ปฏิรูปตำรวจง่าย ๆ เริ่มจากการแต่งตั้งโยกย้าย


อย่างหนึ่งที่มีปัญหามานานของวงการตำรวจไทย นั่นคือ "การแต่งตั้งโยกย้าย" ที่น่าจะเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบของตำรวจ  เพราะแต่ละพื้นที่ก็จะมีทรัพยากรธุรกิจผิดกฎหมายบ้าง  สีเทา ๆ บ้าง  ยิ่งเมืองใหญ่ หรือแนวชายแดน  ก็จะเป็นที่หมายปองของนักวิ่งเต้น  ถึงกับมีข่าวว่าเปิดประมูลกันเลยทีเดียว(ไม่ต้องตกใจครับ หน่วยงานอื่นก็มีข่าวแบบนี้เหมือนกัน)  เมื่อเริ่มตำแหน่งด้วยการใช้เงิน  ก็จะต้องเร่งหาเงินทุนคืน และสำรองไว้ใช้ในการแต่งตั้งครั้งถัดไป  ปัญหาอย่างนี้มันก็พันกันมาหลายต่อหลายปี  ทำให้กระทบต่อภาพลักษณ์ ประสิทธิภาพในการทำงาน จนไปถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ  ในยุคที่ต้องการจะปฏิรูปตำรวจ  ถ้าจะทำจริงอย่าหน้าบาง  ต้องแก้ไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

     ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายทุกปี มีอะไรบ้าง  และในห้วง 2 ปีหลัง ที่มีอำนาจพิเศษ  มันเกิดอะไรขึ้นมาดูกันครับ
  1. การวิ่งเต้นไปอยู่ในแหล่งผลประโยชน์  จะสังเกตุได้ว่าในโรงพักชั้นหนึ่ง ในนครบาล หัวเมืองต่าง ๆ นั้นจะไม่มีประเภท nobody  มันจะต้องเป็น somebody  ถ้าไม่ใช่ "เด็กนาย" ก็จะต้องเป็นนักวิ่งเต้นฝีเท้าจัด  แน่นอนว่าเมื่อไปอยู่แล้วก็จะต้องมีการถอนทุน รวมทั้ง สะสมทุน เอาไว้ในการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งต่อไป
  2. การย้ายโดยไม่สมัครใจ ไม่มีความผิดใด  แต่ถูกเตะ  เนื่องจากมีคนอยากจะแลนดิ้งที่นี่  บางทีไม่ได้ย้ายไปพื้นที่ใกล้เคียง  แต่มันเป็นการย้ายข้ามภาค  เป็นการเพิ่มต้นทุนในชีวิตของพวกเขาโดยไม่จำเป็น เพราะต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน  ค่าขนย้าย  การดำรงชีวิตประจำวัน ฯลฯ  ปกติเงินเดือนก็ไม่พอใช้กันอยู่แล้ว  โดนแบบนี้อาจต้องเป็นหนี้เพิ่มเสี่ยงล้มละลาย  หรืออาจต้องทุจริตต่อหน้าที่ก็เป็นได้
  3. ห้ามเยียวยา ห้ามร้องทุกข์ หรือฟ้องร้องใด ๆ  ... ปกติหลังการแต่งตั้งโยกย้าย ผู้ที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  สามารถร้องทุกข์ให้ ก.ตร. เยียวยาได้  อาจได้กลับมาในพื้นที่ใกล้เคียง  แม้จะต้องใช้เวลา  แต่ก็ยังมีความหวัง     กับคำสั่ง 2 วาระล่าสุดนี้ มีคำสั่ง ม.44 จาก หน.คสช.  ไม่ให้เยียวยา หรือฟ้องร้องใด ๆ ได้  บางคนถูกกลั่นแกล้งย้ายออกนอก บช.  ป่านนี้ยังกลับที่เดิมไม่ได้เลย
  4. ย้ายโดยไม่ดูสถานภาพกำลังพล  ดูอย่างง่าย ๆ ก็คือ การย้ายรอบที่ผ่านมา ทำให้บางแห่ง มีพนักงานสอบสวนไม่เพียงพอต่อการทำงาน  เอาอำนาจแต่งตั้งไป แต่ดันไม่ตรวจสถานภาพกำลังพลแต่ละที่  นึกจะย้ายก็ย้ายแม่งไม่สนห่าอะไรเลยว่าโรงพักจะทำงานได้มั๊ย  ประชาชนในพื้นที่จะไม่มีพนักงานสอบสวนไว้รับคดีหรือไม่ ฯลฯ   ทำกันแบบปัญญาอ่อนอย่างนี้ ก็ไปเพิ่มปัญหาให้กับพื้นที่อีก
  5. ย้ายคนไม่ตรงกับงาน  ที่ก็เป็นการสร้างปัญหาให้หน่วย เอาคนที่อยู่สายงานสืบสวน มาทำงานนักวิทยาศาสตร์  เอาคนอยู่งานบริหาร มาเข้าเวรสอบสวน ฯลฯ  มีแบบนี้เยอะมากกกกก  ถามจริง ๆ ครับ  ทำไปเพื่อ ?!!
     ถามว่าปัญหาข้างต้นนี้เพิ่งเกิดรึเปล่า ก็ไม่ใช่  ผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับรู้มานานแล้ว  แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้  ส่วนหนึ่งก็เพราะคนเองก็ต้องรักษาเก้าอี้  ส่วนหนึ่งตนเองก็โตมากับระบบแบบนี้  และอาจเป็นผู้สนับสนุนนี้ด้วยก็ได้



