ให้แสดงวิสัยทัศน์ เพื่อจัดทำนโยบาย ผบ.ตร.

ว่าที่ ผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ  พุ่มพันธ์ม่วง มีหนังสือให้นายตำรวจ ระดับ รอง ผกก. - ผบก. หรือเทียบเท่า  จัดทำวิสัยทัศน์ใน 2 หัวข้อ  เพื่อนำไปประกอบนโยบายของ ผบ.ตร. ท่านใหม่ เรียกว่าเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อจะใช้ในการปฏิบัติในอีก 1 ปี ข้างหน้านี้  ก็ถือว่าเป็นแนวความคิดที่แปลก แหวกแนวไม่น้อย  และดูเป็นผู้นำที่รับฟังเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชา  ความยาววิสัยทัศน์ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ A4 โดยให้ส่งทางไปรษณีเท่านั้น ภายในวันที่ 19 ก.ย. นี้
     สำหรับหัวข้อวิสัยทัศน์มี 2 ข้อ ดังนี้
  1. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร ให้เป็นที่ถูกใจและเป็นที่รักใคร่ของพี่น้องประชาชน
  2. ทำอย่างไร ข้าราชการตำรวจ จึงจะมีความสุขกับภารกิจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

     ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นบ้างนะครับ ดังนี้
     1. นิสัยคนไทยนั้นเป็นที่รู้กันว่า ไม่ค่อยจะเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิของผู้อื่น อธิบายด้วยประโยคที่เราคุ้นเคยกันได้ว่า "ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้"  ดังนั้นควรจะเริ่มจากการปลูกฝังให้รู้จักเคารพกฎหมาย กฎระเบียบ เคารพสิทธิของตนเอง และของผู้อื่นเสียก่อน  ต้องเริ่มจากในสถานศึกษา ปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก  ส่วนในสังคม ผู้ใหญ่ต้องดำรงตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีได้  กฎกติกาในสังคมมีอยู่  แต่มักจะมีผู้แหกกฎกติกา และจะไม่ถูกลงโทษถ้า "เส้นใหญ่" เช่น  ม็อบปิดถนน ยึดสนามบิน ยึดทำเนียบ ม็อบทำร้ายตำรวจ  เมื่อกฎหมาย ไม่เป็นกฎหมาย  ไม่ดำรงความศักดิ์สิทธิแล้ว  สังคมย่อมจะวุ่นวายไม่จบสิ้น(กฎหมายสูงสุดถูกฉีกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นี่คงบอกสันดานของคนไทยได้อยู่เหมือนกัน)
     ดังนั้นการจะทำให้ถูกใจนั้นคงจะลำบาก  ต้องให้เกิดจิตสำนึกการเคารพกฎหมายเสียก่อน
     ส่วนในเรื่องการเป็นที่รักใคร่ของพี่น้องประชาชนนั้น ต้องปรับทัศนคติของตำรวจเอง  ยังมีตำรวจอีกมากที่ไม่คิดว่าตนเองเป็น ผู้พิทักษ์-รับใช้ประชาชน  การแสดงกิริยาวาจา ต่อประชาชนแย่ ถึงแย่มาก โดยเฉพาะ ตำรวจจราจร สายตรวจ ประจำวัน และ พนักงานสอบสวน ที่ต้องสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก ต้องฝึกให้ ยิ้มแย้ม ใส่ใจในการให้บริการ ให้ประชาชนมีรอยยิ้มกลับไปให้ได้  หรืออย่างน้อยการทำตามหน้าที่อย่างสุภาพ ก็น่าจะสร้างความพอใจให้กับประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
     ถ้าจะให้ถึงระดับประชาชน "รัก" นี่คงต้องทำให้เกินกว่าหน้าที่ เช่น ช่วยเหลือรถเสียต่าง ๆ , มอบของขวัญวันเด็ก , เลี้ยงอาหารผู้ยากไร้ , ช่วยสร้างบ้าน สร้างโรงเรียน เหมือนอย่างที่บรรดาหน่วยงานอื่นเขาทำ CSR กันนั่นแหละ  อย่าง ชมส. กับ ครูแดร์ นี่ก็ดีอยู่
     2. การจะให้ตำรวจผู้ปฏิบัติมีความสุขกับภารกิจ อันดับแรกต้องให้เขาออกไปปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีภาระเสียก่อน เช่น มีรถ มีน้ำมัน มีอุปกรณ์พร้อม มีเบี้ยเลี้ยง  ทุกวันนี้มันไม่ใช่  รถก็รถส่วนตัว ค่าน้ำมันกับเรื่องกินไปหาเอาดาบหน้า  ปืนกับวิทยุยังผ่อนอยู่  แบบนี้มันไม่ไหว
     อีกเรื่องคือ "เจ้านาย" อย่าสั่งให้ทำในสิ่งที่ต้องใช้งบประมาณ แล้วให้ผู้ปฏิบัติไปหาเอาเอง แต่ต้องรายงานผลพร้อมภาพถ่าย  กรวยดิ !  สั่งแบบนี้สิบตรีก็สั่งได้ ไม่มีสมอง  อยากให้ตำรวจสะอาด แต่สั่งแบบนี้  มันก็ต้องไป "ขอความร่วมมือ"(ไม่ใช่รีดไถนะ พูดให้สุภาพ 55) จากผู้ประกอบการสีเทา ๆ  พอมันมีบุญคุณกับตำรวจ มันก็ทำผิดกฎหมายได้มากขึ้น ถ้าถูกจับเจ้าของพื้นที่ก็โดน  ถ้าไม่ถูกจับก็จะกลายเป็นผู้มีอิทธิพลที่ใหญ่ต่อขึ้นไป  คิดดูนะใครเป็นคนสร้างเจ้าพ่อ
     ส่วนเรื่องเบี้ยเลี้ยง เป็นมหากาพย์ความห่วย ที่ทำการมาช้านาน  ต้องรื้อใหม่หมด ใครทำงานเกิน 176 ชม. ต่อเดือน  ต้องได้เบี้ยเลี้ยง คิดตามจริงที่ปรากฎในตารางเวร  พอสิ้นเดือนตำรวจชั้นผู้น้อยเขาจะได้รู้ว่านอกจากเงินเดือนที่โดนหักไม่เกือบหมดแล้วนั้น จะมีเบี้ยเลี้ยงเข้าบัญชีกี่บาท  ระบบสากล หน่วยงานไหนเขาก็ทำกันแบบนี้  ไม่ใช่ต้นปีงบโยนมาให้นิดนึง แล้วไปหารแบ่งกัน  พอปลายปีทั้ง บช. และ บก. ถมมาให้แล้วหักส่วนแบ่ง 
     ดูแล้วไม่ถึงน่าเกินหนึ่งหน้า A4 นะ  แค่นี้เอาไปทำให้ได้ก่อนแล้วกันครับ 





บทความที่เกี่ยวข้อง ปฏิรูปตำรวจฉบับผู้ปฏิบัติ ลองไปอ่านดูนะจ๊ะ

ความคิดเห็น