สรุปสาระสำคัญใน ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ !


โดยที่มาตรา ๒๕๘ ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (๔) ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมให้เกิดผลในการดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน 

     ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จึงสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติโดยโอนย้ายภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่ ที่เป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็นสายงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้าราชการตำรวจในแต่ละสายงานสามารถเจริญเติบโตตามสายงานด้วยความรู้ความชำนาญในสายงานของตน 

     การกำหนดกระบวนการในการแต่งตั้งและเลื่อนตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน โดยคำนึงถึงอาวุโส ความรู้ความสามารถ และความพึงพอใจในบริการที่ประชาชนได้รับ ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องร้องทุกข์ รวมทั้งการกำหนดระบบคุณธรรมให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่พึ่งของข้าราชการตำรวจในการปลดเปลื้องทุกข์ของข้าราชการตำรวจ ที่เกิดจากผู้บังคับบัญชา   รวมทั้งให้มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ เพื่อเป็นกลไกสำหรับประชาชนในการร้องเรียนการปฏิบัติที่ไม่ชอบของข้าราชการตำรวจ  อันเป็นการปลดเปลื้องทุกข์ของประชาชนที่เกิดจากการกระทำของตำรวจ  ตลอดจนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในกิจการตำรวจ โดยการให้เงินอุดหนุนแก่สถานีตำรวจเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจในสถานีตำรวจนั้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวนสอบสวน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี




     ข้างต้นนี้คือหลักการและเหตุผลสำหรับการปรับปรุงแก้ไข  พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2563 (ย้ำ ยังเป็นร่าง. และใช้คำว่า ตำรวจแห่งชาติ จากเดิมที่ใช้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ )  ขอสรุปเนื้อหาคร่าว ๆ ไว้ดังนี้ครับ

     1) การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น   -รอง สว.>สว.   ไม่น้อยกว่า 7 ปี (เท่าเดิม)
          -สว.>รอง ผกก.  ไม่น้อยกว่า 4  ปี (เดิม 6 ปี)
          -รอง ผกก.>ผกก. ไม่น้อยกว่า 4 ปี (เท่าเดิม)
          -ผกก.>รอง ผบก. ไม่น้อยกว่า 4 ปี (เดิม 5 ปี)
          -รอง ผบก.>ผบก. ไม่น้อยกว่า 4 ปี (เดิม 5 ปี)
          -ผบก.>รอง ผบช. ไม่น้อยกว่า 3 ปี (เดิม 2 ปี)
          -รอง ผบช.>ผบช. ไม่น้อยกว่า 2 ปี (เดิม 1 ปี)
          -ผบช.>ผช.ผบ.     ไม่น้อยกว่า 2 ปี (เดิม 1 ปี)
          -ผช.ผบ.>รอง ผบ./จตร. ไม่น้อยกว่า 1 ปี  (เท่าเดิม)
          -รอง ผบ./จตร.>ผบ.ตร. 0 ปี (เดิม 1 ปี)

     2) มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ /ก.ตร. เท่านั้น ยกเลิก ก.ตช. 

     3) มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ และ คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ

     4) มีการประเมินข้าราชการตำรวจโดยใช้คะแนน เพื่อใช้ในการแต่งตั้งโยกย้าย

     5) แบ่งสายงานข้าราชการตำรวจออกเป็น 5 สายงาน  คือ งานป้องกันปราบปราม  งานสืบสวน   งานสอบสวน  งานอำนวยการ  งานความมั่นคง(จิตอาสา)

     6) มีแท่งสายงานสอบสวน เลื่อนตำแหน่งโดยการประเมินเลื่อนไหล ตั้งแต่ง รองสารวัตร- รองผู้กำกับการ  โดยมีตำแหน่งแต่ละระดับดังนี้.-                               -ผู้บัญชาการสอบสวน         -รองผู้บัญชาการสอบสวน  -ผู้บังคับการสอบสวน      -รองผู้บังคับการสอบสวน    -ผู้กำกับการสอบสวน     -รองผู้กำกับการสอบสว -สารวัตรสอบสวน           -รองสารวัตรสอบสวน    (โดยไม่มีวงเล็บของชื่อตำแหน่ง)

     นอกจากนี้ก็ยังมีรายละเอียดเรื่องเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งต่าง ๆ เป็นตารางประกอบท้ายร่าง  รวมแล้ว 64 หน้า  ถ้าไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมใด ๆ ก็จะได้ใช้กันในปีนี้  ถือเป็นการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญที่คั่งค้างมานาน (ไม่รู้ว่าโหวตคราวนี้สภาจะล่มอีกรึเปล่า)

     ดูรวม ๆ ท่าจะดี  แต่ทั้งหมดทั้งปวงก็อยู่ที่ผู้ใช้กฎหมาย ผู้มีอำนาจ  ว่าจะยอมปล่อยอำนาจในมือมาเพื่อสร้างระบบที่ดีขึ้นหรือไม่  จะมีการขอยกเว้นกฎกันอีกหรือเปล่า  ต้องดูกันต่อไปครับ





ความคิดเห็น