     แล้วการแต่งตั้งควรจะเป็นอย่างไร  ถึงจะส่งเสริมการปฏิรูปตำรวจ  ให้สู่แนวทางที่ดีกว่าปัจจุบัน  ให้คนดี มีความสามารถ ได้แสดงศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่  เอาผลงานมาวัด  ไม่ใช่ "ตั๋ว" อาทิ

  • ไม่มีความผิด - ไม่ได้ขอ - ไม่หย่อนสมรรถภาพ = ห้ามย้าย  ถือเป็นความมั่นคงในอาชีพการงาน  ในเมื่อดำรงตำแหน่งสูงขึ้นไม่ได้  ถ้าได้อยู่ที่เดิมก็ยังดี  อย่างน้อยก็ไม่ต้องไปวิ่งเต้น หาเจ้านายที่ไหน  เอาเวลาวิ่งเต้น มาเน้นงานในพื้นที่จะดีกว่า
  • กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของทุกสายงาน  ไม่ใช่ย้ายข้ามสายงาน เอาคนไม่มีประสบการณ์มาทำงานสำคัญ  เรื่องงานราชการไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ ผิดพลาดขึ้นมา คนเซ็นต์คำสั่งกล้ารับผิดชอบมั๊ย
  • หากไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายแก่ ผบช. - ผบ.ตร. ได้  ถ้ากำหนดแบบนี้จะไม่มีการกลั่นแกล้งกันแน่  และก่อนลงนามจะต้องเช็คให้ดี(ไม่ใช่ย้ายคนตาย คนเกษียณ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน)
  • ต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เป็นธรรม ในการประเมินผลการปฏิบัติของแต่ละหน่วย   ถ้าไม่ผ่านอาจโดนปรับย้ายได้  หรือถ้าดีเด่น สามารถเลือกที่ได้  แบบนี้แข่งกันทำงาน + บริการ = ประชาชนได้ประโยชน์

    ทำแบบนี้รับรองเข้าทางปฏิรูปตำรวจแน่ ๆ  แต่เจ้านาย และผู้มีอำนาจจะเสียประโยชน์   ใครจะยอม 55

ปล. ลองเทียบเคียงการโยกย้ายของหน่วยงานอย่างครู สาธารณสุข เขาทำกับผู้ใต้บังคับบัญชาเขาอย่างนี้หรือไม่

ความคิดเห็น