กฎหมายจราจรใหม่เริ่มใช้แล้ว เพิ่มโทษ ตัดแต้ม !!

ตามที่มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก(ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา  ซึ่งมีสาระสำคัญหลายประการที่พี่น้องประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรู้เพื่อให้ปฏิบัติตามกฎจราจร และบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง มีดังนี้

1. เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่กระทำผิดซ้ำข้อหาเมาแล้วขับ กระทำผิดครั้งแรกจะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากทำผิดซ้ำภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก เพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับ 50,000 – 100,000 บาท และศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ (ม.160 ตรี/1 และ 160 ตรี/3)

​2. เพิ่มอัตราโทษที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เป็นปัจจัยเสี่ยง ในการสูญเสียของผู้ขับขี่และผู้ใช้ทาง

           2.1 เพิ่มอัตราโทษปรับ เช่น

§  ขับรถเร็วเกินกำหนด ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

§  ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

§  ไม่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ปรับไม่เกิน 4,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 1,000 บาท)

§  ขับรถย้อนศร ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

§  ไม่สวมหมวกนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

§  ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย ปรับไม่เกิน 2,000 บาท (โทษเดิม ปรับไม่เกิน 500 บาท)

           2.2 เพิ่มโทษผู้ขับขี่ที่ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น  อัตราโทษเดิมจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000 -10,000 บาท เพิ่มเป็น จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


3. กำหนดความผิดเกี่ยวกับการแข่งรถในทาง เพิ่มเติม ดังนี้

           3.1 ความผิดฐานพยายามแข่งรถ กำหนดเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ร่วมกลุ่มหรือมั่วสุมในทางหรือสาธารณสถานใกล้ทาง พร้อมด้วยรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป หากมีเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่ง (ม.134) ดังนี้

§  มีการนัดหมายเพื่อแข่งรถกันมาก่อน หรือ

§  รถที่รวมกลุ่มมีการดัดแปลง/ปรับแต่งรถที่มีสภาพไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ

§    มีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดอันแสดงให้เห็นว่าจะทำการแข่งรถในทางถือว่า “พยายามแข่งรถในทาง” ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทาง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ)

3.2 เพิ่มโทษสำหรับผู้จัด และกำหนดโทษใหม่สำหรับผู้โฆษณา ประกาศ ชักชวน ให้มีการแข่งรถ

อัตราโทษเดิม จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเพิ่มเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(ม.134/1)

           3.3 กำหนดโทษใหม่สำหรับร้านรับแต่งรถ เมื่อรถนั้นถูกนำไปใช้แข่งรถในทาง ต้องรับโทษในฐานะผู้สนับสนุน คือ ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ของความผิดฐานแข่งรถในทาง (การแข่งรถในทางระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) (ม.134/2)

4. กำหนดเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัย

           4.1 รถที่ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยได้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เช่น รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้

           4.2 สำหรับรถกระบะ ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ต้องรัดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหน้า กรณีเป็นรถกระบะสองตอนผู้โดยสารตอนหลัง ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ด้วย

หากฝ่าฝืนไม่รัดเข็มขัด ตามข้อ 4.1 และ 4.2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

           สำหรับการนั่งบริเวณแคป หรือนั่งท้ายกระบะ สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ต้องนั่งไม่เกินจำนวนที่กำหนดในลักษณะที่ปลอดภัย และผู้ขับขี่ต้องขับขี่ด้วยความเร็วตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด ** ส่วนประกาศกำหนดอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะแล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 **

​            สำหรับเรื่องที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนประชุมเพื่อกำหนดมาตรฐาน/ลดอัตราภาษีของที่นั่งนิรภัย และวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่ไม่สามารถใช้ที่นั่งนิรภัยได้ เพื่อจัดทำประกาศเรื่องการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้แล้วเสร็จภายใน 4 ธันวาคม 2565 เรื่องที่นั่งนิรภัยนี้ยังไม่เริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 กันยายน 2565 แต่จะบังคับใช้เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำประกาศและลงประกาศให้ประชาชนทราบในราชกิจจานุเบกษา ต่อไป

     นอกจากนี้ยังมีการตัดแต้มจากการกระทำผิดกฎหมายจราจร และพักการใช้ใบขับขี่ หรือข้ามขับขี่รถนั่นเอง(เริ่มใช้ต้นเดือน ม.ค. 66)  โดยเริ่มต้นทุกคนจะมีคนละ 12 คะแนนเต็ม  เมื่อกระทำผิดกฎหมายจราจรในข้อหาต่าง ๆ นอกจากถูกปรับ ถูกดำเนินคดีแล้ว  ยังมีการบันทึกการตัดคะแนนของผู้กระทำผิดด้วย  เพื่อให้เกิดความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น  โดยข้อหาความผิดที่จะถูกตัดแต้ม มีตั้งแต่ 1 จนถึง 4 คะแนน

หลักการตัดแต้มความประพฤติในการขับขี่

  • หากรู้ตัวผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่กระทำความผิด ให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ขับขี่นั้น
  • หากไม่พบหรือไม่ทราบตัวผู้ขับขี่และเป็นใบสั่งที่ติด ผูก หรือแสดงใบสั่งไว้ที่รถหรือส่งใบสั่งทางไปรษณีย์ ให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่เป็นผู้ครอบครองรถ
  • กรณีที่ผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดไม่มีใบอนุญาตขับขี่ ให้ผู้ออกใบสั่งหรือผู้จับกุม ดำเนินการกับบุคคลดังกล่าว ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

