ดราม่า เงินเดือนตำรวจ


ปี ๒๕๔๔   ได้มีโอกาสเจอเพื่อนเก่า สมัยเรียนอยู่ กทม. ด้วยกัน 

“ไอ้ยา  มึงเป็นพลตำรวจ เงินเดือนเท่าไหร่”

“ห้าพันร้อย” ผมตอบเพื่อนไป

“  มีเงินพิเศษ นอกจากเงินเดือนไหม มันพอใช้จ่ายไหม”

“มี  เงินประจำตำแหน่ง พันสอง เบี้ยเลี้ยงพันเจ็ด รวมแล้วแปดพัน อยู่ได้  บ้านพักไม่มี หนุ่มโสดอย่างกู ก็นอนบนกองร้อย นปพ. กับเพื่อนๆ ไม่ต้องจ่ายค่าบ้านเช่า  หุงข้าว ไปซื้อแกงถุงละ ๒๐ บาท ซื้อคนละถุง มากินรวมกัน  บางมื้อก็ไปพลอยกินที่บ้านพักรุ่นพี่   ไม่ต้องเสียค่ารถ ค่าน้ำมันรถไปทำงาน   ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นพันไปนั่งกินเหล้าในผับ  แค่ซื้อเหล้าไปสักขวด ไปนั่งกินต้มไก่บ้านชาวบ้าน มีความสุขเหมือนกัน”

“มึงไม่เสียดายความรู้ที่เรียนมาหรือ??   มึงไปเป็นวิศวกร  เงินเดือนหมื่นห้า  ได้อยู่แล้ว เดี๋ยวกูเช็คพรรคพวกรุ่นเรา บริษัทไหนต้องการคนบ้าง”

 “กูเลือกทางเดินนี้แล้ว กูไม่เปลี่ยน กูโดนครูฝึกเอาเหงื่อออกไปหลายปี๊บ ยังทำงานไม่คุ้มเลย”

ผมมองหน้าเพื่อน ที่เป็นวิศวกร ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ  แล้วพูดว่า 
“มึงรู้ไหม สิ่งที่กูได้ ที่ตีค่าเป็นตัวเงินไม่ได้ คือ การที่กูไม่ต้องทนอดอู้อยู่ในโรงงาน ไม่ต้องทนกับมลพิษอากาศในกรุงเทพ หรือ เมืองอุตสาหกรรม  กูอยู่เมืองระนอง เมืองฝนแปดแดดสี่ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ออกทำงานทั่วทั้งจังหวัด เหมือนกับเที่ยวธรรมชาติไปในตัว”

ชีวิตผ่านไป ๑๖ ปี  จากพลตำรวจ สู่พันตำรวจตรี
“ไอ้ยา มึงเงินเดือนเท่าไหร่แล้ว”

“ สองหมื่นหก แล้วมึงละ เป็นแสนแล้วใช่ไหม”

“เฮ้ย..ยังไม่ถึงแสนแค่ใกล้ๆ   ขนาดมึงเป็นนายพัน ยังสองหมื่นหก แล้ว พวกจ่าดาบ เงินเดือนจะกี่บาทว่ะ”

“ถ้าเพื่อนที่เป็นพลตำรวจรุ่นเดียวกัน ตอนนี้เป็นนายดาบ ก็ ประมาณ สองหมื่นสอง แต่ถ้าบางคนได้สองขั้นบ่อยๆ ก็เกือบเท่ากับกูแล้ว”
“อ้าว... ทำไม ยศต่างกันเยอะ แต่เงินเดือนไม่ต่างกัน”
“เงินเดือนมันขึ้นเป็นขั้นตามอายุงาน แต่ขั้นนายร้อย นายพัน มันอาจจะมากกว่า นายดาบ แต่มากกว่าแค่หลักร้อย  นายดาบรุ่นพี่บางคน เงินเดือนมากกว่ากูอีก”
“แล้วมึงจะสอบเป็นนายร้อยทำไม”
“เงินประจำตำแหน่งต่างกัน พวกนายสิบ จ่า ดาบ ได้ สามพัน  พวกนายร้อย ได้ สามพันห้า พวกนายพัน ได้สี่พัน  แต่ กูเป็น พงส. ได้มากกว่า เป็น หมื่นสี่” 

“เดือนหนึ่ง มึงก็ได้สี่หมื่น ก็อยู่ได้ สบายแล้ว บ้านไม่ต้องเช่า ค่ารถก็ไม่ต้องเสีย”  เพื่อนผมมันคงนึกถึงคำพูดผมสมัยเป็นพลตำรวจ  
“สบายอะไร  ยิ่งเป็นตำรวจนาน ยิ่งเป็นหนี้”

