ทำความรู้จักกับ "โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย"


โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิด มี 5 ประการตามลำดับชั้นแห่งความร้ายแรงของการกระทำผิด คือ
  1. ประหารชีวิต 
  2. จำคุก 
  3. กักขัง 
  4. ปรับ 
  5. ริบทรัพย์สิน

     วิธีเพิ่มโทษ ลดโทษ เปลี่ยนโทษ การรอการลงโทษและระงับโทษต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด


     วิธีการเพื่อความปลอดภัยมิใช่โทษ มี 5 ประการ คือ 
  1. กักกัน 
  2. ห้ามเข้าเขตกำหนด 
  3. เรียกประกันทัณฑ์บน 
  4. คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล 
  5. ห้ามประกอบอาชีพบางอย่าง




ลักษณะของโทษที่จะบังคับแก่ผู้กระทำผิดมี 3 ลักษณะคือ
  1. โทษที่บังคับต่อชีวิต ได้แก่ โทษประหารชีวิต ด้วยการเอาไปยิงเสียให้ตาย ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้การฉีดสารพิษให้ตาย เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2546
  2. โทษที่บังคับต่อเสรีภาพ ได้แก่ 
    • โทษจำคุก โดยมีกำหนดระยะเวลาและไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการคำนวณเกี่ยวกับระยะเวลาจำคุกจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
    • โทษกักขัง ให้กักขังผู้ต้องโทษไว้ในสถานที่อันมิใช่เรือนจำโดยมีระยะเวลาอยู่ภายในเงื่อนไขของกฎหมาย และจะนำไปใช้เป็นการลงโทษหรือเป็นมาตรการบังคับในกรณีที่ฝ่าฝืนการลงโทษปรับ ริบทรัพย์สิน ตลอดจนเรียกประกันทัณฑ์บน ในวิธีเพื่อความปลอดภัย
  3. โทษที่บังคับต่อทรัพย์สินได้แก่
    • โทษปรับ ผู้นั้นต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากขัดขืนผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือกักขังแทนค่าปรับ โทษนี้มักใช้คู่กับโทษจำคุก
    • โทษริบทรัพย์ บังคับเอาแก่ทรัพย์ที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ได้มาโดยการกระทำความผิด และได้ให้เป็นสินบนหรือได้ให้เพื่อจูงใจเพื่อเป็นรางวัลในการกระทำความผิด



โทษประหารชีวิต

     วิธีการประหารชีวิตในปัจจุบันคือเอาไปฉีดสารพิษให้ตาย ตาม ปอ.มาตรา 19 หากผู้ต้องโทษประหารชีวิตเป็นหญิงมีครรภ์ ต้องรอโทษประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าจะคลอดบุตรแล้วจึงให้ประหารได้ ตาม ปวอ. มาตรา 247 วรรค 2

     หากผู้ต้องโทษประหารชีวิตเป็นคนวิกลจริตก่อนถูกประหารชีวิต ต้องรอการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะหาย ถ้าหายหลัง 1 ปี นับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ก็ให้ลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต ตาม ปวอ. มาตรา 248



โทษจำคุก

     การคำนวณระยะเวลาจำคุก มีหลักเกณฑ์ตาม ปอ. มาตรา 21 คือ ให้นับวันเริ่มจำคุกคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็ม โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง เช่น ศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลย วันที่ 3 มกราคม 2530 เวลา 15.30 น. ส่งตัวจำเลยเข้าเรือนจำเวลา 16.30 น. ดังนั่นให้นับวันที่ 3 มกราคม 2530 เป็นวันแรกของการลงโทษจำคุก และให้นับเป็น 1 วันเต็ม ไม่เหมือนกับนับระยะเวลาใน ปพพ. มาตรา 158 ซึ่งจะไม่นับวันแรกของระยะเวลารวมคำนวณเข้าไปด้วย

     ในกรณีที่กำหนดโทษไว้เป็นเดือน ไม่ถือตามเดือนปฏิทิน แต่เอา 30 วัน เป็นหนึ่งเดือน เช่น เริ่มต้นจำคุกวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2530 มีกำหนด 1 เดือน ครบกำหนดวันที่ 2 มีนาคม 2530 ไม่เหมือนกับการนับระยะเวลาใน ปพพ. มาตรา 159 วรรคต้น ซึ่งให้คำนวนตามปฏิทิน

     ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปฏิทินในราชการ ซึ่งอาจมี 365 วันหรือ 366 วัน ก็ได้ เช่น เริ่มต้นจำคุกวันที่ 1 ตุลาคม 2530 ครบกำหนด 1 ปี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531

     อนึ่งการกำหนดโทษจำคุก ถ้ากฎหมายระวางโทษไว้อย่างไร ศาลก็ต้องกำหนดให้เป็นไปตามนั้น เช่น กฎหมายระวางโทษเป็นเดือน ศาลก็ต้องกำหนดโทษเป็นเดือนด้วย

