หน้าหมวกตำรวจ : ประวัติและความเป็นมา

สำหรับตำรวจทุกคนคงคุ้นเคยดีกับหน้าหมวกของเรา ซึ่งเป็นตราแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕  แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบถึงประวัติและความเป็นมา  วันนี้เลยขอนำมาบันทึกไว้เป็นแหล่งอ้างอิงให้กับพี่น้องตำรวจทุกท่านครับ

ตราแผ่นดิน และตราหน้าหมวกตำรวจ

     ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ผูกตราประจำประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก  เมื่อ พ.ศ.2416 โดยเรียกกันทั่วไปว่าตราแผ่นดินหรือตราอาร์ม  ซึ่งตราดังกล่าวนี้เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน  ซึ่งใช้สำหรับประทับกำกับพระปรมาภิไธย  หรือกำกับนามผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

     แต่สำหรับตราหน้าหมวกตำรวจในปัจจุบันนั้น  เริ่มใช้กันตั้งแต่ปี พ.ศ.2492 โดยได้มีการนำตราแผ่นดินของรัชกาลที่ 5 มาลงอักษรคำว่า "พิทักษ์สันติราษฎร์" ไว้บนแพรริ้วใต้ตราแผ่นดิน  ซึ่งก่อนหน้านั้นตราหน้าหมวกตำรวจ ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงมาถึง 4 ครั้ง

     ครั้งแรกเริ่มใน รัชกาลที่ 4 เป็นโลหะรูปช้างสามเศียร ยืนในตราอาร์ม  มีอักษรจารึกว่า "พลตระเวณสยาม"



     ส่วนตราหน้าหมวกรุ่นที่ 2 (ตำรวจนครบาล) และรุ่นที่ 3 (ตำรวจภูธร) เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2458 โดยของตำรวจนครบาลเป็นรูปเพชราวุธล้อมด้วยกลีบกนก ในขณะที่ตำรวจภูธรในยุคนั้นใช้หน้าหมวกเป็น ตราปทุมอุณาโลมบนพื้นสีแดงโดยมีบัวกนกสีน้ำตาลล้อมรอบ 
     สำหรับหน้าหมวกตำรวจรุ่นที่ 4 เริ่มใช้ในปี พ.ศ.2478 เป็นโลหะรูปสี่เหลี่ยมรี มีปทุมอุณาโลมอยู่กลางกงจักร โดยรอบนอกกงจักรมีลายเพลิงส่วนในกงจักรมีอักษร  "พิทักษ์สันติราษฎร์"

     ดังนั้นตราหน้าหมวกในปัจจุบันที่ทำด้วยโลหะสีเงิน ดุนเป็นตราแผ่นดิน และจารึกคำว่า พิทักษ์สันติราษฎร์นั้น จึงเป็นตราหน้าหมวกตำรวจรุ่นที่ 5 โดยในตราแผ่นดินจะมีพุทธภาษิตจารึกไว้ว่า "สัพเพสัง สังฆะภูตานัง สามัคคี วุฑฒิสาธกา" ซึ่งแปลว่า ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะย่อมยังความเจริญให้สำเร็จ อันเป็นพุทธภาษิตที่จำเป็นสำหรับข้าราชการตำรวจ ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยความพร้อมเพรียงเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อรวมกับตัวอักษร ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ จึงหมายถึง  พระบารมีของพระมหากษัตริย์ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ  และภาระหน้าที่ตำรวจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน

***\(^@^)/***

โล่เขน

     สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(หรือเดิมกรมตำรวจ)มีเครื่องหมายราชการ เป็นรูปพระแสงดาบเขนและโล่ เป็นรูปวงกลมเส้นคู่สองชั้น วงนอกเป็นลายพรรณพฤกษา วงในเป้นลายใบเทศผูกลายเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้ายักษ์ เรียกว่าจตุรมุข ตามธรรมเนียมโบราณที่แกะสลักรูปหน้ายักษ์จตุรมุข ไว้บนหน้าบันประตู ทั้งสี่ทิศของปราสาทหิน ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ทวารเข้า-ออก ปกป้องคุ้มครองและขจัดสิ่งชั่วร้าย
ส่วน "ดาบ" ที่คาดติดอยู่ในปลอก มีลวดลายกนก  ทั้งนี้สัญลักษณ์ไม่จำกัดสีและขนาด

     ตำรวจไทยเกิดเป็นรูปแบบองค์กรครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดให้จัดตั้งองค์กรตำรวจและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทยให้เป็นระบบ แสดงความเป็นอารยะทัดเทียมตะวันตกโปรดให้ใช้สัญลักษณ์เป็นรูป  "หนุมานสี่กร" 
     ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 5 ได้พระราชทานเป็นพระราชหัตถเลขา อนุญาตให้ กรมตำรวจภูธรใช้พระรูปพระแสงดาบเขนและโล่ ประจำที่มุมธงและใช้เป็นตราประจำกระดาษสำหรับราชการในกรมตำรวจภูธร เมื่อ 20 มิถุนายน พ.ศ.2445  ตราโล่เขนนี้ ออกแบบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2440 โดย หม่อมเจ้าประวิชชุมสาย (ผู้ผูกลายพระราชลัญจกรแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ.2416)
     ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ดาบเขนและโล่ได้ปรากฏอยู่ในพระธรรมนูญตราที่โปรดเกล้าฯให้ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ.2453 ให้เป็นตราประจำกรมพลตระเวน (ต่อมา พ.ศ.2458 เปลี่ยนเป็นกรมพลตำรวจนครบาล)

***\(^@^)/***



ตราประจำตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

     เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2445 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูล  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขอพระราชานุญาตใช้ตราประจำชาดสำหรับเจ้ากรมตำรวจภูธร  เป็นรูปเทวดาเชิญพระแสงดาบเขนและพระแสงดาบเขนและโล่  ซึ่งจะใช้เป็นตราประจำตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจภูธร ตราประจำที่มุมธง และเป็นตราประจำเอกสารราชการสำหรับกรมตำรวจภูธร

     ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาต โปรดเกล้าฯให้ใช้ตราประจำชาติ เป็นรูปเทวดาเชิญพระแสงดาบใจเพชร สำหรับตำแหน่งเจ้ากรมตำรวจภูธร แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ธงประจำตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น  ใช้ประดับแท่นตรวจแถวกองเกียรติยศ เนื่องในโอกาสที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นแท่นรับความเคารพหรือตรวจพลสวนสนาม  ใช้ประดับที่หน้ารถตรวจพลสวนสนามและใช้เป็นตราประทับแทนตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


หมายเหตุ  เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2475 ได้มีประกาศให้เปลี่ยนตราตำแหน่งในกรมตำรวจจากเดิม ให้ใช้ชื่อใหม่เป็น อธิบดีกรมตำรวจ  ส่วนรูปตราคงเดิม ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาโอนกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย ไปจัดตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อ 17 ตุลาคม พ.ศ.2541 ส่งผลให้ชื่อ "กรมตำรวจ" เปลี่ยนเป็น "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" , ตำแหน่ง "อธิบดีกรมตำรวจ" จึงเปลี่ยนเป็น "ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"

***\(^@^)/***

ขอบคุณข้อมูลจาก
กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดย พล.ต.ต.พจนารถ หวลมานพ

ความคิดเห็น