จบมหากาพย์ชุมนุมพันธมิตร ตร. ใช้แก๊สน้ำตาไม่ผิด


เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 61 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 คน ออกนั่งบังลังก์อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ในคดีที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง , พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.(น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ) และ พล.ต.ท.สุขาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีการออกคำสั่งขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ปี 2551 จนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย 

     ในคดีนี้ศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ส.ค.60 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสี่ด้วยเสียงข้างมากขององค์คณะ 8 ต่อ 1 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งมีบทบัญญัติที่ให้ยื่นอุทธรณ์คดีคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ได้ ป.ป.ช.โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์เฉพาะในส่วนของพล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะ ผบช.น. และผบ.เหตุการณ์ โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 คดีในส่วนของจำเลยที่ 1-3 จึงเป็นอันยุติ

     มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยได้แก้อุทธรณ์ว่า พล.ต.ท.สุชาติ จำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์จำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว โดยไม่อุทธรณ์จำเลยที่ 1-2 ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และมีพฤติการณ์ที่เกี่ยวพันกันนั้น องค์คณะมีมติเอกฉันท์เห็นว่าตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) มาตรา 9 บัญญัติไว้เกี่ยวกับลักษณะความผิดที่ให้ศาลรับไว้พิจารณาได้ว่า นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้วยังพิจารณาถึงการกระทำของตัวการหรือผู้สนับสนุนได้ ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ได้ ส่วนที่จำเลยแก้อุทธรณ์สู้ว่าช่วงที่ศาลมีคำตัดสินในคดีนี้ ขณะนั้นยังไม่มีการประกาศใช้ วิ อม. ใหม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 278 วรรคสาม กรณียื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาฯ จะต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษาหรือมีหลักฐานใหม่ องค์คณะมีมติเอกฉันท์เห็นว่า ก่อนที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ระหว่างนั้นได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งมาตรา 195 วรรคสี่ ระบุไว้ชัดว่ากรณียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาฯ ให้อุทธรณ์ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา แม้หลังจากมีรัฐธรรมนูญแล้วยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการยื่นอุทธรณ์ออกมา แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสอง ก็ได้บัญญัติว่าสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โจทก์มีสิทธิ์อุทธรณ์ได้ทันทีตามมาตรา 195 วรรคสี่ 

     ประเด็นสุดท้ายมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อมาว่า จำเลยที่ 4 กระทำผิดเกิดกว่าเหตุหรือไม่ ศาลเห็นว่า ในชั้นไต่สวนพยานมีนายตำรวจได้เบิกความถึงเหตุการณ์ช่วงเวลาที่ได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในการเปิดทางจากพื้นที่ที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดล้อมช่วงแยกการเรือน เพื่อให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หลังจากที่นายสมชาย จำเลยที่ 1 ได้เรียกจำเลยที่ 3-4 เข้าพบเพื่อรายงานสถานการณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ในการวางแผนควบคุมฝูงชนตามขั้นตอนปฏิบัติแผนรักษาความสงบ (แผนกรกฎ 48 ) ให้ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจากับนายวีระ สมความคิด ซึ่งนายวีระแจ้งว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะไม่ใช่แกนนำ ขอกลับไปปรึกษากับแกนนำ 1 ชั่วโมง จากนั้นนายวีระได้แจ้งว่าไม่สามารถเปิดทางได้ ขณะเดียวกันระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้เริ่มใช้รถโมบายเคลื่อนที่และโทรโข่งประกาศเตือนให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นไปที่ถนนอู่ทองใน และได้มีการประสานขอรถฉีดน้ำจากกทม. แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ระหว่างเหตุการณ์ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่บางส่วนได้รับบาดเจ็บ โดยมีการใช้หนังสติ๊กยิงและใช้ขวดน้ำปา รวมทั้งยังมีด้ามธงแหลม จึงใช้แก๊สน้ำตายิงใส่พื้นและล้อรถที่ห่างจากตัวเจ้าหน้าที่ 50 เมตรจนสามารถเปิดทางให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.51 ได้

     และในช่วงบ่ายวันเดียวกันหลังแถลงนโยบายเสร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมกลับเข้ามาในพื้นที่ปิดล้อมทางเข้าออกรัฐสภาใช้โซคล้องไม่ให้กลุ่มรัฐมนตรีออกนอกพื้นที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำเฮลิคอปเตอร์ไปรับจำเลยที่ 1 ออกจากพื้นที่ ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ขณะที่สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงขึ้นในช่วงเย็น โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนไปกดดันที่ บช.น. ทำร้าย พล.ต.ต.โกสินทร์ บุญสร้าง รอง ผบช.ตชด. ที่ออกมาช่วยเจรจาให้ถอนพ้นแนวรั้วลวดหนามด้วยการขว้างท่อนเหล็กจนสลบไป จนผู้ชุมนุมเข้าประจันหน้ากับตำรวจและพยายามฝ่าแนวกั้น เจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายก่อนที่จะค่ำมืด ขณะที่ในทางไต่สวนยังมีพยานผู้เชี่ยวชาญตรวจแก๊สน้ำตาและแพทย์ผู้ชันสูตรศพผู้เสียชีวิต ระบุว่าจากเศษเขม่าที่ติดอยู่บนเสื้อผ้าของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ มีสารโพสแทสเซียมคอลเรตที่เป็นส่วนประกอบระเบิด และลักษณะซี่โครงหักน่าจะเกิดแรงปะทะระยะใกล้ ขณะที่การตรวจสอบสารประกอบในแก๊สน้ำตาปกติ และแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากจีนก็ไม่มีสารประกอบนี้อยู่ด้วย แม้การสลายการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมากก็ยังมีข้อโต้เถียงว่าเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตาหรือไม่ การไต่สวนยังได้ความว่าในพื้นที่เกิดเหตุพบแรงระเบิดเป็นหลุมลึก 30 เซนติเมตรที่น่าเกิดจากระเบิดแรงต่ำที่ระกอบขึ้นเองเป็นระเบิดแสดงเครื่องจากดินเทาดินดำ ซึ่งรัศมีการระเบิดอยู่ที่ 1-2 เมตร ในการชุมนุมเจ้าหน้าที่ก็พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ระเบิดปิงปอง พลุไฟ ประทัด และยังมีเหตุการณ์รถของกลุ่มผู้ชุมนุมระเบิดด้วย

     การสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงเข้าและบ่าย เจ้าหน้าที่ก็พยายามเจรจากับผู้ชุมนุมแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ผู้ชุมนุมยังคงใช้รั้วลวดหนามและยางรถยนต์กีดขวาง กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจประการแจ้งเตือนผู้ชุมนุมให้เปิดทางเข้าออกบริเวณอาคารรัฐสภา ผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอม และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ผลักดัน ผู้ชุมนุมก็โต้ตอบด้วยการขว้างปาขวด สิ่งของ หนังสติ๊ก จนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่นั้นได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมขับรถชนแล้วถอนทับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งไม่อาจนำส่งโรงพยาบาลเพราะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดกั้น สถานการณ์ที่กดดันขณะนั้นหากไม่ได้ดำเนินการโดยเหมาะสมอาจเกิดความเสียหายได้ แสดงให้เห็นว่าการใช้แก๊สน้ำตาเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่ใช่ใช้เพื่อเล็งเห็นผลที่จะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งนานาประเทศก็นิยมใช้กัน และไม่ปรากฎว่ามีผู้เสียชีวิต การการทำของจำเลยที่ 4 ไม่มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุม นอกจากนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว จำเลยที่ 4 สามารถเลื่อนประชุมหรือย้ายสถานที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่นั้น ทางการไต่สวนได้ความว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาขณะนั้น ในประเด็นดังกล่าวแล้ว ทางสภาไม่สามารถดำเนินการเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุมได้ เพราะเป็นการกระทำแจ้งในระยะเวลากระชั้นชิด ขณะที่จำเลยที่ 4 เป็นผบช.น. ไม่มีอำนาจในการเลื่อนหรือย้ายสถานที่ประชุม แต่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติครม.และคำสั่งผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการเพื่อให้ครม.และสมาชิกสภาเข้าประชุมตามกำหนด ดังนั้นที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 มานั้นชอบแล้ว

     องค์คณะมีมติเสียงข้างมาก พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4

************************************



     ลากยาวกันมาเป็นสิบปี กว่าจะสรุปกันได้ว่า ตร. สามารถใช้แก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุมได้ ... เฮ้อ ! ที่ไหนในโลกเขาก็ใช้กันได้ทั้งนั้น  มีประเทศไทยนี่แหละ เถียงกันเป็นสิบปี   อีกอย่างคือคำพิพากษาระบุชัดเจนถึงลักษณะของผู้ชุมนุมพันธมิตร ว่าไม่ได้ชุมนุมโดยสงบตามที่กล่าวอ้าง  มีการทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยอาวุธที่ดัดแปลง และเตรียมมา โดยเฉพาะมีการเสียชีวิต 2 ศพ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบระเบิดของผู้ชุมนุมเองด้วย  ไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด

     ถ้ากระบวนการยุติธรรมแบบไทย ๆ ยังคงเป็นอยู่อย่างนี้  คือจะใช้เวลาลากยาวเนิ่นนานเท่าไหร่ก็ได้  ปัญหาสีเสื้อก็บานปลายอย่างที่เป็นอยู่นี่แหละ  สงครามสีเสื้อนับสิบปีที่ดำเนินมา   หากการตัดสินเสร็จสิ้นภายใน 2 - 3 ปี  รับรองว่ากลุ่มการเมืองอื่น ๆ ก็ไม่กล้า  ควรหรือยัง ที่จะปฏิรูประบบอัยการ ศาลยุติธรรม และองค์กรอิสระ ให้มีระยะเวลาในการทำคดีเป็นกรอบที่ชัดเจน เหมือนทางฝั่งตำรวจ  เงินเดือนมากกว่า มีความรู้มากกว่า ได้งบประมาณต่อหัวมากกว่า ฯลฯ  จะทำงานให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ไม่ได้เชียวหรือ

     นี่ยังมีคดีที่เกี่ยวข้องอีกหลายคดีที่ยังไม่ไม่ถึงไหนเลย เช่น คดียึดสนามบิน คดี ทอท.เรียกค่าเสียหาย ฯลฯ  ความยุติธรรมที่ล่าช้า มันคือความไม่ยุติธรรม  ทีคดีอื่นเห็นทำกันเร็วได้ แปลกเนอะ

ความคิดเห็น