ตำรวจฆ่าตัวตาย 40 ราย/ปี !! ป่วยซึมเศร้าอีกไม่น้อย


จากกรณีข่าวตำรวจกระทำอัตวินิบาตกรรม หรือ การฆ่าตัวตาย  ที่เราได้ทราบกันว่าปี ๆ หนึ่งนั้น มีจำนวนมากมายหลายคน  ซึ่งจากการสำรวจสถิติหลายปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนการฆ่าตัวตายมากขึ้น ๆ  จาก 31 ราย/ปี(สถิติปี 50-55) มาถึง 40 ราย/ปี ในห้วง 2-3 ปีล่าสุด  มันบ่งบอกถึงสภาพปัญหาในการทำงานจะต้องมีอะไรที่สร้างแรงกดดันให้ตำรวจคนหนึ่งลงมือฆ่าตัวตาย  และการป้องกันหรือแก้ไขที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลดีขึ้นแต่อย่างใด  

     ล่าสุดโรงพยาบาลตำรวจเปิดตัวเพจเฟสบุ๊ก depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ ให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้ากับตำรวจและครอบครัวหลังพบตำรวจป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในรอบปี 60 กว่า 170 รายและฆ่าตัวตาย 40 รายต่อปี (ข่าวจาก voicetv.co.th)

     โดย พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ นิติวรางกูร นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ และ พล.ต.ต.พญ.พรเพ็ญ บุนนาค นพ.สบ.6 รพ.ตร. กำกับดูแลกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด รพ.ตร.ร่วมกันเปิดกิจกรรมเปิดตัวเฟสบุ๊กแฟนเพจ”Depress We Care ซึมเศร้าเราใส่ใจ” เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับข้าราชการตำรวจและครอบครัวเพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาปัญหาโรคซึมเศร้า พร้อมเปิดตัวทีมแพทย์จิตเวชและสายด่วนที่พร้อมจะให้คำปรึกษารวมถึงวิธีการสังเกตตัวเองและคนรอบข้างที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้า 

     ว่าที่ พ.ต.ต.ปองขวัญ ยิ้มสอาด นายแพทย์ สบ.2 กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามีตำรวจมาปรึกษาขอคำแนะนำหลังพบว่าเริ่มมีปัญหาการป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 170 คน ซึ่งสาเหตุมีหลายปัจจัยเช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการงานการเงิน โดยมีอาการ เช่น อารมณ์ซึมเศร้า เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เป็นต้น ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคนี้มี 3 ระดับ คือระดับขั้นต้นอาจมีอาการไม่มากเช่นจะมีอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ระดับส่วนระดับรุนแรงอาจมีอาการเบื่อชีวิตจนอาจถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ซึ่งแนวทางการรักษาแนะนำให้มาพบจิตแพทย์ซึ่งจะมีกระบวนการักษาทั้งการรักษาด้วยยาและการทำจิตบำบัด โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาด กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้

     พล.ต.ท.นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ดูแลข้าราชการและครอบครัวเป็นช่องทางให้สามารถเข้าถึงการให้คำแนะนำและการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตให้เป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน จึงเปิดตัวเพจนี้ขึ้นเพื่อเป็นช่องทางให้สามารถปรึกษาขอคำแนะนำ รวมถึงการป้องกันและรักษาในเบื้องต้น โดยมีทีมจิตแพทย์และนักสหวิชาชีพชุดใหม่เป็นผู้ให้คำปรึกษารวมถึงมีสายด่วน 081-9320000 ที่พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

     ขณะที่สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2560 มีข้าราชการตำรวจ ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่เข้ารับบริการกลุ่มโรคซึมเศร้า จำนวนกว่า 1,980 คน โดยในปี 2558 มี 479 คน ในปี 2559 มี 640 คน และในปี 2560 มีจำนวน 861 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมตำรวจที่มาปรึกษากับจิตแพทย์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากยังมีความคิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในด้านลบ และหวั่นกระทบหน้าที่การงานอีกด้วย



     ตำรวจน่าจะเป็นอาชีพที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่อปีสูงสุด ปัญหาที่รู้กันมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้  โดยปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของตำรวจมีหลายประการ อาทิ
  • ด้านปริมาณงานต่อกำลังพล ถ้าตัดหน่วยงานที่เกินจำเป็นออกจะได้กำลังพลมาทำงานโรงพักมากขึ้น โดยไม่ต้องไปเพิ่มกำลังพลในภาพรวม  ทุกวันนี้คนนึงทำงานหลายหน้าที่ สวมหมวกกันคนละหลายใบจนใกล้บ้า
  • เพิ่มงานใหม่ซ้ำซ้อนของเดิม  จะเห็นได้ว่ามีงานใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้ยกเลิกของเก่า  แต่ละหน้างานมีหน้าที่ต้องทำมากขึ้น ๆ  เทคโนโยลีใหม่ ๆ ไม่ได้ช่วยให้การทำงานมันสะดวกขึ้น หรืองานลดน้อยลงแต่อย่างใด
  • งบประมาณไม่เพียงพอ  ตำรวจเป็นหน่วยเดียวที่ทำงานโดยไม่อิงงบประมาณ คือ นายสั่งต้องทำให้ได้  ไม่มีงบก็ไปหาเอาเอง  ยิ่งปีนี้งบโรงพักน้อยกว่าปีที่แล้วมาก ทั้ง ๆ ที่งบประมาณ ตร. ได้รับจากรัฐบาลไม่ได้แตกต่างจากปีก่อน
  • ผู้บังคับบัญชา ก็เป็นตัวปัญหาเหมือนกัน มีหลายประเภทที่สร้างปัญหาให้ผู้ใต้บังคับบัญชา และหน่วยงาน ไม่มีศิลปในการบริหารหน่วย
  • ปัญหาหนี้สิน ขาดการสร้างความเข้าใจ ความรู้ในการบริหารการเงินส่วนตัว
  • ปัญหาโรครุมเร้า ส่วนมากเป็นโรคที่เกิดการพฤติกรรมส่วนตัว เช่น เบาหวาน เส้นเลือด ความดัน สุราเรื้อรัง ฯลฯ 
     จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ปัญหาสามารถแก้ไขในระดับ ตร.  และอีกหลายปัญหาต้องแก้ในระดับสถานี โดยมีเพื่อนร่วมงานคอยสอดส่อง และรายงานผู้บังคับบัญชาชั้นต้นให้ทราบ และหาทางแก้ไขก่อนจะบานปลาย  ส่วนเฟซบุ๊คนี่จะได้ผลหรือไม่อย่างไร ก็ลองแนะนำกันดูครับ


ปล. ไม่รู้ทำสถิติกันหรือเปล่า ว่าการฆ่าตัวตายในแต่ละราย ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง  ถ้ามีก็น่าจะเอามาแจงให้ทราบทั่วกันนะครับ  จะได้หาแนวทางแก้ไขได้ง่ายขึ้น

ความคิดเห็น