     หลักเกณฑ์การเริ่มรับโทษจำคุก เป็นไปตาม ปอ.มาตรา 22 วรรคแรก คือให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาตามคำพิพากษาเช่น จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ถูกตำรวจจับได้ในวันที่ 1 มกราคม 2531 และได้ถูควบคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจ จนพนักงานอัยการนำตัวขึ้นฟ้องในวันที่ 1 เมษายน 2531 และศาลได้พิพากษาให้จำคุก 2 ปี ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 ดังนี้ศาลต้องหักวันคุมขังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 31 ถึง 1 กรกฎาคม 31 เป็นเวลา 6 เดือน 1 วัน ออกจากระยะเวลาจำคุกก่อน ผลสุดท้ายจำเลยต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำเพียง 1 ปี 5 เดือน 29 วัน





โทษกักขัง

     โทษกักขังเป็นโทษที่เกี่ยวกับเสรีภาพของผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับโทษจำคุกแต่เป็นโทษที่เบากว่า เพราะไม่ได้ถูกกักขังในเรือนจำและผู้ต้องโทษกักขังมีสิทธิต่างๆ มากกว่าผู้ต้องโทษจำคุก

     การบังคับใช้โทษกักขัง ในปัจจัย ในปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติมาตราใดในประมวลกฎหมายอาญาที่กำหนดโทษกักขังแก่ผู้กระทำความผิดสำหรับการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะ มีแต่เพียงที่บัญญัติความผิดบางมาตราที่ให้เปลี่ยนโทษอย่างอื่นมาเป็นโทษกักขัง หรือใช้วิธีการลงโทษกักขังเพื่อเป็นมาตรการเร่งรัดให้กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติได้แก่
  1. การที่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังตามมาตรา 23 (การเปลี่ยนโทษกักขังกลับเป็นโทษจำคุกมาตรา 27)
  2. กรณีต้องโทษปรับแล้วไม่ชำระค่าปรับ หรือศาลสงสัยว่าจะมีการหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ (มาตรา 29)
  3. กรณีขัดขืนคำพิพากษาของศาลให้ริบทรัพย์สิน ให้กักขังจนกว่าจะปฏิบัติตาม (มาตรา 34)
  4. กรณีไม่ยอมทำทัณฑ์บนหรือหาประกันไม่ได้ ให้กักขังจนกว่าจะปฏิบัติตาม (มาตรา 46)
  5. ในกรณีไม่ชำระเงินตามที่ศาลสั่ง เมื่อกระทำผิดทัณฑ์บน ให้มีการกักขังจนกว่าจะมีการชำระ (มาตรา 47) 
สถานที่กักขัง ตามมาตรา 34 แยกเป็น 2 ประเภท คือ
  • สถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้อันมิใช่เรือนจำ คือสถานีตำรวจ หรือสถานกักขังของกรมราชทัณฑ์
  • สถานที่อื่นซึ่งไม่ใช่สถานที่กักขังซึ่งกำหนดได้แก่ ที่อาศัยของผู้นั้นเอง ที่อาศัยของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้น และสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้


สิทธิของผู้ต้องโทษกักขัง (มาตรา 25-26) คือ

     กรณีที่ผู้ต้องโทษกักขังในสถานที่ซึ่งกำหนด มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากสถานที่นั้น มีสิทธิได้รับอาหารจากภายนอกโดยเสียค่าใช้จ่ายของตนเอง ใช้เสื้อผ้าของตนเอง ได้รับการเยี่ยมอย่างน้อยวันละ 1 ชม. และรับส่งจดหมายได้ (มาตรา 25)

     ในกรณีที่ผู้ต้องโทษกักขังถูกกักตัวไว้ในสถานที่อื่น ผู้ต้องโทษกักขังมีสิทธิต่างๆ ดีกว่าผู้ถูกกักขังในสถานที่ซึ่งกำหนด มีสิทธิจะดำเนินการใช้วิชาชีพของตนเองได้ตามแต่ศาลจะเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไข



โทษปรับ

     โทษปรับเป็นโทษอาญาในทางทรัพย์สิน การเสียค่าปรับคือการชำระเงินจำนวนหนึ่งต่อศาลตามจำนวนที่ศาลกำหนดเอาไว้ในคำพิพากษา (มาตรา 28)

     ถ้าผู้ต้องโทษปรับไม่ชำระค่าปรับภายในเงื่อนไขของกฎหมาย คือภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษาผู้นั้นก็อาจจะถูกยึดทรัพย์สินใช้แทนค่าปรับ หรือถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ศาลก็อาจเรียกประกันหรือกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ ถ้ามีเหตุอันสมควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ (มาตรา 29)

ความคิดเห็น