สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่สมควรจะต้องมีความชัดเจนในนโยบาย เป็นนโยบายที่คิดสำหรับการทำงานในระยะยาว ต้องมีการวางแผน ระดมสมอง ทดลองใช้ ก่อนจะนำมาปฏิบัติจริงในภาพรวม แต่ที่ผ่านมามีหลาย ๆ นโยบายมี "ขยันออก" ออกกันมาแบบไม่มีการศึกษาใด ๆ คือนึกว่าดี กูจะให้พวกมันปฏิบัติให้ได้ เพื่อที่กูจะได้หน้า ก็สั่งลงมาให้ทุกหน่วยลงมือทำเลย
หลาย ๆ นโยบายก็ต้องมาแก้ปัญหาระหว่างการปฏิบัติ เรียกว่าทำไปแก้ไป เพราะแม่งไม่ได้ศึกษา และทดลองใช้ก่อนไง พวกนี้ส่วนมากไม่เคยได้อยู่โรงพัก(ที่อยู่โรงพักก็ไม่ค่อยก้าวหน้าไปถึงระดับบริหารเท่าไหร่) และมีหลายนโยบายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ปฏิบัติ รวมทั้งการถูกฟ้องร้องให้ต้องชดใช้เงินก็ยังมีมาแล้ว
ส่วนมากนโยบายที่ว่ามานี้จะออกมาจากคนระดับ รอง ผบ.ตร. ที่อยาก "คั่ว" ตำแหน่ง ผบ.ตร. อยากมีซีนปรากฎต่อสาธารณะชน สื่อมวลชน รวมถึงผู้มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. พยายามจะสร้างโปรไฟล์ตัวเองให้ดูดี แบบว่านี่ขนาดเป็นแค่ รอง ผบ.ตร. นะ ยังทำคุณประโยชน์ได้ขนาดนี้ บลา บลา
มาดูกันดีกว่าครับ ว่ามีโครงการ หรือนโยบายอะไรบ้าง ที่เคยใช้ เคยปฏิบัติ แล้วค่อย ๆ เลือนหายไปเมื่อเจ้าของนโยบายเกษียณอายุราชการไป
- ตำรวจอาสา อันนี้มีมานาน ไม่แน่ใจว่าเริ่มขึ้นในสมัยใด ประมาณว่าให้นำอาสาสมัครมาช่วยงานตำรวจ อันเนื่องมาจากกำลังพลตำรวจในพื้นที่ไม่เพียงพอ(ก็จะพอได้ไง เล่นเอาไปช่วยราชการหมด) สุดท้ายก็ค่อย ๆ เงียบหายไป เพราะไม่มีงบประมาณสนับสนุน แค่เครื่องแบบก็ยังหามาตรฐานเดียวไม่ได้เลย ต้องขอสนับสนุนเอง ออกแบบกันเอง เบี้ยเลี้ยงในการทำงานก็ไม่มี ใครเขาจะอยู่ด้วยล่ะครับแบบนี้ หนีไป อปพร. หรือ อสม. ดีกว่า
- ฝากบ้านไว้กับตำรวจ น่าจะเริ่มโดย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. คนนี้เล่นกับสื่อเก่ง ภาพลักษณ์ดี แต่จังหวะไม่ดีเลยไม่ได้เป็น ผบ.ตร. โครงการนี้สร้างภาระให้ผู้ปฏิบัติในช่วงเทศกาลอย่างมาก และดันมีบ้านในโครงการถูกตีนแมวเข้าไปขโมยของ จนถูกฟ้องและศาลก็สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าเสียหายให้กับเจ้าของบ้าน ศาลให้ความเห็นประมาณว่าทำเกินหน้าที่ การดูแลรักษาความปลอดภัยต้องเป็นการทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจง ตอนนี้ช่วงเทศกาลก็ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงกันแล้วนะครับ
- Police i lert U เหมือนจะเป็นของ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. ท่านนี้ก็ขยันคิด ภาพลักษณ์ดี แต่จังหวะไม่ดีอีกเช่นกัน เร่งให้ตำรวจและประชาชนลงแอพ Police i lert U พร้อมให้มีการปฏิบัติ การรับแจ้งเหตุ โน่น นี่ นั่น .... เยอะ ! ไม่เป็นธรรมชาติ ใช้ยาก ประชาชนสะดวกโทร 191 มากกว่า ตอนนี้ก็ค่อย ๆ เลือนหายไป คงเหมือนกันแอพ Home Guard ก่อนหน้านี้นั่นแล
นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นครับ ยังมีอีกเยอะที่มาในลักษณะนี้ ที่ถูกที่ควร นโยบายที่จะส่งผลต่อผู้ปฏิบัตินั้น ต้องมีการเสนอ ศึกษา ทดลองใช้ ปรับแก้ แล้วจะนำกลับมาเสนอเบอร์ 1 คือ ผบ.ตร. ให้สั่งการไปยังผู้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่ให้ระดับ รอง ผบ.ตร. มาคิด มาเดินเรื่องเอง ข้ามหน้าข้ามตา ผบ.ตร.
เมื่อไม่ได้เป็นความเห็นชอบร่วมกันของผู้บริหาร ตร. มันจึงไม่มีความยั่งยืน ไม่ได้รับการยอมรับเป็นนโยบายระยะยาวขององค์กร สุดท้ายก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปกับสายลม แต่ที่พี่น้องตำรวจทั่วประเทศลงแรง ลงทรัพยากรไป ก็กลายเป็นการทำงานที่สูญเปล่า ต่อไปอยากออกนโยบายอะไร บรรดาท่าน ๆ พลตำรวจเอก ทั้งหลาย กรุณาคุยกันให้จบก่อนนะครับ
ตำรวจบ้านนอก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น