แบบสอบถามเพื่อปรับเกณฑ์ คดีอาญา 4 กลุ่ม


ช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ได้มีหนังสือให้ ผบช. - ผกก.  ในสังกัดนครบาล และภูธร 1 - 9 ทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายอำนวยการ  แสดงความคิดเห็นหลักเกณฑ์การกำหนดค่าเป้าหมายการประเมินผลการปฏิบัติด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ผ่าน QR Code   ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ(ฉบับใหม่) ที่ระบุ ในมาตรา 7 และ 12 มีสาระสำคัญว่า  ให้ บช.น. และ ภ.จว. จัดให้มีแผนหรือมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น หรือชุมชนฯ 

     ค่าเป้าหมายจึงจำเป็นต้องมีเกณฑ์มาตรฐานกลางของ ตร. ในคดีอาญากลุ่ม 1 - 4  ซึ่งเดิมนั้นเอาสถิติ 3 ปี ย้อนมาหาค่าเฉลี่ย   ต้องทำให้ดีกว่าปีก่อน  ใช้เกณฑ์นี้มาเป็นสิบปี  ตอนนี้คดีกลุ่ม 1(ชีวิต ร่างกาย เพศ) สถิติการจับกุมเกือบ 100  %  ในทุกจังหวัด  ส่วนคดีกลุ่ม 2 (คดีเกี่ยวกับทรัพย์)  สถิติเกิน 80 % กันหมด   ซึ่งถ้าเทียบกับตำรวจประเทศอื่นนี่  ตำรวจไทยน่าจะเก่งสุดแล้ว   ส่วนคดีกลุ่ม 4(รัฐเป็นผู้เสียหาย เช่น ยาเสพติด การพนัน อาวุธปืน ฯลฯ) ก็ต้องจับมากขึ้น ๆ ทุกปี  ตั้งเป้ากันแบบนี้มันค่อนข้างย้อนแย้งในตัว  เพราะถ้าจับได้มากขึ้น  แสดงว่างานป้องกันล้มเหลวหรือไม่  อีกอย่างผู้ปฏิบัติก็ท้อแท้ครับ เจอเป้าแบบนี้  พนักงานสอบสวนก็ไม่อยากรับคดี  เพราะถ้าจับไม่ได้ ก็ต้องไปชี้แจงอยู่นั่น  

     ที่ผ่านมา ผบ.ตร. คนก่อน ๆ เคยบอกให้ "รับคดีตามจริง" เพื่อให้รู้ตัวเลขที่แท้จริง  เชื่อว่าคดีที่เกิดขึ้นจริง มากกว่าตัวเลขที่ปรากฎแน่ ๆ  และจะได้เป็นเหตุผลของบประมาณ และกำลังพลกับทางรัฐบาลได้  แต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น  เพราะระดับ บช. บก. เอาสถิติจับกุมมากดไว้   ตัวเลขหลาย ๆ ตัวของตำรวจจึงไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่  ไม่ได้สะท้อนสภาพการณ์จริง ๆ   บรรดาผู้ปฏิบัติก็บ่นกันมาตลอดว่าสถิติคดี 4 กลุ่ม มีเกณฑ์และเป้าที่เวอร์เกินไป  สุดท้ายก็ปั้นตัวเลขหลอกเจ้านายเอาตัวรอดกันไป  เช่น เสี่ยงไม่รับคดี หรือ การจับกุมที่ไม่สมควร อาทิการจับกัญชาในห้วงที่กำลังจะไม่เป็นยาเสพติด เป็นต้น  

     ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้  รวมถึงการ "ฟัง" เสียงของผู้ปฏิบัติ  เพื่อปรับปรุงเกณฑ์ให้อยู่ในระดับที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ และ รับได้ ทั้งในส่วนของสังคม และผู้ปฏิบัติ  โดยเกณฑ์ที่สอบถามมีดังนี้ (หมายเหตุ : สีน้ำเงินคือความคิดเห็นของผู้เขียนนะครับ)

