ปฏิรูปก่อนเกษียณ อีกแล้ว

มาอีกแนวทางสำหรับการ ปฏิรูปตนเอง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ที่ออกมาขับเคลื่อนโดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.  ที่ได้ชี้แจงกับหัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศในเบื้องต้น เมื่อ 21 มิ.ย. 59 ที่เมืองทองธานี  โดยในปีแรกจะทำการปรับเปลี่ยน และปรับปรุง 514 สถานี (จาก 1,496 สถานีตำรวจทั่วประเทศ)  ซึ่งมีทั้งวิธีการทำงาน  ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สนับสนุนอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ให้เป็นรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ(ตามโครงสร้างอาคารแต่ละแบบ)  โดยมีเนื้อหาข่าวดังนี้

     พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนและประสานงานการปฏิรูปองค์กรตำรวจ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปองค์กรตำรวจใน 10 ประเด็นว่า ทั้งหมดได้เริ่มดำเนินการไปพร้อมๆ กันแล้ว เปรียบเสมือนขวนรถไฟจำนวน 10 โบกี้ ที่ได้เริ่มต้นเดินทางออกจากสถานีแล้ว มีท่าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.เป็นผู้ทำหน้าที่ในการนำรถไฟขบวนปฏิรูปนี้ไปให้ถึงปลายทาง ซึ่งมีทั้งสถานีเร่งด่วน 1 ปี สถานีกลางทาง 5 ปี และสถานีสุดท้ายเมื่อครบ 20 ปี โดยข้าราชการตำรวจทุกนายและในทุกระดับที่อยู่ร่วมขบวนการปฏิรูปนี้ต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเต็มที่ และหากผู้ใดไม่ใส่ใจดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปในการทำหน้าที่ของตนเอง หรือการปฏิรูปกระบวนการในการทำงานให้ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ท่าน ผบ.ตร.ถือว่าเป็นผู้ที่ขัดขวางการดำเนินการในการปฏิรูปครั้งนี้ ซึ่งจะต้องถูกพิจารณาดำเนินการต่อไป

​     พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิรูปที่มีความสำคัญและกำลังเป็นที่จับตาของสังคมและประชาชนโดยทั่วไป และเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็คือเรื่องของการปฏิรูปงานสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในการดำเนินการในระยะเร่งด่วนและจะต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ก็คือการปฏิรูปงานสอบสวนของสถานีตำรวจที่มีจำนวนคดีรับแจ้งเป็นจำนวนมาก แต่มีพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอต่อการทำหน้าที่ มีผลทำให้เกิดความล่าช้าและบกพร่องต่อสำนวนการสอบสวน ขาดการเอาใจใส่ดูแลจากผู้บังคับบัญชา รวมทั้งขาดทีมงานด้านการสืบสวน การพิสูจน์หลักฐาน และงานนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นงานสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรมในเบื้องต้น และจะต้องดำเนินการควบคู่กันไปตั้งแต่มีการรับแจ้งความ

     ​สำหรับสถานีตำรวจที่จำเป็นจะต้องปฏิรูประบบการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายในระยะเร่งด่วน 1 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 514 แห่ง ดังนี้

  • สถานีตำรวจในสังกัด บช.น. จำนวน 30 แห่ง 
  • บช.ภ.1 จำนวน 54 แห่ง 
  • บช.ภ.2 จำนวน 65 แห่ง 
  • บช.ภ.3 จำนวน 60 แห่ง 
  • บช.ภ.4 จำนวน 77 แห่ง 
  • บช.ภ.5 จำนวน 37 แห่ง 
  • บช.ภ.6 จำนวน 32 แห่ง 
  • บช.ภ.7 จำนวน 32 แห่ง 
  • บช.ภ.8 จำนวน 60 แห่ง 
  • บช.ภ.9 จำนวน 39 แห่ง 
  • ศชต. จำนวน 28 แห่ง 

     โดยทั้งหมดจะต้องจัดชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการและพื้นที่รับแจ้งความแบบเสร็จสิ้น ณ จุดเดียว เพื่อคอยให้บริการแก่ประชาชนและรับผิดชอบทำสำนวนการสอบสวนด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม เกิดความเท่าเทียม และสร้างความไว้วางใจให้กับคู่กรณีในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการจะต้องมีพนักงานสอบสวนหัวหน้าทีม 1 นาย พนักงานสอบสวนประจำทีม 2 นาย ฝ่ายสืบสวน 2 นาย ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน 2 นาย รวมทั้งทีมสนับสนุนที่เป็นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน นิติวิทยาศาสตร์ เสมียนคดี วัสดุอุปกรณ์ และยานพาหนะ ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการรับแจ้งความ การสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน และการมีความเห็นทางคดีเป็นไปด้วยความบริสุทธ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง”

​     พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานีตำรวจที่เหลืออีก 982 แห่ง จะมีการปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน แต่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 5 ปี โดยในระหว่างที่มีการปฏิรูปการจัดชุดพนักงานสอบสวนแบบบูรณาการนั้น ก็จะมีการปฏิรูปและพัฒนาตัวพนักงานสอบสวนไปพร้อมๆ กัน โดยจะมีการฝึกอบรมที่เน้นไปในเรื่องขององค์ความรู้ ทางด้านกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตนตามแนวทางที่ถูกต้องต่อการเป็นพนักงานสอบสวนที่ดีมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของพนักงานสอบสวนอย่างครบถ้วนต่อไป





     เรื่องสำคัญที่เป็นที่จับตามองของสังคมอย่างการปฏิรูปตำรวจ  ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการอ้างการชุมนุมของม็อบคนโคตรดี และเป็นที่มาของการรัฐประหาร  เรื่องอย่างนี้ทำไม ผบ.ตร. ไม่ออกมาเดินหน้าด้วยตนเอง  กลับโยนให้กับ รอง ผบ.ตร. ที่จะเกษียณอายุราชการในอีกไม่กี่เดือนนี้  จำได้ว่าคราวที่แล้ว การปฏิรูปงานสอบสวนก็มอบให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.  พอได้ข้อสรุปเสนอก็เกษียณพอดี  ทำไมคนที่ยังเหลืออายุราชการอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.จักรทิพย์  ชัยจินดา ผบ.ตร. หรือ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.  ไม่รับมาทำเอง  เพื่อจะได้รับผิดชอบต่อผล ความสำเร็จ หรือ ล้มเหลว ของการปฏิรูปตนเองในครั้งนี้

     คนที่มีอำนาจเต็ม  จะสั่งการอะไร  มันก็ดูจะดึ๋งดั๋ง รับลูกกันฉับไว   รึมันเป็นเผือกร้อน ที่ไม่มีใครอยากรับ  เลยโยนให้คนอื่นทำ ?


เรื่องที่เกี่ยวข้อง ปฏิรูปตำรวจฉบับผู้ปฏิบัติ อ่านกันดูบ้างนะเจ้านาย

ความคิดเห็น