“หนี้อะไร วะ” มันยังคงทำหน้าสงสัย
“ก็ตอนกู อบรมจบนายร้อยมาใหม่ๆ  เงินเดือนกู เก้าพัน  เงินประจำตำแหน่ง ก็ไม่มี ต้องรออบรมใบวิชาชีพก่อนถึงจะได้   มึงจำได้ไหม กูไปซื้อโน้ตบุ๊ค  กับมึง เครื่องละสามหมื่น  กล้องถ่ายรูป พริ้นเตอร์  อีก  ย้ายมารับตำแหน่งใหม่  ห้องพักเป็นแฟลตเก่า สร้างยุคหลังสงครามโลก  ต้องจ่ายเงินซ่อมห้องพัก ให้ลูกเมียอยู่อีก  จำเป็นต้องกู้เงินสหกรณ์ตำรวจ ชีวิตหนี้ก็เริ่มขึ้น”

“หนี้ไม่เยอะ เดี๋ยวก็ผ่อนหมด”
“มันไม่ได้มีแค่นั้น  กูเป็นพนักงานสอบสวน เขาไม่มีปืนหลวงเบิกให้  กูแต่งชุดเครื่องแบบ นายร้อยไม่มีปืนพก ขับรถมอไซค์ จากแฟลต ไปโรงพัก ประมาณ ๓ กิโล  เจอวัยรุ่นเด็กแว้นซ์ จะตีกัน  มันเห็นกู มันตะโกน บอกพวกมัน  ตำรวจไม่มีปืน ไม่ต้องกลัวมัน  ตีมันเลย  แล้วมันก็ยกพวกตีกันต่อหน้ากู  ดีที่มันไม่ตีกูด้วย กูก็ได้แต่จอดรถแล้ว วิทยุเรียกสายตรวจ  กว่าจะมาถึง มันขับหนีไปหมดแล้ว” 

“แบบนี้ก็ต้องซื้อรถยนต์มาขับเพื่อความปลอดภัย เด็กแวนซ์ไม่ตี”
“ซื้อรถยนต์มา ไม่ใช่แค่ไม่ให้เด็กแวนซ์ตี  แต่ซื้อมาใช้ทำงานหลวงด้วยเติมน้ำมันเองด้วย   รถร้อยเวรมีอยู่คันเดียว ใช้พาผู้ต้องหาไปศาล กับ ให้ร้อยเวรคนที่เข้าเวรใช้ตรวจที่เกิดเหตุ ตอนเข้าเวร  พอกูออกเวร ต้องพา ผู้เสียหาย พยานไปชี้ที่เกิดเหตุ ต้องไปรถส่วนตัว ตอนนั้น มีแค่มอไซค์  ก็ขับพาผู้เสียหาย พยาน ซ้อนท้าย ไปชี้ที่เกิดเหตุ  บางทีพาผู้เสียหายผู้หญิง ไปชี้ที่เกิดเหตุในโรงแรม ชาวบ้านก็มอง ตำรวจพาผู้หญิงเข้าโรงแรมกลางวันแสกๆ    บางทีก็ฝนตก ก็เปียกฝนกันทั้งตำรวจทั้งผู้เสียหาย  ก็จำเป็นต้องกู้สหกรณ์ซื้อรถยนต์มือสอง  เข้าไฟแนนซ์ไม่ไหว เงินเดือนไม่พอผ่อน   ช่วงนั้นลูกยังเล็ก ก็ป่วยบ่อยเข้าโรงพยาบาลตลอด “ 

“ เข้าโรงพยาบาล เป็นข้าราชการเบิกได้ไม่ใช่หรือ”
“เบิกได้ แต่ลูกกู เป็นโรคชัก ต้องนอนโรงพยาบาล เบิกค่าห้องได้คืนละ ๗๐๐ แต่ เข้าทีไร ห้องธรรมดาเต็มทุกที  มีแต่ห้องคืนละ ๒,๕๐๐ คืนละ ๓,๐๐๐ บาท  ต้องจ่ายส่วนเกินตลอด  แม่งห้องโรงพยาบาลแพงกว่าโรงแรมอีก  โดนบ่อยๆ ต้องกู้ฉุกเฉินสหกรณ์อีก ” 

“แล้วตอนนี้ลูกยังชักอยู่อีกไหม”
“พอโต ๕ – ๖ ขวบ ก็ไม่ชักแล้ว พอเข้าเรียนอนุบาล ประถม ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนอีก เด็กเดี่ยวนี้ค่าเทอม มันแพงกว่าตอนกูเรียน ลาดกระบังอีก” 