กลุ่มที่ 1 คดีเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย เพศ

  • การรับแจ้งลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของปีที่ผ่านมา หรือใช้ผลจาก People Poll (ลดลงร้อยละ 5 หลายปีต่อไปก็จะมีปัญหาแบบเดิม ส่วน People Poll ผลยังไม่น่าเชื่อถือ เพราะตำรวจตอบเองมากกว่าประชาชน 55)
  • การจับกุมจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี หรือใช้เกณฑ์กลางเท่ากันทุก บช. เช่น ร้อยละ 80 ของการรับแจ้ง (ส่วนใหญ่คดีกลุ่มนี้จะรู้ตัวผู้กระทำผิด มีน้อยรายที่ไม่รู้ตัว ไม่น่ามีปัญหา)



กลุ่มที่ 2 คดีเกี่ยวกับทรัพย์

  • การรับแจ้งลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของปีที่ผ่านมา หรือใช้ผลจาก People Poll (เหมือนกลุ่ม 1)
  • การจับกุมจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี หรือใช้เกณฑ์กลางเท่ากันทุก บช. เช่น ร้อยละ 75 ของการรับแจ้ง (75% กำลังดี เพราะต้องเผื่อลักทรัพย์ไม่รู้ตัวด้วย เช่น ลักเครื่องสูบน้ำ ลักทรัพย์ในเคหสถาน ลักรถ ฯลฯ คดีพวกนี้ ยากกว่ากลุ่ม 1) 



กลุ่มที่ 3 คดีฐานความผิดพิเศษ

  • มีผลการจับกุมไม่น้อยกว่า 50 % ของคดีที่รับแจ้ง (กลุ่มนี้ส่วนมากเป็นคดีไม่รู้ตัว เช่น คดีป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งหน่วยอื่นมาแจ้งแบบมีแต่ของกลาง ไม่ได้จับกุมผู้ต้องหา)

กลุ่มที่ 4 คดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย

  • ให้จับกุมเพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 15 % ของปีที่ผ่านมา หรือ แค่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (แค่ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ก็ยากแล้ว เพราะมันต้องมากขึ้นเรื่อย ๆ มีระดมกวาดล้างกันทุกเดือน) 



     จริง ๆ ควรต้องมา brainstorming ระดมสมองในเรื่องเกณฑ์กันใหม่  ควรต้องเอาตัวแปรอื่น ๆ มาประกอบด้วย  เช่น คดีต่อประชากร , กำลังพลในแต่ละสถานี หรือ เกณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นสากล  แบบนี้จะได้เห็นกันชัด ๆ เลยว่า โรงพักไหนจับกุมเก่งที่สุดเมื่อเทียบกับกำลังพล ประชากร  หรือโรงพักไหนป้องกันได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกำลังพล และประชากร เป็นต้น   แต่ก็เอาเถอะ  ตอนนี้ได้แค่นี้ก็ถือว่าดีมากแล้ว  เพราะไม่มีนายระดับ ตร. คนไหน สนใจหรือกล้าปรับเกณฑ์แบบนี้มาก่อน  เพราะไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ทำงานโรงพักอย่างเพียงพอ  ต่อไปคนจะเป็น ผบ.ตร. ต้องเคยเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจด้วยน่าจะดี  หรือเพื่อน ๆ เห็นว่าไง


ลิงค์ คดีอาญา 4 กลุ่ม มีคดีอะไรบ้าง  

หมายเหตุ .. ตัวชี้วัดสถิติคดีอาญา 4 กลุ่มนี้ เริ่มใช้ประมาณปลายปี 2558(ก่อนหน้านั้น มี 5 กลุ่ม)  และนี่เป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ตัวชี้วัดดังกล่าวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีครับ  ผลเป็นประการใด อีกไม่นานรู้กัน(น่าจะใช้ปี งป. หน้า)

ตำรวจบ้านนอก

ความคิดเห็น