กักขังหนุ่มขี่ จยย. ชนนักเรียนบทฟุตบาท


จากกรณีหนุ่มแมสเซนเจอร์หนีรถติด ขับรถจักรยานยนต์ขึ้นไปบนทางเท้าและเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับนักเรียนหญิง รร.บดินทรเดชา ที่ยืนรอรถเมล์อยู่ จนนักเรียนหญิงดังกล่าวได้รับบาดเจ็บและถูกนำตัวส่งโรงพยบาล  ส่วนตัวผู้ขับขี่ จยย. ก็ยืนรอมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  เหตุเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เวลาประมาณ 15.30 น. ในพื้นที่ของ สน.โชคชัย   ซึ่งพนักงานสอบสวนก็ได้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ดังกล่าวตามกฎหมาย

     เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 ศาลแขวงพระนครเหนือ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ นายภูวดล ศรีสำโรง อายุ 23 ปี พนักงานส่งเอกสาร ก่อเหตุขี่ จยย.ชน นร.หญิงโรงเรียนบดินทรเดชา 3 บนทางเท้าจนได้รับบาดเจ็บเป็นจำเลย ความผิดฐาน
  1. กระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายและจิตใจ 
  2. ความผิดฐานขับขี่รถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน 
  3. ความผิดฐานขับขี่รถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุสมควร และ
  4. ความผิดฐานขับขี่โดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น
     รวม 4 ข้อหา  แม้หลังเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายตกลงชดใช้ค่าเสียหายแล้ว อัยการยังระบุด้วยว่า การขี่รถ จยย. ของจำเลยเป็นการรบกวนความสงบสุข ความปลอดภัยของคนเดินเท้า และการกระทำผิดดังกล่าวเป็นภัย อันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น เพื่อป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิด และเพื่อคุ้มครองสังคมและสุจริตชน ขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก ในชั้นศาลจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติทำรายงานการสืบเสาะและพินิจ แสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติ ภูมิหลัง อาชีพของจำเลย สภาพความผิดพฤติการณ์แห่งคดีและเหตุอันควรปรานี กรณีการเยียวยาผู้เสียหาย สรุปเป็นรายงานสืบเสาะและพินิจส่งศาลประกอบการพิพากษา



     ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย หรือความเดือดร้อนของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 160 วรรค 3 เป็นบทที่มีโทษหนักสุดให้จำคุก 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 เดือน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน แต่การกระทำของจำเลยไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และความเดือดร้อน ของผู้ใช้ทางเท้า เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้เสียหาย ขาดจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวม ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย และให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด  

     ภายหลังญาตินายภูวดลยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เงินสด 18,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราว เพื่อขออุทธรณ์ คำสั่งกักขังโดยไม่รอลงอาญา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตีหลักทรัพย์ 18,000 บาท

     ถือว่าเป็นคดีตัวอย่างให้สังคมโดยเฉพาะบรรดาผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เป็นอาชีพทั้งหลายได้ตระหนักว่ากฎจราจร คือกฎแห่งความปลอดภัย  การละเมิดแล้วไปได้เร็วกว่า ไม่ใช่เรื่องเจ๋ง เก๋า แต่เป็นเรื่องผิดและอาจทำให้คนอื่นบาดเจ็บได้  บทลงโทษดังกล่าวถือว่าหนักพอสมควรกับการยึดรถจักรยานยนต์สำหรับใช้ทำมาหากิน  ส่วนการกักขังนั้น ก็ดีกว่าการจำคุกมาก  โดยเฉพาะถ้าถูกกักขังภายในบ้าน(อาจใช้กำไลอิเลคทรอนิค)  แต่ก็ต้องสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพไปตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดครับ

อ่านต่อ โทษกักขัง คืออะไร ?  

ความคิดเห็น