รวมเรื่องแปลกระทม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากประสบการณ์รับราชการตำรวจมานาน  ผ่านยุคอธิบดีกรมตำรวจ มาจนถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เพื่อนข้าราชการตำรวจหลาย ๆ ท่านก็คงได้เคยพบกับนโยบาย หรือข้อสั่งการแปลก ๆ (บางอย่างนี่ถึงขั้น งี่เง่า เลย)  ที่แม้วันนั้นผู้สั่งการมีอำนาจ  ไม่มีใครคัดคานได้  แต่ด้วยกาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็น นโยบายหรือข้อสั่งการที่ไร้สาระ , ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

     มาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง  บางคนอาจทันในยุคที่ว่านี้บ้าง หรือไม่ทันก็ลองไล่เรียงกันดูครับ  มาจากประสบการณ์ตำรวจโรงพักล้วน ๆ  ถ้าใครมีเรื่องอื่นก็เพิ่มเติมมาเล่าสู่กันฟังบ้าง  ทางช่องคอมเมนท์ด้านล่างครับ
  • รถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ - JRD  อันนี้ไม่รู้ว่าตอนนั้นล็อคสเปคกันอย่างไร  ได้มอไซด์ยี่ห้อที่ไม่มีศูนย์บริการ  อะไหล่หายาก  แม้จะมีเครื่องยนต์ 150 ซีซี แต่ความแรงก็สู้รถ จยย. ขนาดเดียวกัน ยี่ห้ออื่นไม่ได้เลย  และเพียงไม่กี่ปี มันก็กลายเป็นเศษเหล็กรอประมูลไป - ยุค พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช ผบ.ตร.
  • Bio-Desel  ช่วงนั้นหลาย ๆ จังหวัดต้อง "ซื้อ" เครื่องผลิตไบโอดีเซล ราคาหลายแสน เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจที่ขยันตรวจเยี่ยม  ได้ข่าวว่าผู้ขายเครื่องมีเพียงเจ้าเดียวซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนของผู้มีอำนาจซะด้วย  ตำรวจต้องไปขอน้ำมันพืชใช้แล้วจากร้านขายของทอด(ปาท่องโก๋ , ไก่ทอด , กล้วยทอด) เอามาผลิตไบโอดีเซล  ขอมา 100 ลิตร ผลิตได้ 70 ลิตร แต่ละโรงพักต้องเดินทางเอาน้ำมันพืชมาส่ง แล้วมารับกลับวันหลัง เสียค่าน้ำมันสองรอบ  แล้วเติมมาก ๆ เครื่องพัง ไม่มีงบซ่อมอีก  สุดท้ายใช้กันได้ไม่ถึงปี  ปัญหาเยอะเกินรับไหว  จึงเลิกใช้และขายเครื่องทิ้งไปถูก ๆ - ยุค พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวช ผบ.ตร.
