีวิต  อาจทำให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก

     ตอนนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจในจังหวัดต่าง ๆ สามารถปล่อยกู้ในวงเงินที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ นั่นคือ 1.5 - 2 ล้านบาท  แต่ทั้งนี้ผู้บริหารสหกรณ์จะต้องกำหนดให้ผู้กู้มีเงินเดือนเหลือพอกับการใช้จ่ายประจำเดือนอย่างน้อยสัก 20 %  และจะให้ดี การกู้สหกรณ์ ควรนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ในสถาบันการเงินอื่น ๆ ด้วย

     การวางแผนการเงิน การใช้จ่าย  ไม่เคยมีการสอนกัน  ทำให้ข้าราชการทั้งหลาย  ประสบปัญหาด้านการเงินจำนวนมาก  จึงควรเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ  ไม่ใช่นำเงินในอนาคตมาใช้จนหมด  พอถึงวันเกษียณแทบไม่มีทรัพย์สินในการดำรงชีพ  อันนี้ต้องสร้างความตระหนักในเรื่องการออมกันด้วยนะครับ

     ดูจากภาวะหนี้สินที่เกิดขึ้นจะเป็นตำรวจชั้นผู้น้อยเป็นส่วนใหญ่   ผู้บังคับบัญชาระดับสถานีควรหาทางลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน  และสนับสนุนการเพิ่มรายได้ด้วยอาชีพเสริมต่าง ๆ อีกทางด้วยครับ  ส่วนข่าวที่จะไล่ตำรวจที่ถูกฟ้องล้มละลายออกนั้น  ก็ต้องถามสติปัญญา และจิตวิญญาณของผู้บังคับบัญชาดูว่า มันแก้ปัญหาใด ๆ หรือไม่  ไล่ออกแล้วหนี้จบมั๊ย  ครอบครัวเขาจะอยู่ยังไง  คนค้ำจะเป็นยังไง

     ทางแก้ปัญหาหนี้สินต้องมาดูกันเป็นราย ๆ ไป  ตั้งคณะทำงานช่วยเหลือตัดสินใจร่วมกับตัวตำรวจที่มีปัญหาและครอบครัว  อาจต้องสละทรัพย์สินบางส่วนเพื่อรักษาสถานภาพไว้ เช่น ที่ดิน บ้าน รถ  เข้าสู่มาตรการรัดเข็ดขัด  และช่วยเจรจาประนอมหนี้สิน  แน่นอนว่าต้องใช้เวลาและยากลำบากแน่  ทั้ง ๆ ที่เป็นปัญหาที่ผู้กู้เป็นคนสร้างขึ้นเอง  แต่คนเป็นนายคน  จะบ่ายเบี่ยงกระนั้นหรือ ?

ปล.1 เมื่อปัญหาหนี้สินไม่มีทางออก ไม่มีที่ปรึกษา  ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการฆ่าตัวตาย หรือ ก่ออาชญากรรมได้เช่นกัน
ปล.2  มีมุกตลกเกี่ยวกับหนี้สินข้าราชการมาฝากปิดท้ายบทความครับ(ขำบนความจริงที่ขมขื่น)

     "จากการศึกษาของสภาวิจัยแห่งชาติพบว่าอาชีพที่ต้องขยายอายุราชการเป็นอันดับแรกคือ ตำรวจ ทหาร และครู เกษียณอายุ 70 ปี

     เนื่องจากเห็นว่าหลังเกษียณแล้ว 10 ปี ยังใช้หนี้สหกรณ์ไม่หมด 55"

ความคิดเห็น