เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 60 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ในคณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) โดย พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ประธานคณะอนุกรรมการ แถลงรายงานการปฏิรูปตำรวจว่า รายงานผลการศึกษาดังกล่าวจะนำเสนอเข้าที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป โดยคณะอนุกรรมการฯเห็นว่าองค์กรตำรวจควรปฏิรูปและเปลี่ยนแปลง โดย ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญามารวมอยู่ภายใต้รัฐมนตรีคนเดียวกัน และให้การบริหารจัดการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสอดคล้องเป็นระบบเดียวกัน ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล จะได้ประสานงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายอื่นๆในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.)
พล.ต.ท.บุญเรือง กล่าวว่า "ส่วนการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) จะมีการปฏิรูป โดยใช้หลักเกณฑ์ต้องผ่านงานสอบสวนอย่างน้อย 2 ปี และร่วมรับผิดชอบสำนวนสอบสวนไม่น้อยกว่า 70 คดี ขณะเดียวกันจะปรับปรุงเงินเดือนตำรวจให้เพียงพอต่อดำรงชีพ เพื่อให้เลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน สามารถปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามคนร้าย และอำนวยความยุติธรรมได้อย่างไม่มีความกังวลและห่วงใย ทั้งนี้สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่คือการขาดแคลนงบประมาณ เช่น เมื่อเกิดคดีที่ต้องติดตามคนร้ายหรือคดีที่ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่มีงบประมาณส่วนนี้ หลายครั้งตำรวจต้องออกเงินกันเอง เป็นการผลักตำรวจไปอยู่ในพื้นที่สีเทา นอกจากนี้ จะให้มีการติดตั้งซีซีทีวีช่วยติดตามคนร้ายอีกทางหนึ่งเหมือนต่างประเทศที่ติดตั้งซีซีทีวีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ของไทยมีความซ้ำซ้อน เพราะเป็นการติดตั้งโดยหลายหน่วยงาน จึงอยากให้โอนให้ทางตำรวจรับผิดชอบเพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่แล้ว"
โดยในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ คณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังได้ศึกษาเรื่องงบประมาณของตำรวจ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆของข้าราชการตำรวจ ให้แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการสูงกว่าข้าราชการพลเรือนถึง 13.56-22.57 เท่า จึงเสนอให้ใช้อัตราอ้างอิงในต่างประเทศที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญในระดับเดียวกัน 1.28 เท่า และข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.74 เท่า โดยข้าราชการตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจร และสายงานสืบสวนที่มีความเสี่ยงการปฏิบัติงานสูงกว่าตำรวจสายงานอำนวยการ
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาไอทีออนไลน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ด้วยตนเอง โดยใช้ Usename และ Password แก่ประชาชนในการติดตามคดีด้วยตัวเอง ส่วนการปฏิรูประบบงานสอบสวนเสนอให้ปรับระบบการเข้าเวรของพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจจากเดิมเข้าเวรเดี่ยวเป็นเข้าเวรเป็นชุดพนักงานสอบสวน และควรมีการแยกคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนเป็นกรณีพิเศษออกจากการสืบสวนสอบสวนทั่วไป เช่น คดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน คดีผู้มีอิทธิพล คดีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูงเฉพาะทาง เพื่อให้หน่วยงานจากส่วนกลางมารับผิดชอบแทน ตลอดจนให้มีเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับข้าราชการในสายงานตามกระบวนการยุติธรรมอื่นเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อัยการ(ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก มติชนออนไลน์ อ่านเพิ่มเติมคลิ๊ก)
สรุปคือเอาเงินมาล่อ ถามรัฐบาลรึยังครับว่ามีงบประมาณพอจะทำได้หรือไม่ ไม่ทราบว่าได้แหกตาดูข่าวกันบ้างรึเปล่า อย่างเช่น ข่าวกระทรวงยุติธรรมจะเลิกจ้างพนักงานสองพันตำแหน่ง , ชงขึ้นภาษี vat อีก 1 % , รัฐทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมาหลายปี มันแสดงว่ารัฐไม่มีเงินพอจะทำอะไรแบบนี้แน่ ไหนจะต้องซื้อรถถัง เรือดำน้ำ เครื่องบิน อีกหลายแบบ จำเป็นทั้งนั้น อ้อ จ่ายเงินเดือน+ค่าตอบแทน+เบี้ยประชุม+ที่ปรึกษา+ฯลฯ ให้กับพวก สนช. สปท. คสช. กกต. ตลก. ก็จำเป็น
ตอนนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ อัยการ ก็ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี หลักการเพื่อให้เป็นอิสระ นี่จะจับรวมกันอยู่ในกระทรวงเดียว เท่ากับเพิ่มคนที่จะแทรกแซงขึ้นมาอีก แบบนี้ไม่น่าจะใช่ ส่วนในเรื่องอื่น ๆ ก็ถือว่ามีเหตุผล แต่ก็ยังต้องใช้งบประมาณไม่ใช่น้อยอยู่ดี
ถ้าอยากปฏิรูปตำรวจไปอ่าน ปฏิรูปตำรวจฉบับผู้ปฏิบัติ และ คุณสมบัติ ผบ.ตร. ในฝัน กันดูก่อน ไม่ต้องใช้เงินสักกะบาทเดียว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น