  • ติดภาพวาดขนาดใหญ่ หน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศ  เป็นภาพวาดพร้อมกับคำขวัญ "บริการดุจญาติ พิทักษ์ราษฎร์ดุจครอบครัว"  สั่งการให้ติดทั่วประเทศ โดยส่งให้ดาวน์โหลดไฟล์ในเว็บ เอาไปสั่งพิมพ์  ไม่มีงบประมาณมาให้  กำหนดขนาดมาใหญ่มาก  ถ้าทำพร้อมโครงเหล็กก็ราคาเป็นหมื่น  และโรงพักแปลนไม้เก่าไม่มีที่ติดตามขนาดที่กำหนด  หลังจากสั่งมาไม่กี่วัน ก็กำชับให้รายงานผลพร้อมภาพถ่าย  พอรายงานพร้อมภาพถ่ายไปแล้ว  คงมีกระแสด่าไปถึงหู  เลยสั่งให้เอาภาพดังกล่าวลง  .... คิด วิเคราะห์ แยกแยะ   - ยุค พล.ต.อ.วิเชียร  พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. (อยากรู้ที่มีของภาพเพิ่มเติมคลิ๊ก)
  • รายงานเหตุด้วย FAX   แม้ว่าประเทศไทยจะก้าวสู่ ไทยแลนด์ 4.0  แต่การรายงานเหตุของตำรวจ ก็ยังคงใช้แฟกซ์มาหลายสิบปี  ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ email รายงานก็ได้ ค่าใช้จ่ายต่างกันลิบลับ  เมื่อไม่กี่วันเห็นหนังสือให้ประหยัดค่าโทรศัพท์ สาธารณูปโภค  ตรงนี้คิดกันไม่ได้เนาะ  แล้วแฟกซ์นี่ปัญหาก็เยอะ บางทีส่งมาดำเกินบ้าง จางบ้าง อ่านไม่ออกบ้าง  ส่งรูปก็ดูไม่รู้เรื่อง ฯลฯ  จึงชัดเจนว่าผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. ไม่ได้พัฒนาความคิดแต่อย่างใด  มีเหตุทีนึงต้องส่งแฟกซ์แม่งไม่รู้กี่สำนักงาน  โทรรายงานอีก  ไลน์อีก
  • แต่งตั้งล่าช้า  อันนี้ถ้าไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์แล้วก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเหตุอะไร  เพราะคนเกษียณ ก็ไม่เคยเกษียณล่าช้า  30 กันยายน แป๊ะทุกปี   คนที่เขาจะได้เลื่อนตำแหน่งเพราะอาวุโส เขาก็เสียประโยชน์ เสียสิทธิที่ควรได้  ยิ่งเหลือปีเดียวเกษียณ   น่าจะฟ้องศาลปกครองให้รู้เรื่องสักที
  • สอบนักเรียนนายสิบตำรวจ  ไม่เคยมีกำหนดการที่แน่นอน เที่ยงตรง ทุกปี ๆ  ต้องรอประกาศจากกองการสอบ  ทั้ง ๆ ที่อัตรากำลังพลที่เกษียณก็ชัดเจน   ในขณะที่ นายสิบทหารเหล่าต่าง ๆ  รวมทั้ง นักเรียนเตรียมทหาร นั้นมีกำหนดแน่นอน   เด็กที่ต้องการจะมุ่งสอบ นสต.  จะได้เตรียมตัว วางแผนล่วงหน้า  ทุกวันนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ นสต. จากเด็กที่สอบเอนทรานซ์แล้ว สอบอย่างอื่นไปหมดแล้ว ไม่ติดอะไรก็มารอสอบ นสต.   ทำไมเราไม่คิดคัดเด็กให้พร้อมกับสถาบันอื่น ๆ เพื่อยกระดับมาตรฐานความรู้  ไม่ใช่ต้องมาลดมาตรฐานคะแนนเพื่อรับเด็กให้ครบตามโควต้า