ข้อหาที่ตัด 1 คะแนน

  • ขับรถไม่หยุดให้คนเดินข้ามทาง ณ ทางข้าม ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางประเภทบังคับ “เส้นทางข้าม” 
  • ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
  • ขับรถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร 
  • ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา
  • ไม่ขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทาง 
  • ไม่หยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้ายหรือชิดช่องเดินรถประจำทางเพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อนเมื่อเห็นรถฉุกเฉินขณะปฏิบัติหน้าที่
  • ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน้อค หรือขับขี่รถจักรยานยนต์ในขณะที่คนโดยสารรถจักรยานยนต์มิได้สวมหมวกกันน็อค
  • ขับขี่รถยนต์โดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือขับขี่รถยนต์โดยไม่จัดให้คนโดยสารรถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์
  • นำรถที่ไม่ได้ติดแผ่นป้ายเลขทะเบียน แผ่นป้าย เครื่องหมายเลขทะเบียนหรือป้ายประจำรถตามกฎหมาย มาใช้ในทางเดินรถ
  • ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน และเครื่องหมายให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
  • เปลี่ยนแปลง ปิดบังทั้งหมด หรือบางส่วน ของป้ายทะเบียนรถ
  • ได้รับใบสั่งและไม่ชำระค่าปรับโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ข้อหาที่ตัด 2 คะแนน

  • ขับรถโดยฝ่าฝืนไฟแดง หรือเครื่องหมายจราจรสีแดงที่มีคำว่า “หยุด”
  • ขับรถย้อนศร
  • ขับรถในระหว่างที่ใบอนุญาตถูกสั่งยึด หรือถูกสั่งพักใช้ 

ข้อหาที่ตัด 3 คะแนน

  • ขับรถในขณะหย่อนความสามารถ
  • ขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดาหรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอแก่ความปลอดภัย 
  • ขับรถก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นและไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัวและแจ้งเหตุต่อตำรวจที่ใกล้เคียงทันที

ข้อหาที่ตัด 4 คะแนน

  • ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น 
  • ขับรถในขณะเสพยาเสพติดให้โทษหรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
  • ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
  • แข่งรถบนนถนนโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร

     การตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนคะแนนที่กำหนดของแต่ละข้อหา สำหรับการกระทำผิดในแต่ละครั้ง แต่หากเป็นกรณีที่กระทำผิดครั้งเดียวและเป็นความผิดหลายข้อหาให้ตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนคะแนนที่กำหนดของแต่ละข้อหา แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกิน 8 คะแนน 

     เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือ 0 คะแนน จะถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทุกชนิดคราวละ 90 วัน ส่วนการคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถจะได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถตามจำนวนที่ถูกตัดในแต่ละครั้งในวันถัดจากวันครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ถูกตัดคะแนนครั้งนั้น  การขับรถในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 156 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

     ผู้ที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม เมื่อพ้นกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่แล้วให้ได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ถูกตัด ในวันถัดจากวันครบกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ จำนวน 8 คะแนน ส่วนคะแนนที่เหลืออีก 4 คะแนนที่ยังไม่ได้รับคืน จะได้รับคืนก็ต่อเมื่อไม่ได้ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถในรอบระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่ครบกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่

     ในกรณีที่ผู้ซึ่งถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร และผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด จะได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ถูกตัด ในวันถัดจากวันครบกำหนดการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ในจำนวน 12 คะแนน

     ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ซึ่งถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนเหลือน้อยกว่า 6 คะแนน หากเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร และผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนด จะได้รับคืนคะแนนความประพฤติในการขับรถที่ถูกตัดในวันที่ผ่านการอบรม ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้ 

  • อบรมครั้งที่ 1 ในรอบปี คะแนนที่ได้รับคืนมาจะมีคะแนนรวมไม่เกิน 12 คะแนน
  • อบรมครั้งที่ 2 ในรอบปี  คะแนนที่ได้รับคืนมาจะมีคะแนนรวมไม่เกิน 6 คะแนน

ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ มีสิทธิได้รับคืนคะแนนจากการอบรมเพียงปีละ 2 ครั้ง หากทำความความผิดตามในระหว่างที่มีคะแนนความประพฤติในการขับรถเป็น  0 คะแนน ให้บันทึกประวัติการกระทำความผิดไว้และให้ตัดคะแนนความประพฤติการขับรถดังกล่าว เมื่อผู้ขับขี่นั้นได้รับคืนคะแนน

     ในขณะที่เขียนบทความนี้ การตัดแต้มยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากทางตำรวจและขนส่งทางบก ยังคงเซ็ทระบบกันไม่เสร็จ(อีกล่ะ)   ส่วนคนที่ไม่มีใบขับขี่ อย่าคิดว่าจะรอดจากการบันทึกแต้มนะครับ  เพราะจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นยิ่งกว่าผู้ที่มีใบขับขี่แน่นอน  สิ่งที่ตำรวจต้องเร่งดำเนินการคือการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทราบโดยทั่วกัน  ในช่องทางสื่อต่าง ๆ ของทุกสถานีตำรวจ ทั้งโซเชี่ยลมีเดีย  การประชุมต่าง ๆ เสียงตามสาย วิทยุท้องถิ่น ฯลฯ 

     ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ต้องทำคลิปเผยแพร่อย่างเร่งด่วน , สร้างระบบการบันทึกแต้ม , มาตรฐานค่าปรับในแต่ละข้อหาต้องเหมือนกันทั่วประเทศ


ความคิดเห็น