“เฮ้ย ค่าเทอม ก็เบิกได้ นิ”
“เบิกได้แค่ ๑,๗๐๐ บาท  แต่ตอนกูย้ายโรงพัก  จะให้ลูกเข้าโรงเรียนรัฐบาล  ช่วงกลางเทอม  เขาบอกเด็กเต็มตลอด  ต้องเข้าเอกชน  ต้องจ่ายส่วนเกินอีก  ส่วนเกินยังไม่พอค่ากิจกรรมโน้นนี่ อีกเยอะแยะ พอย้ายหลายครั้ง  ไม่ไหว เลยให้ลูกเข้าโรงเรียนวัดข้างบ้าน  ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย  ต่อไปถ้าสอบเข้ามัธยม ถ้าต้องเสียค่าแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีเงินจ่าย   คงต้องหาโรงเรียนวัดให้ลูกเรียนอีก  กูคงต้องขอย้ายกลับบ้าน ไปอยู่กับลูก ได้สอนหนังสือให้ลูกแทนที่ต้องไปจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยให้โรงเรียนดังๆ”

“เอ็งซื้อบ้านแล้วหรือ”
“เออ.. กูย้าย โรงพัก ๓ ครั้ง แต่ละครั้ง ค่าขนย้าย ค่าซ่อมห้องแต่งห้อง หลายหมื่น เมียบอกถ้าย้ายบ่อยแบบนี้ไม่ไหว เปลืองตังค์แถมเมียเหนื่อยอีก  เลยบังคับให้กู ซื้อบ้าน ซื้อที่ดินข้างบ้านไว้ปลูกผักแบบพอเพียง  ก็จำเป็นต้องกู้อีก สหกรณ์กู้ไม่พอแล้ว ต้องมากู้ธนาคารอีก”

“กู้ทั้งสองที่นี้ มึงจะเหลือเงินเดือนกี่บาท พอใช้หรือวะ”
“มันก็เหลือพออยู่ได้แบบพอเพียง มันก็ซ้อตบ้างบางเดือน คิดว่า เงินเดือนเราเพิ่มขึ้นเรื่อย เดี๋ยวมันก็คล่องตัวขึ้นไปเรื่อย ถ้าเราทำงานด้วยความสุจริต มันก็อยู่ได้จนเกษียณ พอเกษียณแล้วรับบำนาญมีเงินเดือนอยู่ได้จนตาย     แต่มันก็มีเรื่องเจ็บใจ นอกจากเอาเงินมาจ่ายในครอบครัวแล้ว มันต้องจ่ายให้หลวงด้วย  ตอนอยู่หัวหิน มีเหตุเยอะ นอกจากซื้ออุปกรณ์ทำงานเองแล้ว ยังต้องควักจ่ายเงินกองกลางอีก เดือนละ ๒ พัน  เติมน้ำมันรถหลวงบ้าง จ่ายค่าอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่บ้าง” 

“ถ้าเพิ่มเงินเดือนตำรวจให้มากๆ  เขาบอกว่า ตำรวจจะไม่รีดไถ มึงว่าจริงมั้ย”
“มันก็จริง บางส่วน  เหมือนศาล อัยการ  เงินเดือนเขาสูง การทุจริต ก็น้อยลง แต่ใช่ว่า จะไม่มี  ส่วนตำรวจถ้าเงินเดือนสูง แต่ยังต้องควักเงินส่วนตัว มาซื้อวัสดุอุปกรณ์ทำงานเอง จ่ายเงินเลี้ยงสายข่าวเอง เหลือเงินไม่พอเลี้ยงครอบครัวตัวเอง  แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่โกง ไม่รีดไถ  บางครั้งมันก็อยู่กับจิตสำนึกของแต่ละคน หรือความจำเป็นของแต่ละคนด้วย  นอกจากนี้พวกโกง พวกรีดไถ มันขึ้นอยู่กับ โอกาสมี ทางหนีรอดด้วย”

