ผบ.ตร. ลงใต้ ประชุมความคืบหน้าคดียิง ชรบ.ลำพะยา


เมื่อวันที่ 15 พ.ย.62  พล.ต.อ.จักรทิพย์  ชัยจินดา ผบ.ตร. ลงพื้นที่ จ.ยะลา ร่วมกับแม่ทัพพภาค 4 และ ผบช.ภาค 9 ตรวจสอบติดตามความคืบหน้าคดีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงจุดตรวจ ชรบ.ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา  ณ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า อ.เมือง จ.ยะลา

      สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 เวลาประมาณ 22.15 น.  ได้เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวน ใช้อาวุธปืนยิงใส่จุดตรวจ ชรบ.ต.ลำพะยา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย บาดเจ็บ 5 ราย และเวลาต่อเนื่องกันได้มีการสกัดกั้นการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ โดยมีการเผายาง วางระเบิดเสาไฟฟ้า และโปรยตะปูเรือใบ  เพื่อสร้างความสับสนให้เจ้าหน้าที่  จากการตรวจที่เกิดเหตุเชื่อว่าคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุมีไม่ต่ำกว่า 40 คน

     จากหลักฐานในที่เกิดเหตุสรุปได้ ดังนี้ ผลตรวจปลอกกระสุนปืน ยิงมาจากอาวุธปืน จำนวน 25 กระบอก พบประวัติเคยก่อเหตุคดีความมั่นคง จำนวน 17 กระบอก ในพื้นที่ อ.เมือง กรงปินัง บันนังสตา ยะหา และ อ.กาบัง ของ จ.ยะลา, อ.เมือง โคกโพธิ์ หนองจิก และ อ.ยะหริ่ง ของ จ.ปัตตานี และ อ.เทพา ของ จ.สงขลา

     หน่วยงานด้านการข่าว ได้ประชุมเพื่อวิเคราะห์ และกำหนดเป้าหมายบุคคลต้องสงสัย และพื้นที่ที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบซ่อนตัว จนนำไปสู่การเข้าติดตามบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยรวม จำนวน 11 ราย ปัจจุบันควบคุมตัวเพื่อซักถาม ณ หน่วยซักถาม ฉก.ทพ.41, ฉก.ทพ.43 และศูนย์ซักถาม ขกท.สน.จชต.(ค่ายอิงคยุทธบริหาร) ซึ่งจากผลการซักถาม และตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในขั้นต้น สามารถระบุตัวคนร้ายได้แล้ว 12 ราย ออกหมายจับแล้ว 3 ราย และจะทยอยออกหมายจับในส่วนที่เหลือต่อไป

     โดยยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนของกฎหมายด้วยความระมัดระวัง และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ด้วยความโปร่งใสภายใต้การรับรู้ของผู้นำ 4 เสาหลัก และญาติ โดยยืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานดังที่สื่อแนวร่วม หรือบางฝ่ายพยายามบิดเบือนโจมตีในช่วงที่ผ่านมา และพร้อมที่จะเปิดโอกาสให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เข้าไปตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา หรือหากยังมีข้อสงสัยพร้อมที่จะเปิดหลักฐานจากกล้องวงจรปิดให้ดูได้เช่นกัน

*************

     เป็นที่น่าสังเกตุว่าคนร้ายสามารถรวมกลุ่มปฏิบัติการขนาดใหญ่ ใช้คนร่วม 40 คน  เชื่อว่าต้องมีคนร่วมรู้เห็นอีกไม่ใช่น้อย  เป็นปฏิบัติการใหญ่ที่เล็ดลอดหน่วยข่าวกรองในพื้นที่ไปได้อีกครั้ง   ต้องตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของงานข่าวกรอง , การฝึกฝนเจ้าหน้าที่ ชรบ. , กลไกทหารในพื้นที่  เหตุใดไม่สามารถป้องกันเหตุได้  หรือแม้แต่จะตอบโต้ให้ทันท่วงทีก็ยังทำไม่ได้  เกิดความสูญเสียฝ่ายเดียวอยู่ร่ำไป

     การนำตัวบุคคลมาควบคุม และสอบปากคำด้วยกฎหมายพิเศษ ต้องยิ่งต้องระวัง  หากมีเหตุเจ็บป่วย เสียชีวิตในค่ายทหารอีก  จะสร้างรอยแผล และลูปการล้างแค้นไม่จบสิ้น  เหมือนที่ทหารทำไว้ที่ ตากใบ , กรือแซะ และอีกหลาย ๆ เคส

     แนวทางการพูดคุยสันติภาพ  เหมือนจะไม่มีการพูดถึงอีกเลย นับแต่ คสช.  ยึดอำนาจ จนมาถึงรัฐบาลนี้  เหมือนหยุดชะงัก ไม่มีความคืบหน้าใดให้เห็น  แสดงให้เห็นว่า แม้มีกำลัง มีอำนาจ มีกฎหมาย เต็มพิกัดแบบไร้การตรวจสอบ  ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้สำเร็จ  หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือ การพูดคุย การประณีประนอมกัน   ซึ่งคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จไม่ค่อยคิดจะทำซะด้วย 

     เมื่อนายพลทหารมากองอยู่เต็มสภา และเข้ารับตำแหน่ง 2 ทาง 3 ทาง  กินเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุม กันจนอ้วน   ส่วนทหารอาชีพ ก็ปล่อยให้กองกำลังชาวบ้านล่อเป้าไปวัน ๆ  งบแก้ปัญหาชายแดนใต้  ถมเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบหรอกครับแบบนี้


ปล. หลังเกิดเหตุ มี ผบ.ตร. ลงไปติดตามความคืบหน้าคดี  ไม่เห็นต้องติดเครื่องหมายอะไรเยอะแยะ ก็ทำงานได้  

ความคิดเห็น