ขึ้นทะเบียนโดรน กับสถานีตำรวจ !


ตำรวจไทยเรียกง่ายใช้คล่องจริง ๆ ครับ  อยู่ ๆ กสทช. ก็มีมติ ห้ามใช้งาน โดรน จนกว่าจะมาลงทะเบียน หากฝ่าฝืนโทษมีจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเปิดให้ลงทะเบียนที่สำนักงาน กสทช. , สถานีตำรวจ(ไม่ถามตรูสักคำ) หรือสำนักงานการบินพลเรือนฯ ตั้งแต่ 12 ต.ค. 60 นี้ โดยมีเนื้อหาข่าวดังนี้

     นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 ต.ค. 2560) มติที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษ ได้มีการพิจารณาเรื่องการใช้งาน Drone เนื่องจากขณะนี้มีการใช้งานเป็นจำนวนมาก แต่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเพียง 350 ลำ  ดังนั้น เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือป้องกันราชอาณาจักร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 6 ประกอบกับมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่ประชุม กสทช. จึงมีคำสั่ง ดังนี้



     1.ห้ามการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ยกเว้น มีการขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าว หรือมีการขึ้นทะเบียนตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) พ.ศ. 2558 หรือเป็นเครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวงคมนาคมซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548

     2.การขึ้นทะเบียนเพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone)ให้ดำเนินการ ดังนี้
  
        2.1 เอกสารและข้อมูลการลงทะเบียน
          - กรณีบุคคลซึ่งครอบครองการใช้งาน  ให้แจ้ง ชื่อ-สกุลผู้ครอบครอง หมายเลขเครื่องหรือ Serial Number ยี่ห้อเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone)และอื่นๆ ตามแบบฟอร์มของสำนักงาน กสทช. ภาพถ่ายของ Drone ที่ลงทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง
          - กรณีบุคคลซึ่งครอบครองเพื่อจำหน่าย (ร้านค้า) ให้แจ้งบัญชีแสดงรายการเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ตามแบบฟอร์มของสำนักงาน กสทช. ภาพถ่ายของ Drone ที่ลงทะเบียน และบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ครอบครอง
  
        2.2 สถานที่ลงทะเบียน ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ถนนพหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) พญาไท กรุงเทพฯ สำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต ทั่วประเทศ สถานีตำรวจทั่วประเทศ หรือที่สำนักงานการบิน   พลเรือนแห่งประเทศไทย

     3.ในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ให้ถือปฏิบัติตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) พ.ศ. 2558 ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone) ระหว่างพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด

     4.ให้ผู้ครอบครองเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (Drone) ดำเนินการขึ้นทะเบียนภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันนี้ (11 ต.ค. 2560)

     5.ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

     โดยมีเอกสารที่เกี่ยวข้องดังนี้ครับ




     ส่วนเอกสารแบบฟอร์มในการยื่นคำร้อง ก็ตามนี้ครับ  สำหรับโดรนที่ต้องนำไปลงทะเบียนก็คือโดรนที่มีน้ำหนักมากกว่า 2 กิโลกรัมขึ้นไป หรือโดรนที่มีน้ำหนักไม่ถึง 2 กิโลกรัมแต่ติดอุปกรณ์ถ่ายภาพไว้ก็ต้องนำไปลงทะเบียน(พวกโดรน DJI หรือเทียบเท่า ก็คงต้องไปกันล่ะครับ)  และหากเป็นโดรนที่หนักน้อยกว่า 2 กิโลกรัมและไม่ได้ติดอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ต้องนำไปลงทะเบียน  ส่วนโดรนที่หนักกว่า 25 กิโลกรัมต้องได้รับอนุญาติจาก รมต.คมนาคม




     ซึ่งทาง ตร. โดย พล.ต.ท.ธเนตร์  พิณเมืองงาม ผู้ช่วย ผบ.ตร.  ได้มีหนังสือแนวทางการปฏิบัติสำหรับสถานีตำรวจที่มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนโดรน ดังนี้

  1. ให้ หน.สถานีตำรวจ มอบหมายหรือจัดเจ้าหน้าที่รับคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมฯ ตามคำสั่งดังกล่าว
  2. เมื่อมีบุคคลที่มาขอขึ้นทะเบียน ให้กรอกแบบคำขอขึ้นทะเบียนเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก(Drone) ตามที่ กสทช. กำหนด ดาวน์โหลดแบบคำขอได้จาก http://www.nbtc.go.th/
  3. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรวบรวมคำขอขึ้นทะเบียน ส่งให้กองตำรวจสื่อสาร เพื่อรวบรวมนำส่ง กสทช. ต่อไป


     ก็เพิ่มงานขึ้นมาซะเฉย ๆ(พวกคณะปฏิรูปตำรวจ ที่จะแยกงานออกจากตำรวจก็ดูไว้นะครับ หน่วยงานอื่น ๆ ชอบมาฝากงานกับตำรวจมากขนาดไหน)  เพื่อน ๆ ที่มีโดรนถ่ายภาพ ก็มาขอขึ้นทะเบียนไว้ก่อนนะครับ  ค่าปรับมันแพง และตำรวจก็ไม่อยากดำเนินคดีหรอกครับ  จะให้ดีก็พิมพ์แบบฟอร์มแล้วกรอกให้เรียบร้อยไปเลย  นำโดรนตัวจริงไปด้วยเพื่อตรวจสอบหมายเลขประจำเครื่องและบัตรประชาชนผู้ขอขึ้นทะเบียน

     ส่วนการขึ้นบินก็ดูข้อห้าม ข้อกำหนดอีกที อัพเดทซอฟท์แวร์พื้นที่ห้ามบิน  และส่วนที่ห้ามแน่ ๆ บริเวณใกล้สนามบิน ค่ายทหาร เรือนจำ หน่วยงานราชการ ฯลฯ   ระวังเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวกันหน่อย ก็จะไม่มีเรื่องนะครับ  ดูตัวอย่างจาก พันทิป https://pantip.com/topic/36973362


ความคิดเห็น

  1. สถานีตำรวจมีหน้าที่รับคำขอ ไม่ถือว่าเป็นการขึ้นทะเบียนแล้วใช่ไหมคะ แสดงว่าต้องรอจนกว่าทาง กสทช. ออกใบอนุญาตก่อนใช่ไหมคะ ถึงจะขึ้นบินได้ แล้วทาง กสทช. จะแจ้งเจ้าตัวเอง หรือทางไหนนะ เราเองก็ตอบประชาชนไม่ได้

    ตอบลบ
  2. มีใครไปลงทะเบียนที่ สถานีตำรวจมั่งครับ

    ตอบลบ
  3. ทำตรวจทำงานหนักอยู่แล้ว แต่ก็เพื่อประชาชนต้องแบกภาระ เอาใจช่วยครับ ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากกว่ากสทช. ครับ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น