  • รถเช่าที่แพงกว่าเช่าซื้อ  รถเช่านั้นเกิดขึ้นในปี 2550 ยุคที่รัฐบาลมาจากรัฐประหาร  ตำรวจเลยได้ส่วนแบ่งในยุทโธปกรณ์กับเขาบ้าง  จึงได้รถเช่ามาให้กับทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ มี ตั้งแต่รถกระบะ 4 ประตู , 2 ประตู CAB , รถตู้ , รถกระบะสืบสวน  ข้อดีคือ เป็นรถเช่าที่มีการดูแล ซ่อมบำรุง เสร็จสรรพ เข้าศูนย์ตามวงรอบ เปลี่ยนยาง เปลี่ยนแบตฯ ฟรี  มีประกันภัยชั้น 1 ให้ด้วย   ส่วนข้อเสียก็อย่างที่จั่วหัวไว้ คือมันแพงเกินไป  ครบ 5 ปี หมดสัญญาเช่า  ตำรวจก็ไม่ได้สิทธิอะไรในรถเลย  จ่ายค่าเช่าเดือนละสามหมื่นอัพ  ถ้าผ่อนรถปกติ ก็จะได้รถใน 5 ปี แน่นอน   ปลายปี 2560 นี้ก็จะหมดสัญญาเช่ารอบสองแล้ว  ยุคคนดีนี่ไม่รู้ว่าจะสามารถตรวจสอบการเช่ารอบใหม่ได้หรือไม่อย่างไร
  • e inspector  เมื่อสัก 2 - 3 ปีก่อน  งานจเรตำรวจได้ผุดไอเดียสุดล้ำ กับโครงการ e inspector ที่จะให้ทุกสถานีตำรวจกรอกข้อมูลการตรวจของจเรตำรวจ พร้อมภาพถ่าย  แต่ละหัวข้อต้องกรอกตามวงรอบถี่บ้าง รายเดือนบ้าง  ตอนแรกก็นึกว่าจะไม่ต้องทำแฟ้มตรวจงาน  แต่สุดท้ายมันก็ตรวจทั้ง e inspector และแฟ้มอยู่ดี  สุดท้ายทำได้เพียงปีเดียว ก็ยกเลิกโครงการไป  เพราะทำให้งานของสถานีตำรวจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ไม่มีประโยชน์อันใดเลย  - ถ้าจำไม่ผิด e inspector เป็นผลงานของ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ  ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร.  มาตอนนี้ก็กำลังผลักดัน Police i lert u อยู่
  • HomeGuard  ตาม e inspector มาติด ๆ  แต่ก็หายไปกับสายลม  ตอนนี้มี Police i lert u มาแทน  ไม่รู้ว่าใครทำ HomeGuard แล้วใช้งบประมาณราชการหรือไม่ เท่าไหร่  ยังไงก็อย่าไอเดียบรรเจิดกันนักครับ  ถ้าจะใชความคิดก็ ช่วยคิดให้งานธุรการมันลดลงจะดีกว่า
  • โต๊ะทราย  แค่คนมีอำนาจเกริ่นออกมานิดเดียว ก็รับลูกกันเป็นแถว  ทำให้แต่ละสถานีตำรวจต้องจ่ายเงินสร้างโต๊ะทรายกันหลายพันบาท ขี้เกียจจะสรรเสริญนโยบายนี้แล้วครับ เคยเขียนไปแล้วลองตามไปอ่านกันดู(คลิ๊ก) 
  • การจัดการกำลังพล  การบ่นเรื่องกำลังขาดแคลน ในขณะที่รัฐบาลไม่อนุมัติอัตรากำลังพลเพิ่มนั้น  ไม่มีประโยชน์อะไร  กำลังสองแสนนาย เป็นตำรวจสายตรวจจริง ๆ กี่คน  เราต้องเสียกำลังพลไปกับสำนักงานเจ้านายต่าง ๆ , งานธุรการที่เกินจำเป็น , หน่วยงานซ้ำซ้อน ฯลฯ ไปเท่าไหร่  แก้ไขปัญหาตรงนี้ดีกว่า เอาพวกนี้ลงมาทำงานแบบตำรวจจริง ๆ น่าจะได้เป็นพันอัตรา 




     นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่เห็นชัด ๆ สำหรับพี่น้องตำรวจโรงพักทั่วประเทศ  เชื่อว่าหน่วยอื่น อย่าง ตชด. , รพ.ตร. , ศูนย์ฝึกฯ , พฐ. , บช.ก.  ฯลฯ ก็คงจะมีเรื่องราวแปลก ๆ ปนระทม ไม่น้อยเช่นกัน  จากบรรดานโยบาย คำสั่ง ที่คนคิดไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดของหน่วย เพิ่มงาน เพิ่มภาระ  ผู้ปฏิบัติก็ก้มหน้ารับชะตาฟ้าลิขิตต่อไป  จะบ่นก็ไม่ได้   ก็ได้แต่หวังว่าฟีดแบ็คนี้จะสะท้อนให้เจ้านายได้ยินกันบ้างอ่ะนะ ... แชร์สิครับ รออัลไร

ความคิดเห็น