โรงพักเป็นจุดแตกหัก : ทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้ OT

เป็นตอนที่สองในซีรี่ย์ชุด "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"  มาดูเรื่องการทำงานล่วงเวลาของเจ้าหน้าที่ตำรวจกันบ้าง  ว่าเขาได้ค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยง หรือ OT กันหรือไม่ อย่างไร
     ค่ามาตรฐานของการทำงานคือเข้างานเวลา 08.30 น.  พักเที่ยง 12.00 - 13.00 น. และทำงานต่อเวลา 13.00 - 16.30 น.  รวมเวลาทำงานปกติต่อวันที่ 8 ชั่วโมง(รวมพักเที่ยง) สัปดาห์ละ 5 วัน เดือนละ 21 - 22 วัน สรุปชั่วโมงทำงานตกเดือนละ 168-176 ชั่วโมง
     แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย  ทำงานกันประมาณ 200 - 240 ชั่วโมง/เดือน  ยกตัวอย่างเช่น การเข้าเวรแบบเข้า 1 วัน พัก 2 วัน  หรือ ที่เข้า 8 ชม. พัก 16 ชม.  ซึ่งถ้าเป็นหน่วยงานอื่นนั้น จะต้องมีการจัดสรรเบี้ยเลี้ยงตามชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น เช่น โรงพยาบาล , รัฐวิสาหกิจ
     เบี้ยเลี้ยงตำรวจไทย  ได้รับการจัดสรรมาที่โรงพัก  หารเท่ากันหมดต่อเดือนแล้ว จะได้แค่คนละไม่เกิน 300 บาท(งบปี 58 นี่แหละ)  ยิ่งในช่วงปีใหม่ 7 วัน ได้รับจัดสรรมาน้อยว่าค่าแรงกะเหรี่ยงเสียอีก  ไม่ทราบว่าทาง บช. และ บก. กั๊กเอาไว้แค่ไหน  เพราะปลายปีมีค้างท่อไม่น้อย
     แต่ที่เจ็บปวดกว่านั้นคือ ต้องเอาเบี้ยเลี้ยงไปจ่ายค่าไฟฟ้า น้ำประปา ที่ค้างจ่ายจากปีงบประมาณก่อน  ทำให้บางโรงพัก  ไม่เหลือเบี้ยเลี้ยงให้ลูกน้องเลยสักบาท(ค่าไฟพุ่งเพราะประชุม ศปก. นี่แหละ)




     สตช. ใช้ตำรวจออกไปทำงานเกินเวลา  โดยไม่มีเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทนใด ๆ ให้  บอกว่าเป็นคำสั่ง เป็นหน้าที่  ถ้าไม่ทำถือว่า ละเว้น  ถามว่าแบบนี้มันยุติธรรมกับผู้ปฏิบัติหรือไม่  ทำไมไม่ทำการคำนวณเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสมกับชั่วโมงทำงาน  อย่างน้อยผู้ปฏิบัติจะได้รู้ว่าการทำล่วงเวลาไม่ได้เหนื่อยฟรี และไม่ต้องไปหาเศษหาเลยอะไร เพราะสิ้นเดือนก็จะได้เงินเพิ่มตามส่วน
     อยากให้ตำรวจเป็นที่รักของประชาชน  แต่ดูแลเขาแบบนี้ ไม่ให้ทางเลือกในชีวิตแก่เขาเลย  เอาเปรียบผู้ปฏิบัติ  คงอยากให้โรงพัก "แตกหัก" จริง ๆ

ซีรี่ย์ชุด "โรงพักเป็นจุดแตกหัก"

ความคิดเห็น