“โอกาสมี ทางหนีรอด เป็นยังไง ว่ะ” ผมเลยต้องอธิบายให้มันฟังว่า   

“มีโอกาสโกงหรือรีดไถ แล้วรอดไม่ถูกเรื่อง  เช่น  ตำรวจที่ทำงานในโรงพักไม่ได้ไปตั้งด่าน ก็ไม่มีโอกาสที่จะไปจับพวกขับรถผิดกฎหมาย นี่คือ ไม่มีโอกาส   หรือพวกหน่วยงานอื่นที่ไม่มีอำนาจจับกุม มันก็ด่าตำรวจได้ว่ารีดไถ แต่ลองตัวเอง มามีอำนาจจับกุมบ้าง มึงเชื่อมั่นหรือว่าจะไม่รีดไถ  ดูง่ายๆ  ทุกวันนี้ สถานบริการ บ่อน คิวรถเถื่อน  แรกๆ ก็จับกันจัง ทั้งทหาร ปกครอง ตำรวจ  แต่ปัจจุบันเป็นยังไง เปิดกันเหมือนเดิมหรือไม่ มึงไปลองถามผู้ประกอบการดูซิ เขาจ่ายทหาร จ่ายปกครอง ในท้องที่ด้วยไม่   อีกอย่างพอส่วนกลางมาจับในท้องที่  โดนเรื่องแต่เฉพาะตำรวจ  ส่วนปกครองกับทหารในพื้นที่เคยถูกย้าย ถูกตั้งกรรมการ บ้างไหม  ชาวบ้าน แม่งก็ด่าแต่ตำรวจโกง เคยไปดูหน่วยงานอื่นบ้างไหม  พวกมีโอกาส มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง  ซื้อของแต่ละอย่างแพงกว่าราคาตลาดทั้งนั้น โกงทีเป็นแสนเป็นล้าน มากกว่าพวก ตำรวจจราจรรีดไถ่ครั้งละร้อยสองร้อย   มึงไปดู ผอ.โรงเรียน รับแปะเจี้ยะ บ้างไหม  ผอ.โรงพยาบาลกินเปอร์เซ็นต์สั่งซื้อยา ซื้อเครื่องมือแพทย์บ้างไหม   ผอ.เรือนจำ กินเงินค่าอาหารนักโทษบ้างไหม  ผบ.พัน กินเบี้ยเลี้ยงเงินเดือนทหารเกณฑ์บ้างไหม ที่ฝึกเสร็จแล้วปล่อยให้กลับบ้านมาอยู่เป็นปีๆ   ดูพวก กรมทางหลวง แขวงการทาง  อบต.  อบจ. ฯลฯ สร้างถนนหนทาง  มันโกงกันบ้างไหม  นี่ยังไม่รวมพวกจัดซื้ออาวุธ ซื้อเรือดำน้ำ มึงว่า เขามีค่าหัวคิวกันไหม  มึงตรวจสอบได้ไหม พอตรวจสอบไม่ได้แบบนี้แหละเขาเรียกว่า ทางหนีรอด” 

“หน่วยงานอื่นเขาโกงด้วยหรือ เห็นเขาชอบด่าแต่กับตำรวจ”

“หน่วยงานอื่นเขาโกงเงินหลวง เงินงบประมาณแผ่นดินกัน เป็นแสนเป็นล้าน ชาวบ้านไม่กล้าด่า  คอยจ้องแต่จะด่าจราจรดักจับชาวบ้านครั้งละ ร้อยสองร้อย  ด่าแต่ตำรวจรับส่วย แล้วทุกวันนี้ ของผิดกฎหมายยังเปิดอยู่ มึงคิดว่า ทหาร ฝ่ายปกครอง เขารับส่วยบ้างไหม มีใครกล้าด่าทหาร ด่าปกครองบ้าง”

“เขารับส่วย มึงก็ไปจับซิ”

“มันไม่ได้จับกันง่ายๆ  ข้างบนเขารับส่วย  มึงคิดว่า ระบบทหารตำรวจ ระบบราชการ  ลูกน้องจะตรวจสอบนายได้หรือ  เขามีแต่นายมาตรวจสอบลูกน้อง” 

“อย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเงินเดือนตำรวจ  ”

“จำเป็นโว้ย... มึงเชื่อไหม  กูเป็นสัญญาบัตรมา สิบสองปี ได้เงินเดือนแค่ สองหมื่นหก  แต่ถ้ากูเป็นครู เป็นพยาบาล  กูได้เกือบสี่หมื่น ชาวบ้านเขาไม่รู้หรอกว่าเงินเดือนครู พยาบาล ข้าราชการอื่นเขาขึ้นเร็วกว่าตำรวจ    ถ้าไม่เพิ่มเงินเดือน ก็อย่าให้พวกกู ต้องควักเงินเดือนเอง มาจ่ายเงินทำงานให้หลวงแล้วกัน”

*************




เห็นเพื่อน ๆ ส่งต่อกันมาให้อ่านกัน  ก็ลองอ่าน ลองพิจารณากันดูครับ  จริงเท็จอย่างไร เชื่อไม่เชื่อ ก็แล้วแต่ประสบการณ์และอคติของแต่ละท่าน

ความคิดเห็น